คณบดีศิริราช ระบุอย่าดูแค่ตัวเลขติดเชื้อโควิด-19 แม้ยอดหลักหมื่น 4 วันติด

ชี้ทั่วโลกเริ่มมองโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น แม้แพร่เร็ว แต่รุนแรงลดลง อัตราเสียชีวิตต่ำ กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าประกาศ โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นปลายปี 2565 อาจเลิกใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ คุมโควิด-19 ในฐานะโรคติดต่อร้ายแรง 

8 ก.พ. 2565 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,398 คน นับเป็นวันที่ 4 หลังจากพบผู้ติดเชื้อหลักหมื่นในการระบาดระลอกสายพันธุ์โอมิครอน เมื่อวันที่ 4 ก.พ. เรื่อยมา 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดลกล่าวว่า การทำความเข้าใจประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการดูเฉพาะตัวเลขติดเชื้อรายใหม่ จะทำให้เกิดความตื่นตระหนก ซึ่งโควิด-19 เลยจุดรุนแรงจากครั้งระบาดสายพันธุ์เดลตาแล้ว 

“สายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่เร็วทำให้เกิดผู้ติดเชื้อใหม่ขึ้น แต่ความรุนแรงไม่เพิ่มจึงต้องดูตัวเลขผู้ป่วยหนัก ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตมากกว่าพร้อมสื่อสารให้คนมารับวัคซีนมากขึ้น เพื่อลดความรุนแรงของโรค สร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกคนที่ติดแล้วไม่เสียชีวิต สุดท้ายเชื้อก็จะสงบลงไปเอง”

ชี้ทั่วโลกเริ่มมองโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ทั่วโลกเริ่มมีแนวโน้มปรับโรคโควิด- 19 เป็นโรคประจำถิ่น อย่างเช่นยุโรปติดเชื้อใหม่วันละกว่าแสนคน แต่สเปนก็เพิ่งประกาศไปว่าจะเริ่มผ่อนคลายเต็มที่ โรคประจำถิ่นบางโรค เช่น โรคไข้เลือดออก มักระบาดในฤดูฝน พบในประเทศที่อากาศร้อนชื้นสามารถคาดการณ์ปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกัน โดยกำจัดลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะ หรือโรคไข้หวัดใหญ่ที่ติดเชื้อแล้วรับยา นอนพักผ่อน ฉีดวัคซีน ฉะนั้น เมื่อรู้เช่นนี้ก็สามารถลดอัตราเสียชีวิตได้ กลายเป็นโรคที่อยู่กับเราไปเรื่อยๆ 

“ตราบใดที่โรคไม่รุนแรงก่อเป็นการเสียชีวิต ดังนั้นโควิดมีหลายอย่างที่เริ่มเข้าสู่นิยามโรคประจำถิ่น คือ โรคไม่หายไป อีกหลายปียังเจออีก แต่มีบางอย่างที่พอจะคาดการณ์ได้”

ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุขวางเป้าหมายและแนวทางที่จะปรับโรคโควิด-19 จากการระบาดใหญ่ ไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นปลายปีนี้ ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย มีความพร้อมทั้งยาเวชภัณฑ์ และสถานพยาบาลในการดูแลรักษา เหมือนกับการดูแลรักษาโรคติดเชื้ออื่นๆ 

ส่วนที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เตรียมหารือผ่อนมาตรการเพิ่มเติมในวันศุกร์นี้ นพ.ประสิทธิ์ เห็นด้วยว่าถึงเวลาที่ไทยต้องผ่อนคลายมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าตัวเลขติดเชื้ออาจเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 13,000-14,000 คน แต่ยอดผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยหนักจะคงที่ เนื่องจากแนวโน้มจะไม่มีการกลายพันธุ์ที่รุนแรงเกิดขึ้นอีก

เลิกใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ คุมโควิด-19 หากเข้าสู่โรคประจำถิ่น 

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นที่ต่างออกไป โดยโรคโควิด-19 ยังคงระบาดทั่วโลกอยู่แน่นอน ไม่ลดลงมาระบาดอยู่เฉพาะถิ่นใดถิ่นหนึ่งแน่นอน ดังนั้น จึงไม่มีโอกาสที่จะเกิดเฉพาะถิ่น หรือ ประจำถิ่น โดยยกตัวอย่าง โรคหัด คอตีบ และโรคติดต่อ ที่พบมาแต่ในอดีต และสามารถควบคุมได้ด้วยวัคซีน ก็ไม่เรียกว่าโรคประจำถิ่น 

สำหรับโรคติดต่อมีจำนวนมากมาย ถ้าโรคนั้นมีความร้ายแรง รุนแรง อัตราตายสูง กระทรวงสาธารณสุข จะประกาศ เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง เพื่อการควบคุม ป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย โดยมี พ.ร.บ.โรคติดต่ออันตรายร้ายแรงเพื่อเข้ามาควบคุม โรคนั้นจะอยู่ในบัญชีของ พ.ร.บ.โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง 

“โรคโควิด-19 ก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาจึงใช้กฎหมายมาควบคุมดูแล ถ้าในอนาคต โรคโควิด-19 มีความรุนแรงน้อยลง และต้องอยู่กับโรคนี้เหมือนกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ที่จะมาตามฤดูกาล เราก็ไม่ได้ถึงกับควบคุมดูแลแบบโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง“

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS