พร้อมลงใจ ให้ลงมือทำ! ร่วมเปลี่ยนผ่านกรุงเทพฯ สู่เมืองสีเขียวอย่างยุติธรรม ทีมผู้จัด ชวนคุยเรื่องสัปดาห์แห่งการขับเคลื่อนงานสภาพภูมิอากาศ ด้วยความหวังของการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เชื่อ โยงการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมได้ ผ่านปฏิบัติการใช้เอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (8 ก.พ. 68) ทีมผู้จัด Bangkok Climate Action Week สัปดาห์แห่งการขับเคลื่อนเมืองสีเขียว จัดกิจกรรมเสวนาหัวข้อ “ความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ TIJ Common Ground ภายใต้งานแฟร์เพื่อความแฟร์ “Thailand Rule of Law Fair 2025”
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2025/02/IMG_0721-1024x768.jpeg)
แดเนียล ลีโอ ฮอร์น พัธโนทัย ผู้ก่อตั้ง Just Transitions Incubator (JUTI) รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์และผู้นำในการจัดงาน Bangkok Climate Action Week ที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 28 กันยายน ถึง 4 ตุลาคม 2568 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) สวนเบญจกิตติ และรอบตัวเมืองกรุงเทพฯ นับเป็นครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะมีงานเทศกาลเรื่องสภาพภูมิอากาศที่จัดตามเมือง (กรุงเทพฯ)
ลีโอ กล่าวถึงความสำคัญของการลงมือทำ หรือคีย์เวิร์ดคำว่า “Action” ว่า Action เป็นคำสำคัญมากในหลายวงประชุมที่พูดคุยเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยตอนได้ยินว่ามีงานใหม่เรื่องสภาพภูมิอากาศก็จะถามกันว่า เป็นงานทอล์กอีกเหรอ จึงต้องการเน้นย้ำว่า การลงมือทำคือจุดหมายสำคัญ
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2025/02/IMG_0679-1024x768.jpeg)
คำว่า Action ที่ ลีโอ อยากได้จากสัปดาห์แห่งการลงมือทำครั้งนี้ คือ การร่วมมือทำให้เกิดผลลัพธ์ การเชื่อมต่อทุกคนให้สามารถมารวมพลังกันได้
“วาทกรรมในตอนนี้ คือ สิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาเชิงเทคนิคที่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญแก้ไข เช่นเดียวกับปัญหาเรื่องความยุติธรรมที่ถูกมองเหมือนกัน จริง ๆ ประเด็นเหล่านี้เป็นของทุกคน เราเลยเชิญทุกคนมาทำงานด้วยกัน เรียนรู้ด้วยกัน”
รศ.ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ รองคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมทำการสำรวจทรัพยากรทีม Bangkok Climate Action Week และออกแบบกลุ่มทำงาน โดยเล่าถึงการแบ่งทีมออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ ความสัมพันธ์ในระดับโลก สายข่าวและพอดแคสต์ การให้ข้อมูล กรอบและระบบการทำงาน การจัดอีเวนต์ และการจัดการขยะ
รศ.ปิยะวรรณ ได้ให้มุมมองว่า การทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วนมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมได้
“มันไม่ใช่หน้าที่ใครคนหนึ่ง ไม่ใช่หน้าที่เอกชนที่จะต้องผลิตอะไรเพื่อให้อากาศสะอาด แต่มันเป็นหน้าที่ของทุกคน อย่างเด็กและเยาวชนที่อยู่ตรงนี้ที่มีสิทธิจะอยู่ในอากาศที่สะอาด มีสิทธิวิ่งเล่นได้ทุกวัน ทุกคนในทุกภาคส่วนสามารถร่วมมามีบทบาทได้”
Bangkok Climate Action Week หรือ BKKCAW 2025 มุ่งมั่นที่จะใช้เอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการริเริ่มดำเนินการทางสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก เพื่ออนาคตที่ปลอดภัย ทั้งหมดนี้เพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์ของเทศกาล นั่นคือ การกระตุ้นการดำเนินการของสังคม เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสีเขียว และผลักดันการมีส่วนร่วมของประชาชนและการออกแบบนโยบาย ทั้งในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสริมถึงเป้าหมายงานเพิ่มเติมว่า BKKCAW 2025 จะจัดในช่วงปลายปีงบประมาณพอดี เป็นเครื่องมือบอกว่า คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องสิ่งแวดล้อมอยากได้อะไรในเชิงนโยบายเรื่องสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่การฝากภาระไว้กับผู้เชี่ยวชาญ แต่มันเริ่มทำได้โดยพวกเราเอง
“ถ้ากรุงเทพฯ สามารถทำกิจกรรม Climate Action ให้เป็นตัวอย่างประเทศอื่น ๆ มาเรียนรู้ มาแลกเปลี่ยน มองว่า ไทยทำได้ กทม. ทำได้ เมืองอื่น ๆ อาจจะเป็นเมืองใกล้เคียงกับเรามาร่วมกัน”
พร้อมระบุว่าประเทศไทยหรือใกล้เคียงต่างมีการปล่อยคาร์บอนไม่ถึง 1% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก แต่ประเทศเล็ก ๆ เหล่านี้รวมกันเป็น 40% ของทั้งโลก และย้ำว่า “ถ้ารวมแรงลงมือทำจากประเทศเล็ก ๆ ก็จะกลายเป็น Action ที่ใหญ่ได้”
BKKCAW 2025 อยู่ในระยะฟักไข่
บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ สัตวแพทย์ผู้เป็นประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว (GWF) เล่าว่า ตนไม่รู้ว่าเคยมีงานแบบ Climate Action Week แล้วไม่มั่นใจว่ากรุงเทพฯ มีโอกาสได้ทำไหม โดยเปรียบเทียบกับการจัดงานศิลปะอย่าง Bangkok Art Biennale หรือ Thailand Biennale และมองว่า ถึงแม้ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แต่มั่นใจว่าจะสามารถจัดงานออกมาได้ด้วยแรงของทุกคน
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2025/02/IMG_0695-1024x768.jpeg)
“ผมคิดว่าผมจะพลาดงานนี้ไม่ได้ การได้ร่วมทำงานกับทีมลอนดอนคือคำชวนที่แรงมาก ๆ เมื่อกี้ได้ยินผู้ว่าฯ ชัชชาติบอกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นทุกเมือง เกิดขึ้นทุกวัน ฉะนั้นทุกคนก็ต้องมาทำ นี่คือคีย์เวิร์ดที่คนเอาไอเดียแล้วไปคิดต่อ”
เขาบอกอีกว่า นี่ไม่ใช่งานของกระทรวงหรือรัฐ แต่เป็นงานภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนแบบที่ทุกคนมาเกี่ยวได้ ไม่ใช่มาเดินดูเฉย ๆ แต่เป็นโอกาสเอางานตัวเอง ทีมของเรา กลุ่ม ชมรม องค์กร มาร่วมกันได้หมดเลย
ความกรีน ต้องมาคู่กับ ความแฟร์
บริพัตร ยังได้พูดถึงความแฟร์กับสภาพภูมิอากาศว่า มีความไม่เป็นธรรมอยู่ในประเด็นสิ่งแวดล้อมเยอะมาก คนมีโอกาสมากกว่าเอาเปรียบคนที่มีโอกาสน้อยกว่า ถ้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันจะมีผู้ได้ประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม โดยยกกรณีการเปลี่ยนฟอสซิลเป็น EV ใครจะเป็นคนได้ประโยชน์ ถ้าใช้ระบบปลูกป่าแลกคาร์บอนเครดิต จะแบ่งปันกำไรอย่างเป็นธรรมหรือไม่
ด้าน ศรินทร เลืองวัฒนะวณิช อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าว่า ตนไม่เคยทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเลย จึงต้องมองหาวิธีการที่จะสนับสนุนเรื่องดังกล่าว โดยมีโอกาสดูพื้นที่ในการพัฒนาป่า และศึกษา พ.ร.บ.อุทยานฯ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ทั้งที่ตนเป็นทนายความมา 20 ปี ไม่เคยแตะเรื่องเหล่านี้
ศรินทร เลืองวัฒนะวณิช อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ (ซ้าย) และ รศ.ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ รองคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“วันนี้ พบเจอปัญหาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งบนโลกนี้ ที่แค่หายใจก็รู้สึกไม่สะอาดแล้ว ภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีบทบาทพัฒนาประเทศ แต่เป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษ สะท้อนว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมยังรวมถึงกฎกติกาอยู่ร่วมกันในสังคม ดังนั้น นักกฎหมายและทนายความจึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน”
ศรินทร เล่าเรื่องงานของสภาทนายความฯ ว่ามีความเกี่ยวโยงกับประเด็นความยั่งยืน คือ ประชาชนที่ไม่มีทุนจ้างทนายความ เรามีทีมทนายความอาสา ไม่ว่าเรื่องเหมืองแร่ ปลาหมอคางดำ ก็ทำมาโดยตลอด พอเรามีใจให้เข้ามาขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม เราจะคิดออกเองว่าเราจะสร้างการมีส่วนร่วมได้อย่างไร ถึงแม้เราจะไม่เคยเกี่ยวข้องเลย ก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ช่วย
รุ่นพี่ “ลอนดอน CAW” เป็นความหวัง
BKKCAW 2025 นับเป็นส่วนหนึ่งของ ‘Climate Action Week’ เครือข่ายระดับนานาชาติที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยเริ่มต้นขึ้นที่กรุงลอนดอน กับ London Climate Action Week (LCAW) งานด้านสภาพภูมิอากาศที่จัดมาแล้วร่วม 300 อีเวนต์ ผู้เข้าร่วมเกือบห้าหมื่นคน นับว่าเป็นงานสภาพภูมิอากาศที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยมีทีมงานจาก LCAW มาเป็นพาร์ทเนอร์จัดงาน BKKCAW ด้วย
LCAW ดำเนินการมาหลายปี โดยมี ลีโอ เป็นหนึ่งในทีมทำงานเช่นกัน โดยความสำเร็จของงานคือการสามารถพาหลายกลุ่มหลายองค์กรมาร่วมมือกัน ทำงานด้วยเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการแแก้ปัญหาลดคาร์บอนของเมืองลอนดอน ด้วยความตั้งใจให้งานเป็นผลดีต่อทุกคนและทุกภาคส่วน
ลีโอ กล่าวว่า “เรามีแรงบันดาลใจจากลอนดอน หนึ่งในเวทีที่สำคัญที่สุดในยุโรป ผมว่าเราทำได้ดีกว่าที่ลอนดอน ลอนดอนเป็นตัวอย่างที่ให้ความมั่นใจเรา เป็นแรงบันดาลใจ ผมว่าเราน่าจะทำอะไรที่ยิ่งกว่านั้นได้อีกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2025/02/IMG_0681-1024x768.jpeg)
เสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของงานแฟร์เพื่อความแฟร์ “Thailand Rule of Law Fair 2025” ภายใต้หัวข้อ “Investing in the Rule of Law for a Sustainable Future” หรือการลงทุนกับความแฟร์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นที่การระดมความคิดเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับ Bangkok Climate Action Week เพื่อร่วมกันออกแบบและสร้างพื้นที่สำหรับขับเคลื่อน Green Transition