เครือข่ายประชาชน ถอดรหัส แก้จุดอ่อน รธน.60 หวังผลักดัน รธน.ฉบับประชาชน

กลุ่ม People Go Network จัดกิจกรรม “ราษฎร์ธรรมนูญ” และ “ม็อบ คาเฟ่” เพื่อเปิดพื้นที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และเปิดเวทีพูดคุย หวังสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้กับประชาชน

10 ธ.ค 2564 กลุ่ม People Go Network ร่วมกับ iLaw และเครื่อข่ายภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนสังคมในประเด็นสิทธิเสรีภาพกว่า 20 เครือข่ายร่วมกันทำกิจกรรม ร่างรัฐธรรมนูญกินได้ ฉบับประชาชนเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ และ 4 ปีรัฐธรรมนูญปี 2560 5 ปี เครือข่าย People Go เพื่อถอดรหัสรัฐธรรมนูญปี 2560 และ เป็นแนวทางในการก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนเครือข่ายภาคประชาชนในระดับโครงสร้างทางการเมืองและการมีส่วนร่วมมีอำนาจในการตัดสินใจ ทั้งในระดับบุคคล ระดับชุมชนและระดับโครงสร้าง

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญหรือการเปิดพื้นที่ให้เขียนรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ต้องจบในสภาฯ ต้องทำกันในสภาฯ เท่านั้น ดังนั้นการเขียนเนื้อหาของประชาชนเองโดยที่อำนาจในสภาฯไม่เปิดก็เป็นการเตรียมความพร้อมเป็นการฝึกให้คนคิดและมองเป้าหมายให้เห็นได้ชัด ว่าถ้าเราได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่านี้ชีวิตเราจะดีขึ้นอย่างไร ซึ่งวันนี้มันทำได้และหลายๆครั้งก่อนหน้านี้ก็ทำได้

“เมื่อไหร่ที่เราอยากจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญด้วยการเข้าชื่ออีก การหารายชื่อให้ครบ 50,000 คน ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปเพียงแต่ว่าเสนอเข้าไปมันก็อาจจะติดอีก ดังนั้นมันก็ต้องดูท่าทีของการเมืองด้วยความหวังที่จะมากับการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อจะเปลี่ยนอัตราส่วนที่นั่งในสภาฯ นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญและสำคัญมากต่อกระบวนการว่าการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ จะเป็นไปได้หรือเปล่า”

ยิ่งชีพ ระบุด้วยว่า ที่น่าแปลกใจอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องสภาเดี่ยว ด้วยการล่ารายชื่อส่วนใหญ่เป็นคนเมืองส่วนใหญ่เป็นคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตแต่พอมาคุยกับชาวบ้านกลุ่มนี้ก็ค่อนข้างที่จะเอกฉันท์เห็นด้วยกับสภาเดี่ยวที่ไม่ต้องมี ส.ว.


บารมี ชัยรัตน์ เลขาธิการสมัชชาคนจน ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญคนจนฉบับของประชาชนได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า ไม่ตอบโจทย์และเป็นไปตามเจตนารมณ์ หลักสำคัญก็คือรัฐธรรมนูญต้องมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 เน้นที่การสร้างความมั่นคงให้กับรัฐ รัฐธรรมนูญควรเป็นเครื่องมือของประชาชนที่จะควบคุมอำนาจของรัฐไม่ให้รัฐมาใช้อำนาจกับเราเกินไป แต่กลายเป็นว่ารัฐข่มว่า ประชาชนควรต้องทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะการวางอนาคตของเขาว่าเราต้องทำอะไร อย่างเช่นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมันหมายถึงการที่รัฐกำหนดอนาคตของเราอีก 20 ปี ต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งผิดต่อหลักสิทธิเสรีภาพโดยสิ้นเชิง

“ในส่วนของสมัชชาคนจนเองก็จะขับเคลื่อนไปในแนวทางของเราด้วย  เพื่อที่จะนำเสนอร่างรัฐธรรมมนูญคนจน รวมทั้งการนำเสนอว่าหากมีใครอยากที่จะแก้ไขหรืออยากที่จะปรับเปลี่ยน ใครอยากจะเพิ่มอะไรก็สามารถที่จะเพิ่มได้อย่างเต็มที่”

สิ่งที่ไม่ครอบคลุมของรัฐธรรมนูญปี 2560 นั่นคือ การสงเคราะห์หรือการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์ที่ใช้ไม่ได้ ไม่ได้รองรับสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน อย่างเช่นการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข ก็ไปเขียนไว้ว่าเฉพาะคนที่ยากไร้ หรือแม้กระทั่งการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ รัฐก็จะบอกว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดูแลผู้สูงอายุที่รายได้ไม่เพียงพอ ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญปี 2560 นิมิตร์ เทียนอุดม เครื่อข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าว

“เราได้ทำความเข้าใจร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญมีจุดอ่อนส่วนไหนบ้าง อันที่สองจะทำให้เห็นว่าถ้าเราจะแก้ปัญหาเราต้องร่วมมือกันศึกษาและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ หยิบยกประเด็นที่แต่ละชุมชนและเครือข่ายมีและทำให้มันกลายเป็นประเด็นพื้นฐาน สำหรับคนทุกคน”

ด้าน เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ให้ความเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีความแตกต่างกันมากกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 คือ ประเด็นสำคัญของรัฐธรรมนูญปี 2540 คือการพยายามสร้างประชาธิปไตยตัวแทน ให้มีพลังไปถึง ส.ส. ส.ว. ซึ่งทำไปควบคู่กับประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งการลงประชามติหรือการฟ้องร้องต่างๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 จะเปลี่ยนแปลงไปจากตรงนี้  

เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 อ้างว่า ประชาธิปไตยตัวแทนเป็นปัญหา หมายถึงว่า ส.ส.ที่จะมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนมีไม่เพียงพอ แต่แทนที่จะเอาอำนาจกลับไปให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของประชาธิปไตย กลับดึงอำนาจขึ้นข้างบน

“เราคิดว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ หากบอกว่าประชาธิปไตยตัวแทนเป็นปัญหา สิ่งที่ต้องทำคือไม่ใช่การดึงอำนาจขึ้นข้างบนแต่ต้องเป็นการดึงอำนาจลงมาให้ประชาชนเพื่อที่จะทำให้ประชาธิปไตยตัวแทนและประชาธิปไตยทางตรงลงมาทำงานด้วยกันอย่างสมเหตุสมผล 

การเดินก้าวต่อไปข้างหน้ามีความกังวลเป็นอย่างมากแต่ว่าสิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ขบวนการเหล่านี้มันเกิดการเรียนรู้ การเชื่อมข้อมูลข้างบนข้างล่างเข้าหากันให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างการตื่นตัวกับการเมืองครั้งใหญ่ให้กับพื้นที่ต่างๆ ”

ท้ายที่สุดแล้ว เครือข่ายภาคประชาชน เห็นสอดคล้องกันว่าการขับเคลื่อนร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนคงต้องลงไปในระดับพื้นที่กระจายอำนาจกระจายความรู้ไปมากกว่าการกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครแต่อาจเป็นการเดินทางลงไปในแต่ละหมู่บ้านชุมชนและจังหวัดเพื่อสร้างความเข้าใจและกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

อย่างไรก็ตาม นิมิตร์ ให้ความเห็นในส่วนของการขับเคลื่อนร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนว่า เครือข่ายประชาชนเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องร่วมมือกับพรรคการเมืองร่วมมือกับนักวิชาการ ร่วมมือกับหลายภาคส่วนเพื่อที่จะสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งกำลังพยายามหาข้อต่อ นี่คงเป็นโจทย์ท้าทายในการก้าวต่อไป ของขบวนการขับเคลื่อนประชาชนเพื่อการร่างรัฐธรรมนูญคนจนฉบับของประชาชนที่ร่วมมือกันร่างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาจากรากฐานอย่างแท้จริง

ช่วงเย็นวันเดียวกัน มีการจัดกิจกรรม หน้าหอศิลปฯ โดยมีชื่อกิจกรรม “ราษฎร์ธรรมนูญ” และ “ม็อบ คาเฟ่” เพื่อเปิดพื้นที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และเปิดเวทีพูดคุย โดยมีประเด็นในการพูดคุย อาทิ  เรื่องของ เสรีภาพ อธิปไตยเป็นของปวงชน ,สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรม,การเมืองสร้างสรรค์ และคนเท่ากัน ลดเหลื่อมล้ำ 

โดยมี ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ,ยะห์-ไครียะห์ ระหมันยะ เป๋า-ยิ่งชีพ  อัชฌานนท์ จาก iLaw เข้าร่วมวงเสวนา ทั้งนี้นอกจากการเสวนาแล้วยังมีการขึ้นปราศรัยบนเวที รวมถึงซุ้มกิจกรรมที่อยู่บริเวณรอบงาน ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