ชาวบ้าน “กะเบอะดิน” บวชป่า บอกรัก(ขุน)เขา ค้าน “เหมืองถ่านหิน” อมก๋อย

ชาวกะเหรี่ยงบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ประกาศ “กะเบอะดินแมแฮแบ” หรือ “กะเบอะดินไม่เอาเหมือง” ลั่นต่อสู้ คัดค้านเหมืองถ่านหินในพื้นที่ป่าจิตวิญญาณถึงที่สุด  

วันนี้ (14 ก.พ.65) ชาวกะเหรี่ยงบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จัดกิจกรรมรำลึก 2 ปีบวชป่า ค้านเหมือง และส่งมอบความรักอันบริสุทธิ์ไปยังขุนเขา ป่าไม้ ลำธาร รวมไปถึงแผ่นดินบรรพบุรษ ที่อยู่อาศัยและทำกินมาหลายชั่วอายุคน

ณัฐทิตา วุฒิศีลวัต เยาวชนบ้านกะเบอะดิน เล่าว่า การจัดกิจกรรมขึ้นในวันนี้ เพื่อแสดงถึงความรักกับพื้นป่าแห่งจิตวิญญาณของบรรพบุรุษ อีกทั้งเป็นการแสดงออกเพื่อให้ทุกคนได้เห็นและเข้าใจว่าพวกเขาไม่ต้องการเหมือง

“วันนี้ 14 กุมภาฯ วันแห่งความรัก ชาวบ้านเราก็มาแสดงพลัง ว่า เราเข้มแข็ง และกำลังจะสื่อไปถึง คนข้างนอก ว่า เราไม่ต้องการเหมือง และเราก็อยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นป่า ไม่อยากให้มีคนเข้ามาทำเหมือง อยากจะอนุรักษ์ไว้เพื่อให้ลูกหลานได้มาใช้ประโยชน์พื้นที่ตรงนี้ทำมาหากิน”

จนถึงเวลานี้ผ่านมา 3-4 ปีแล้ว ที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านกะเบอะดิน และภาคีเครือข่าย ร่วมกันคัดค้านการดำเนินการเหมืองแร่ถ่านหิน ที่พวกเขามองว่า จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งสิทธิในที่ดินทำกิน และพยายามแสดงให้เห็นถึงกระบวนการขั้นตอนการดำเนินการขออนุญาตประกอบกิจการเหมืองเหมืองแร่ ซึ่งพวกเขามองว่า อาจมีข้อบกพร่องหลายประเด็น ทั้งการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง, การระบุว่าเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม, การระบุเส้นทางน้ำที่ไม่ครอบคลุม รวมทั้งไร้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

แต่สิ่งชาวบ้านกังวล และตั้งข้อสังเกต ก็กำลังเกิดขึ้นเมื่อกระบวนการจัดทำ EIA โครงการเหมืองอมก๋อยเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายเท่านั้น เพราะหากโครงการเหมืองเกิดขึ้นจริง อาจไม่ใช่แค่ผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่ชาวบ้านยังกังวลว่าเหมืองอาจสร้างมลพิษปนเปื้อนเหมือนเช่นบทเรียนการปนเปื้อน ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ทำเหมือง

เปรมฤดี อภิรักษ์พนาสัณฑ์ ชาวบ้านกะเบอะดิน ยอมรับว่า กังวลกับอนาคตของลูก ๆ หลาน ๆ เพราะที่ผ่านมาพวกเขาแทบไม่เคยเข้าถึงกระบวนการมีส่วนร่วมตัดสินใจเลย

“กลัวและกังวลว่าผลกระทบจะเกิดกับลูก ตั้งแต่เราเล็ก ๆ ก็ยังไม่รู้ ว่า เขาจะมาทำเหมืองที่นี่ เขาขู่ตากับยายหนู ซึ่งตอนนั้นพวกเขาไม่เข้าใจภาษาไทย พูดภาษาไทยไม่ได้ แล้วก็มีคนมาขู่ว่าถ้าเกิดว่าตากับยายของหนูไม่ขายพื้นที่ตรงนี้ก็จะถูกยึด”

ขณะนี้หลายภาคส่วน กำลังเร่งช่วยกัน รวบรวม และสร้างฐานข้อมูลใหม่ เพื่อยืนยันถึงคุณค่าของชุมชน และวิถีวัฒนธรรม ไปจนถึงสิทธิในพื้นที่ทำกิน อีกทั้งเพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ ให้กับชาวบ้านในการเคลื่อนไหวคัดค้านเหมือง