กระทรวงสาธารณสุข รับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ด้วย 4 มาตรการ คาดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ในปีนี้ เผยช่วงปีใหม่คนเดินทางสูงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา จึงมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อสูง
10 ม.ค. 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าการติดเชื้อระลอกนี้ที่เป็นสายพันธุ์โอมิครอนจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนแล้วค่อยลดลง จึงพิจารณาว่าเตรียมให้การระบาดครั้งนี้เข้าสู่โรคประจำถิ่น(Endemic) ได้แล้ว เนื่องจาก
- เชื้อลดความรุนแรง
- ประชาชนร่วมมือฉีดวัคซีน มีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี
- การบริหารจัดการ ดูแลรักษา และการชะลอการระบาดได้อย่างดี
โดยยุทธศาสตร์สำคัญคือ การชะลอการแพร่ระบาดได้วางมาตรการรับมือ 4 มาตรการ คือ
- มาตรการสาธารณสุข โดยเพิ่มการฉีดวัคซีน ตรวจคัดกรองด้วย ATK และติดตามเฝ้าระวังการกลายพันธุ์
- มาตรการทางการแพทย์ ใช้การดูแลที่บ้านหรือชุมชน (Home Isolation/ Community Isolation : HI/CI) เป็นลำดับแรก โดยสนับสนุนทั้งยา เวชภัณฑ์ มีระบบส่งต่อหากมีอาการรุนแรงขึ้น และมีระบบสายด่วนรองรับ
- มาตรการทางสังคม โดยเน้นป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา รักษาระยะห่างใส่หน้ากาก ล้างมือ เลี่ยงไปสถานที่เสี่ยง สถานประกอบการใช้มาตรการCOVID Free Setting
- มาตรการสนับสนุน เช่น ค่าบริการรักษาพยาบาล และค่าตรวจต่างๆ ที่มีความเหมาะสม
“ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้มาตรการ VUCA คือ Vaccine ฉีดวัคซีนUniversal Prevention ป้องกันตนเองกับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา COVID Free Setting และตรวจ ATK ซึ่งถ้าประชาชนร่วมกันฉีดวัคซีน เชื้อไม่กลายพันธุ์เพิ่มและการติดเชื้อไม่มีลักษณะรุนแรงมากขึ้น”
แนะจ่าย “ยาฟาวิพิราเวียร์” หลังมีอาการไม่เกิน 3-4 วัน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอน 48% จะไม่มีอาการ จึงเน้นการดูแลที่บ้านและชุมชน (HI/CI) เป็นหลัก โดยผู้ติดเชื้อที่ตรวจจากสถานพยาบาลหรือหน่วยบริการเชิงรุกจะได้รับการประเมินอาการทันที
ส่วนการตรวจ ATK ด้วยตนเอง ต้องติดต่อสายด่วน 1330 หรือช่องทางที่ สปสช.เตรียมไว้ หรือติดต่อศูนย์ปฏิบัติการของแต่ละจังหวัด โดยผู้ติดเชื้อจะได้รับการติดต่อกลับเพื่อประเมินอาการ หากไม่มีอาการหรืออาการไม่มากจะให้ดูแลที่บ้าน หากไม่สามารถทำได้จะให้ไปดูแลที่ชุมชน และถ้าเริ่มมีอาการแพทย์จะจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ตามดุลพินิจ ซึ่งการได้รับยาหลังมีอาการไม่เกิน 3-4 วันจะได้ผลดี
ทั้งนี้ หากผู้ติดเชื้อมีอาการมากขึ้น เช่น เด็กมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือกินอาหารน้อยลง ผู้ใหญ่มีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียสมากกว่า 24 ชั่วโมงหายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที ออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% หรือโรคประจำตัวมีอาการรุนแรงขึ้น หรือแพทย์เห็นว่ามีความเสี่ยง ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด จะส่งต่อผู้ป่วยไปยังฮอสพิเทล โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลักต่อไป
ภาพรวมใช้เวลารักษา 10 วัน สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี หากผลตรวจเป็นบวกขอให้ไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ประเมินอาการทุกราย โดยกรมการแพทย์ได้จัดทีมกุมารแพทย์เป็นที่ปรึกษาในการประเมินอาการซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกคน ขึ้นกับการประเมินอาการแรกรับ
ยัน “เดลตาครอน” ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ คาดเกิดจากการปนเปื้อนตัวอย่าง
