หลังตรวจกลุ่มตัวอย่างไปเพียง 0.54% จากชาวบ้านรอบเหมืองทอง 5,800 คน หวังสำรวจผู้ป่วยที่พบสารโลหะหนักพร้อมเร่งรักษา และพิสูจน์ผลกระทบจากการทำเหมืองไปพร้อมกัน ขณะที่ บมจ.อัคราฯ ลุยสำรวจแร่พร้อมขอประทานบัตรเพิ่ม
7 ก.พ. 2565 เป็นครั้งแรกหลังเหมืองทองคำ บริษัท อัคราฯ ถูกปิดไปเกือบ 5 ปี เปิดให้หน่วยงานภายนอก ได้เข้าไปตรวจสอบ การลงพื้นที่ของกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร หรือ กมธ.ป.ป.ช. ได้เข้าไปดูบ่อทิ้งกากแร่ที่ 1 ซึ่งเลิกใช้งานแล้วและอยู่ในขั้นตอนของการฟื้นฟูส่วนบ่อทิ้งกากแร่ที่ 2 กำลังจะกลับมาใช้งาน หลังจากเริ่มดำเนินกิจการอีกครั้งซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดการรั่วซึมหรือเคยรั่วซึมมาก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่
ผลกระทบสุขภาพที่ยังไร้คำตอบ
วันเดียวกัน ที่ศาลากลางจังหวัดพิจิตร กมธ.ป.ป.ช.ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่มีชาวบ้านร้องเรียนว่า เกิดอาการเจ็บป่วยก่อนหน้านี้
นพ.พนม ปทุมสูติ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตรชี้แจงว่า ที่ผ่านมามีการตรวจเลือด และปัสสาวะ ไปแล้ว 8 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2557-2564 โดยตรวจก่อนปิดเหมือง 3 ครั้ง ตรวจหลังเหมืองปิด อีก 5 ครั้ง ส่วนครั้งที่ 8 กำลังรอผลการตรวจ โดยตรวจกับกลุ่มตัวอย่างตั้งแต่ 144-373 คน จากชาวบ้านรอบเหมืองที่มีอยู่ทั้งหมด 5,800 คน คิดเป็นเพียง 0.54 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นการสุ่มตัวอย่างตรวจที่ไม่มากพอ จึงเป็นข้อจำกัดในการตรวจและวินิจฉัยว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น เกิดจากเหมืองหรือไม่
โดยพบว่า หลังปิดเหมืองไปแล้ว ก็ยังพบแนวโน้มสารไซยาไนด์ในเลือดตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ส่วนกรมอนามัยก็ได้มีตรวจตัวอย่างน้ำประปาก่อนปิดเหมืองทอง พบในสัดส่วน 19 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังปิดเหมืองทองไปแล้วก็พบโลหะหนักในน้ำสูงกว่าเดิมเฉลี่ย 28 เปอร์เซ็นต์
จารึก ศรีอ่อน รองประธาน กมธ.ป.ป.ช. ระบุว่า ในที่ประชุมจึงมีมติ ให้สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ตรวจเลือดชาวบ้าน รอบเหมืองซ้ำครั้ง เพื่อรักษาผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย และพิสูจน์ผลกระทบจากการทำเหมืองไปพร้อมกัน ขณะที่ด้านของสาธารณสุขจังหวัง ก็ชี้แจงว่าขาดงบประมาณในการตรวจ ทาง กมธ.ป.ป.ช. ก็รับปากว่าจะไปหารือกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลางให้ เพราะถ้าไม่ตรวจใหม่ให้ครบ ก็จะเป็นข้อกังขาต่อไป
พร้อมเชิญ DSI,ป.ป.ช. ตามความคืบหน้า “คดีเหมืองทอง”
ด้านธีรัจชัย พันธุมาศ โษฆก กมธ. ป.ป.ช. กล่าวว่าหลังจากการลงพื้นแล้วคณะกรรมาธิการ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนกลางเข้ามาสอบถามข้อมูล และติดตามข้อมูลและการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา โดยปัญหาเมืองทองคำมี กรรมาธิการการอุตสาหกรรมดูแลอยู่ด้วย ในส่วนของกรรมาธิการ ป.ป.ช. จะเน้นตรวจสอบการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐว่ามีการบกพร่องหรือละเว้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งก็พร้อมที่จะเชิญหน่วยงานที่ทำคดีเกี่ยวกับเหมืองทองคำ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ป.ป.ช. กรณีการทำเหมืองนอกเขตประทานบัตร การบุกรุกที่ป่าเพื่อทำเหมือง หารือถึงความคืบหน้า
อัคราฯ ลุยสำรวจแร่พร้อมขอประทานบัตรทำเหมืองเพิ่ม
ขณะที่สุรชาติ หมุนสมัย ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจากกรณีที่มีข้อพิพาทกันมายาวนานที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ประกอบด้วยผู้เชียววชาญ แต่ข้อมูลก็ไม่สามารถพิสูจน์ทราบว่าเหมืองเป็นต้นเหตุของการปนเปื้อนหรือไม่
อย่างไรก็ตามกรณีที่มีคดีความไม่ว่าจะในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ป.ป.ช. ยืนยันพร้อมเข้ารับการตรวจสอบ โดยในบันทึกแนบท้ายการให้ประทานบัตร ระบุชัดเจนหาก บริษัท ทำผิดกฎหมาย รัฐก็สามารถปิดเหมืองได้ทันที แต่ที่ผ่านมามั่นใจว่าทำถูกกฎหมายทุกขั้นตอน จึงกลับมาเปิดได้อีกครั้ง
สำหรับพื้นที่ประทานบัตรที่ได้รับการ ต่ออายุ ไปจนถึงปี 2571 ยังคงมีสินแร่ทองคำ ที่สามารถขุดได้อีก 4-5 แสนออนซ์ บริษัทอัคราฯ ยังเปิดเผยอีกว่า เพิ่งได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ในพื้นที่ จังหวัดเพชรบูรณ์เนื้อที่ 600 ตารางกิโลเมตรอายุ 5 ปี และทำการสำรวจไปได้เพียงปีเดียว ซึ่งหากพบว่ามีศักยภาพเป็นแหล่งแร่ทองคำ ก็พร้อมที่จะขอใบประทานบัตรเพื่อขยายพื้นที่ทำเหมืองต่อไป