นักวิชาการด้านภัยพิบัติ เผยสาเหตุฝนตกหลังเลิกงาน เกิดถี่ในเมืองใหญ่ กทม. อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพราะตึกสูง พื้นซีเมนต์ สะสมความร้อนสูง พบ ปี 67 อุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้น 4 องศา เกินค่าเฉลี่ยโลก ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกเผชิญ ‘คลื่นความร้อน’ ที่อนาคตไทยต้องเตรียมรับมือ
ผศ.ปริชาติ เวชยนต์ นักวิจัยด้านบรรยากาศโลก หลักสูตรการจัดการสาธารณภัย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เปิดเผยกับ The Active ว่า กว่า 40 ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันโลกก็มีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ หรือ IPCC ที่ศึกษาวิจัยทางด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก ฉบับที่ 6 เมื่อปี 2020 ระบุว่า อุณหภูมิทั่วโลกตอนนี้สูงขึ้นไปประมาณ 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว หลายประเทศทั่วโลกมีความพยายามที่จะไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส แต่ดูเหมือนว่าจากข้อมูล อุณหภูมิมีแนวโน้มจะสูงขึ้นมากกว่านั้นและควบคุมได้ยาก

“ทั่วโลกเลยตอนนี้สูงขึ้นไปประมาณ 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว จากที่คาดการณ์ไว้ คราวนี้ทั่วโลกก็เลยจะพยายามช่วยกันลดอุณภูมิโลก เพื่อให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสให้ได้ แต่คิดว่า อีกไม่กี่ปีก็น่าจะถึงแล้ว เพราะว่าเรามาถึง 1.5 แล้ว จากข้อมูลที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกใน 40 ปีที่ผ่านมา”
ผศ.ปริชาติ เวชยนต์
กทม.อุณหภูมิพุ่งขึ้น 4 องศา เกินค่าเฉลี่ย
ข้อมูล กรมอุตุนิยมวิทยา จากกราฟที่ตรวจวัดในสถานีตรวจวัดสภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร ในช่วงหน้าร้อนในปี ที่แล้ว 2567 ในเดือนเมษายน เดือนพฤษภาคม ค่าเฉลี่ยแต่ละปีเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 34.5 – 35.4 องศาเซลซียส แต่ปรากฎว่าปีที่แล้วอุณหภูมิเฉลี่ย ในช่วงเดือนที่กล่าวมามี อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 40 องศาเซลเซียส กับ 41 องศาเซลเซียสไปแล้ว เกินไป 4 องศาเซลเซียส จากเทรนด์ของโลก เพราะค่าเฉลี่ยของโลก 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งโลกร้อนทำให้อุณหภูมิของไทยเพิ่มขึ้นทุกปี

ผศ.ปริชาติ ระบุด้วยว่า การที่โลกร้อน แนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากมีการเก็บข้อมูลจากนักวิทยาศาสต์ อาจเป็นวัฐจักรของโลกก็ได้ เพราะหากมองย้อนในอดีต ไกลกว่านั้น อาจไม่มีข้อมูลที่ระบุไว้ก่อนหน้านั้น หรือประมาณก่อนปี 2524 เพื่อมายืนยัน จึงไม่สามารถบอกได้ชัดว่าที่โลกร้อนขึ้นนี้เป็นวัฐจักรของโลก แต่ถ้ามองแค่ในระยะเวลาของคนยุคนี้ โลกก็ไม่เคยมีอุณหภูมิสูงขนาดนี้มาก่อน จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาเพราะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นเกินกว่าในอดีต มักเกิดปัญหาภัยพิบัติถี่และรุนแรงขึ้น
“ข้อสังเกตที่ผ่านมาใช้ช่วงเวลาที่เก็บสถิติกว่า 40 ที่ผ่านมา อุณหภูมิสูงต่อเนื่อง หรือจริง ๆ แล้ว ถ้าเรามองระยะยาว มันอาจจะเป็นปกติก็ได้ หรืออาจจะเป็น Cycle ปกติของมัน แต่เนื่องจากเราคงอยู่ได้ยาวไม่ถึงขนาดนั้น เพราะฉะนั้นทำให้มนุษย์เราก็เลยให้ความสำคัญกับการเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้”
ผศ.ปริชาติ เวชยนต์
ทำไม ? คนกรุง มักเจอ ‘ฝนราชการ’ ช่วงบ่ายถึงค่ำ

