กระทรวงสาธารณสุข เตรียมลดระดับการเตือนภัย และประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นภายในปีนี้ หวังฟื้นเศรษฐกิจ ขณะที่การรักษาที่บ้านครบ 10 วัน หากไม่มีอาการแล้ว แพทย์ยันไม่แพร่เชื้อต่อ
แม้ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขจะคาดการณ์ว่าการระบาดสายพันธุ์โอมิครอน ที่สามารถแพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาจะทำให้มีผู้ติดเชื้อได้สูงถึง 30,000 คนต่อวัน แต่ในที่สุดแล้ว สถานการณ์ก็ไม่เลวร้ายอย่างที่คิด ทำให้กระทรวงสาธารณสุข เตรียมลดระดับการเตือนภัย หลังจากที่ผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับทรงตัว
จากตัวเลขผู้ติดเชื้อนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 มีผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับ 3,000 กว่าคน ค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นมาหลังช่วงเทศกาลปีใหม่ วันที่ 7 มกราคม 2565 มีผู้ติดเชื้อราว 7,000 คน แล้วไต่ถึงระดับ 8,000 กว่าคนในเวลาต่อมา หลังจากนั้นก็ทรงตัวอยู่ในระดับนี้จนกระทั่งเมื่อวานนี้ (17 ม.ค.) มีผู้ติดเชื้อ 6,900 กว่าคน และวันนี้ (18 ม.ค.) 6,397 คน แต่ที่น่าสังเกตคือผู้เสียชีวิตก็มีแนวโน้มลดลง วันที่ 16 มกราคมอยู่ที่ 9 คน ต่ำที่สุด ในรอบหลายเดือน
ทำไมสายพันธุ์โอมิครอน จึงไม่ระบาดรุนแรงในประเทศไทย เมื่อเทียบกับสถานการณ์ในฝั่งยุโรปที่มีความรุนแรงมากกว่า เรื่องนี้มองได้หลายปัจจัย ทั้งคำถามที่ว่าเราตรวจมากเพียงพอหรือไม่ การฉีดวัคซีนที่ผ่านมาทำให้ผู้ติดเชื้อไม่มาก รวมถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ของคนไทยที่ต่างจากยุโรป อาจมีผลทำให้การติดเชื้อลดน้อยลง
ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตร สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ (ม.อ.) มองว่าการระบาดระลอกล่าสุดจาก สายพันธุ์โอมิครอน อาจจะผ่านช่วงพีคไปแล้ว เพราะสถานการณ์ตอนนี้เริ่มทรงตัว มีผู้เสียชีวิตน้อยลงเรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าปัจจัยที่ทำให้การระบาดในประเทศไทยไม่ได้สูงอย่างที่คาดการณ์เอาไว้ ซึ่งแตกต่างจากในยุโรปที่มีการติดเชื้อวันละ 1 แสนคน เกิดจากอะไร
“มันอาจจะมีพีคสอง พีคสามขึ้นมาเล็ก ๆ แต่ดูจากสองสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ไม่มีอะไร คนที่ไม่แข็งแรงควรเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น คนที่แข็งแรงไม่น่ากลัวเท่าไหร่ถ้ามีการติดต่อบ้าง มีคนตายบ้างก็ธรรมดา”
แต่ก็ยังมีคำถามว่าที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่พุ่งเป็นเพราะตรวจน้อยไปหรือไม่ขณะที่การฉีดวัคซีนสองเข็มนั้นไม่เพียงพอที่จะป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนได้อยู่แล้ว นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการด้านสาธารณสุข วุฒิสภา มองว่าอีกปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม คือวิถีชีวิตและภูมิอากาศของประเทศไทยที่อาจไม่เอื้อต่อการระบาด รวมถึงทัศนคติเกี่ยวกับการรับวัคซีน ที่ไม่มีกลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีนกลุ่มใหญ่ เหมือนอย่างในต่างประเทศ
เร็วไปหรือไม่ที่โควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่น
อีกความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง คือการที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมประกาศให้ โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นหรือ Endemic เป็นการสิ้นสุดการระบาดใหญ่ภายในปีนี้ แต่คำถามคือสถานการณ์ทั้งหมดไว้วางใจได้แล้วใช่หรือไม่ จะเร็วไปหรือไม่ ที่เราจะประกาศให้ โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งนั่นจะหมายถึงมาตรการต่างๆที่จะผ่อนคลายลงเพื่อที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ
เชื้อลดความรุนแรงลง ประชาชนร่วมมือฉีดวัคซีน มีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี และการบริหารจัดการดูแลรักษา ชะลอการระบาดได้ นี่คือ 3 เหตุผลที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตรียมประกาศให้การระบาดของ โควิด-19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น
เมื่อกระทรวงสาธารณสุขย้ำว่า โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ที่ผู้ติดเชื้อสามารถดูแลตัวเองจากที่บ้านได้ จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบการสนับสนุนส่งยาเวชภัณฑ์ ให้ผู้ติดเชื้ออยู่บ้านอย่างปลอดภัย และมีระบบการส่งต่อหากอาการรุนแรง เพื่อความสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน
แต่จะเร็วไปหรือไม่ที่ประเทศไทยจะประกาศให้ โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นภายในปีนี้ เพราะเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายฉุกเฉินประจำภูมิภาคยุโรปขององค์การอนามัยโลก ก็ระบุว่าขณะนี้สถานการณ์การระบาด โควิด-19 ยังไม่แน่นอน อีกทั้งสายพันธุ์โอมิครอน ก็ยังมีโอกาสกลายพันธุ์ ทำให้เกิดปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แม้สายพันธุ์โอมิครอน จะไม่มีความรุนแรงเท่ากับสายพันธุ์เดลตา แต่ยังเป็นไวรัสที่อันตรายอยู่ โดยเฉพาะกับผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีน
ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ระบุว่า นัยยะของการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ตีความได้ถึงความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้กลับคืนมา ซึ่งนิยามการเป็นโรคประจำถิ่นเอง ก็มีการตีความทางวิชาการที่ค่อนข้างหลากหลาย
ขณะที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ยืนยันว่า โควิด-19 จะจบเกมการเป็นโรคประจำถิ่นเนื่องจาก โอมิครอนเข้ามาแทนสายพันธุ์เดลตา เกือบหมดแล้ว เห็นได้จากผู้ติดเชื้อในต่างประเทศเริ่มลดลงและมีผู้เสียชีวิตไม่มากนัก
ลดระดับเตือนภัย ยกระดับระบบรักษา-คุมโรค สร้างความมั่นใจ
มองต่อไปหากระทรวงสาธารณสุข จะเตรียมลดระดับการเตือนภัยลงมา และประกาศให้ โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ก็จำเป็นจะต้องยกระดับความมั่นใจของประชาชน ที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือระบบการรักษา และการควบคุมโรค
ระบบการรักษา เนื่องจาก เวลานี้ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการน้อย ก็จะจัดให้อยู่ใน Home isolation เป็นส่วนใหญ่ และรับยาฟาวิพิราเวียร์ทันที เมื่อนับจากวันที่มีอาการ จนกระทั่งครบ 10 วัน แพทย์จะออกใบรับรองแพทย์ เพื่อยืนยันว่าหายป่วยแล้ว ให้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติแต่ยังคงมาตรการคุมโรคส่วนบุคคล
พญ.อัญญพร สุทัศน์วรวุฒิ ผู้ประสานงานฝ่ายพยาบาลและแพทย์หน่วยดูแลผู้ป่วย โควิด-19 รักษาที่บ้าน Home isolation โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มีงานวิจัยรองรับ ว่าผู้ติดเชื้อจะเริ่มแพร่เชื้อ 2 วันก่อนเริ่มมีอาการ หลังจากนั้นเชื้อจะค่อยๆลดลง เมื่อครบ 10 วันจะไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้ จึงถือว่าเป็นผู้ที่หายป่วยแล้วให้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ โดยยังคงเน้นมาตรการส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด แต่หากการตรวจ ATK ในช่วงหลังวันหายป่วยยังพบผลบวก อาจเป็นซากเชื้อที่ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้ แต่กรณีนี้ก็ขอให้ไปพบแพทย์
“ถ้ารักษาครบ 10 วันแล้วยังมีอาการอยู่จะเป็นคนละกรณี แต่ถ้าครบ 10 วันแล้วไม่มีอาการใน 24 ชั่วโมง โอกาสที่จะแพร่เชื้อมีน้อยมาก”
ข้อมูลเหล่านี้ทำให้สังคมเชื่อมั่นได้ว่าผู้ที่หายป่วย โควิด-19 แล้วสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติตามระยะเวลาครบกำหนดของการรักษาตัวด้วย จึงไม่ควรถูกตีตราจากสังคม
ส่วน มาตรการควบคุมโรค ที่จะเดินไปพร้อมกันคือการฉีดวัคซีนเข็ม 3 หรือการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เป็นที่แน่นอนแล้วว่าวัคซีน 2 เข็มนั้นมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอรับสายพันธุ์โอมิคอนได้ แพทย์แนะนำว่าควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นประเภท mRNA
อย่างไรก็ตาม ในแผนการจัดหาวัคซีนปี 2565 จำนวน 120 ล้านโดส จำนวนนี้เป็นวัคซีนประเภท Viral Vector ของแอสตราเซเนกาถึง 60 ล้านโดส แต่ไม่มีการสั่งวัคซีนเชื้อตายมาเพิ่ม
ในแวดวงนักระบาดวิทยามองว่า ที่ผ่านมาการฉีดวัคซีนเชื้อตายถือเป็นการปูพื้นการฉีดวัคซีนได้ดี แล้วค่อยขยับไป viral vector และ mRNA ตามลำดับเพราะ mRNA ถือเป็นยาแรง ซึ่งเด็กควรจะเริ่มต้นจากวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็มก่อนเพราะต้องยอมรับว่า mRNA อาจมีผลข้างเคียงสูง แต่มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อไวรัสได้ดีกว่า
ในภาพรวมการฉีดวัคซีนเวลานี้เข็มหนึ่ง ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ 78.3% เข็มสอง 71.1 % ขณะที่เข็ม 3 ครอบคลุมประชากร 15.1 % เท่านั้น
เอาเฉพาะเข็ม 3 ที่สามารถป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนได้ พุ่งเป้าไปที่กลุ่มมีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค กลุ่มเป้าหมาย 6.3 ล้านคน ฉีดวัคซีนเข็มสามไป 15.8% และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปกลุ่มเป้าหมายประมาณ 10 ล้านคนฉีดวัคซีนเข็ม 3 ได้เพียง 12% ยังคงต้องเร่งฉีดเพิ่มเติม