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ตรวจพบเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนสะสม 5,397 ราย ใน 71 จังหวัด ยกเว้นน่าน ตราด ชัยนาท อ่างทอง พังงา และนราธิวาส การตรวจสายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่เป็นการตรวจในผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทำให้สัดส่วนการพบสายพันธุ์โอมิครอนอาจสูงเกินจริง จะปรับวิธีการโดยให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 ศูนย์สุ่มตรวจสัปดาห์ละ 140 ตัวอย่าง เพื่อติดตามสัดส่วนของสายพันธุ์ตามสถานการณ์จริง
สำหรับกรณีไซปรัสส่งข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวเข้าระบบ GISIAD 24 ตัวอย่าง พบส่วนที่เป็นเดลตาและโอมิครอนอยู่ด้วยกัน จากการตรวจสอบพบว่าส่วนที่เป็นเดลตามีความแตกต่างกันทั้ง 24 ตัวอย่าง ส่วนที่เป็นโอมิครอนมีลักษณะเหมือนกันทั้งหมด จึงสรุปว่าไม่ใช่เชื้อสายพันธุ์ใหม่หรือไฮบริด เพราะหากเป็นตัวใหม่การตรวจต้องเหมือนกันทั้งสองส่วน GISIAD จึงจัดว่าทั้ง 24 รายเป็นเดลตา แต่เกิดจากการปนเปื้อนเชื้อโอมิครอนในตัวอย่าง ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากสุด
ส่วนการพบติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ในคนเดียวมากถึง 24 คน เป็นไปได้น้อยมากสำหรับชุดตรวจ ATK กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้สุ่มทดสอบชุดตรวจ 8 ยี่ห้อพบว่าสามารถตรวจหาโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนได้เหมือนกันทั้ง 8 ยี่ห้อ แต่ไม่สามารถระบุว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอนโดยเฉพาะ
เผยช่วงปีใหม่คนเดินทางสูงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา จึงมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อสูง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลการเคลื่อนที่ของประชาชนจากสัญญาณโทรศัพท์มือถือการเดินทางด้วยรถและการเดิน พบว่า ช่วงมกราคม 2565 มีการเคลื่อนที่สูงสุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เสี่ยงการระบาดมากขึ้น เป็นไปตามคาดการณ์ว่าหลังปีใหม่ที่มีกิจกรรมมากจะมีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ กทม.มีการเดินทางช่วงปีใหม่และหลังปีใหม่ไม่มากประชาชนให้ความร่วมมือดี มีมาตรการทำงานที่บ้าน สถานการณ์จึงไม่ได้รุนแรงมากอย่างที่กังวล
ส่วน จ.ชลบุรี หลังเกิดการระบาดมีการตื่นตัว ปิดสถานที่สถานบันเทิง จึงน่าจะควบคุมการระบาดได้ ภาพรวมแนวโน้มการติดเชื้อชะลอตัวลง หากทุกคนยังคงร่วมมือกันลดกิจกรรมเสี่ยง ไปรับวัคซีนตามกำหนด รวมถึงวัคซีนเข็มกระตุ้น ที่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน ก็จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
สปสช.รับสายประชาชน 2 หมื่นสาย/วัน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ผู้ที่มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก สามารถติดต่อเข้าสู่ระบบการรักษาได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ สายด่วน 1330 ต่อ 14 ตลอด 24 ชั่วโมง, เว็บไซต์สปสช. www.nhso.go.th เพื่อกรอกข้อมูลและแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับและแอปพลิเคชันไลน์ โดยการเพิ่มเพื่อน @nhso จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมง เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา หากไม่มีข้อห้าม เช่น ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ จะได้รับคำแนะนำให้เข้าระบบการรักษาแบบ HI/CI มีบุคลากรทางการแพทย์ติดตามอาการ
ทั้งนี้ ระบบสายด่วน 1330 รองรับสายเข้าพร้อมกันได้ทั้งหมด 3,000 สาย มีเจ้าหน้าที่รับสายจำนวน 300 คน ตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ ซึ่งระยะต่อไปหากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จะเพิ่มจำนวนบุคลากรรองรับให้เพียงพอต่อการให้บริการโดยข้อมูล 24 ชั่วโมงล่าสุด มีผู้โทรศัพท์เข้ามาขอเตียงทั้งหมด 1,054 ราย จากสายทั้งหมด 8,000 ราย และยังได้เตรียมทดลองระบบหากมีผู้โทรเข้าพร้อมกันจำนวน 20,000 สายด้วย จึงขอให้มั่นใจว่าจะสามารถให้บริการได้โดยไม่มีสายตกค้างหรือตกหล่น