ฟื้นสัมพันธ์ “ไทย – ซาอุฯ” เปิดประตู ส่งออก “แรงงานไทย” กู้วิกฤตงานซบเซา

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ ก่อนลดระดับความสัมพันธ์ มีแรงงานไทย ทำงานในซาอุฯ กว่า 2 แสนคน เผยช่วงก่อนโควิดระบาด เหลือแรงงานไทยทำงานในซาอุฯ แค่หลักหมื่น เชื่อฟื้นความสัมพันธ์ ช่วยเปิดโอกาสแรงงานไทย ตัวเลือกอันดับหนึ่งในตลาดงานซาอุฯ  

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย

การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นับเป็นการเยือนของผู้นำประเทศ ในรอบกว่า 30 ปี หลังซาอุฯ ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย จาก ปมคดีฆาตกรรมนักการทูต, กรณีเพชรซาอุฯ และ อุ้มฆ่า “อัลรูไวลี่” นักธุรกิจ และสมาชิกราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งตลอดช่วงการเยือนซาอุฯ ของผู้นำรัฐบาลไทย รอบนี้นอกจากฟื้นความสัมพันธ์ ทางการฑูตแล้ว ยังมีอีกหลายภารกิจ ครอบคลุมทุกมิติงาน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ที่สำคัญ คือ การจัดหาแรงงานไทยไปทำงานที่ซาอุฯ

แรงงาน ซาอุฯ

รศ.กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับ TheActive ว่า หากฟื้นความสัมพันธ์เรื่องตลาดแรงงานนี้ได้ จะช่วยสร้างโอกาสให้กับแรงงานไทย ในภาวะวิกฤตการจ้างงานเวลานี้ เพราะหากย้อนไปกว่า 30 ปีก่อน แรงงานไทย เป็นที่ต้องการของตลาดงานในซาอุฯ ในตอนนั้น มีแรงงานไทยทำงานที่ซาอุฯ เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 200,000 คน แต่ภายหลังเกิดหลาย ๆ ปมปัญหา ความสัมพันธ์ด้านต่าง ๆ ถูกลดระดับลง การเดินทางเข้าประเทศของแรงงานก็เกิดข้อจำกัดมากขึ้น

ข้อมูลกระทรวงแรงงาน พบว่า ในช่วงก่อนโควิดระบาด เหลือแรงงานไทย ทำงานอยู่ในซาอุฯ เพียง 12,835 คน เป็นแรงงานผิดกฎหมาย เกือบ 4,000 คน ปัจจุบัน ซาอุฯ ไม่ใช่แหล่งงานที่มีแรงงานไทยไปทำงาน ถ้านับในตะวันออกกลางเวลานี้ อิสราเอล คือ ประเทศที่มีแรงงานไทยมากสุด เกือบ 20,000 คน

รศ.กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ดังนั้นหากไทย สามารถฟื้นความสัมพันธ์ด้านแรงงานได้ ก็เท่ากับฟื้นตลาดงานที่เคยซบเซาให้กลับมาอีกครั้ง นั่นยังหมายถึงโอกาสของแรงงานไทย ได้มีทางเลือกการทำงานในต่างประเทศ คาดหวังรายได้ที่สูงขึ้น ในภาวะที่ตลาดงานในประเทศยังไม่ฟื้นจากวิกฤตโรคระบาด

“ซาอุฯ มีอัตราว่างงานสูง 11 – 12% เขามีความพยายามจ้างงานคนในประเทศแต่ไม่สำเร็จ นายจ้างที่นั่นต้องการแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานไทย เพราะหากความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศฟื้นกลับคืนมา เขาก็อยากจ้างแรงงานไทยก่อน ซึ่งมีทั้งกลุ่มแรงงานก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า ประปา แม่บ้าน กุ๊ก แม่ครัว ไปจนถึงแรงงานภาคบริการ พนักงานขับรถ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้นำเข้าแรงงานจากฟิลิปปินส์ และอินโดนิเชีย แต่หากไทย และซาอุฯ สามารถฟื้นความสัมพันธ์ทางการฑูต และในอีกหลายมิติกลับคืนมาได้ เชื่อว่าแรงงานไทยจะถูกกลับมาให้ความสำคัญ และเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของตลาดงานในซาอุฯ” 

รศ.กิริยา ยังเห็นว่า ไม่ใช่แค่มองเรื่องการกลับไปทำงานเพียงอย่างเดียว อีกสิ่งสำคัญ ที่ภาครัฐต้องตระหนักถึง คือ การดูแล สิทธิ สวัสดิการของแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะการจัดการกับนายหน้า เพื่อไม่ให้แรงงานถูกหลอกไปทำงาน ไม่ให้นายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งต้องอาศัยการสื่อสาร ทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทาง เพื่อทำให้โอกาสการทำงานของแรงงานไทย เกิดขึ้นได้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active