ผศ.ปริชาติ ยังอธิบายถึงการตกของฝนในพื้นที่ กทม. ที่มักตกในเวลาหลังเลิกในช่วงงานบ่ายถึงค่ำ หรือที่เรียกว่า “ฝนราชการ” หากอ้างอิงจากงานวิจัยที่ศึกษาในพื้นที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมีความคล้ายกับเมืองใหญ่ อย่าง กทม. ที่เป็นตึกสูง บ้านเรือน ที่มีพื้นเป็นปูนซีเมนต์ หรือพื้นยางมะตอย ซึ่งเป็นวัสดุที่มีการดูดซับพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้เยอะ จึงทำให้อากาศร้อนสะสม
ในขณะที่บริเวณรอบตัวเมืองที่เป็นพื้นที่การเกษตรที่ดูดซับพลังงานความร้อนได้น้อยกว่า มีอุณหภูมิเย็นกว่าอยู่ใกล้กัน จึงทำให้ส่งผลถึงกันได้เพราะฉะนั้นเมื่อตัวเมืองมีความร้อนมากกว่านอกเมืองจึงเกิดปรากฏการณ์ที่คล้ายกับ โดมความร้อน หรือ เกาะความร้อน เมื่ออากาศจากด้านนอกตัวเมืองที่เย็นกว่า เข้ามาในตัวเมือง อากาศก็จะยกตัวขึ้น และสะสมเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งระหว่างนี้ก็ต้องสะสมความร้อนมาระดับหนึ่ง
จากนั้นอุณหภูมิของกลุ่มอากาศจะเย็นลง และเกิดการกลั่นตัวของไอน้ำในก้อนเมฆ ตกเป็นฝนลงมา ซึ่งกว่าจะสะสมได้ก็ต้องรอเวลา และมักจะตกในช่วงเวลาประมาณบ่าย 3 โมง – 6 โมงเย็น ที่เรียกกันว่า ฝนราชการ

“เวลาที่ก้อนอากาศจากบริเวณรอบ ๆ หรือเมืองรอบ ๆ เข้ามาถึงตัวเมืองกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลกที่เคยมีการเก็บข้อมูล ทำให้เกิดการที่บรรจุน้ำไว้มากกว่าปกติในอากาศ พอเกิดการยกตัวและกลั่นตัวแล้วก็เลยทำให้เกิดการฝนตกหนักแบบโคร่มเดียว อันนี้คือเป็นลักษณะของฝนที่ในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจาก เกาะความร้อน อันนี้ด้วย”
ผศ.ปริชาติ เวชยนต์
ผศ.ปริชาติ ยังอธิบายด้วยว่า ปัจจุบันคลื่นความร้อนเกิดขึ้นหลายประเทศ ขณะที่ไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลจริงจังเนื่องจากยังไม่มีงานวิจัย โดยปกติแล้วลักษณะของคลื่นความร้อนจะเกิดขึ้นบนบก อากาศจะถูกกักไว้ที่บริเวณผิวพื้น เนื่องจากมีอากาศเย็น และมีความกดอากาศสูงมาทับไว้ เมื่ออากาศที่ผิวพื้นได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์แล้วไม่สามารถกระจายความร้อนออกไปได้ การกดทับของอากาศด้านบนจึงทำให้ต้องกักความร้อนไว้ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง อุณหภูมิจึงสูงขึ้นกว่าปกติเยอะมาก และจะต้องเป็นแบบนี้ติดต่อกัน 5 วันเป็นต้นไป จึงเรียกว่า คลื่นความร้อนบนบก ซึ่งในประเทศไทย คลื่นความร้อน ยังไม่เคยเกิดขึ้น เพราะเป็นลักษณะของอุณหภูมิที่ลอยขึ้นในแนวตั้ง อากาศมีการหมุนเวียน ไทยอาจจะต้องมีการศึกษาอากาศของประเทศไทยโดยเฉพาะ เนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างมาก

“กรุงเทพฯ เราร้อนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างเช่น ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิ 31 องศาเซลเซียส ปัจจุบันก็ขึ้นมาประมาณ 41 องศาเซลเซียส ซึ่งเพิ่มขึ้นเยอะมาก เพราะฉะนั้นประเทศไทยอาจจะต้องมีการศึกษาคลื่นความร้อน เพื่อให้คำนิยามของคลื่นความร้อนเฉพาะในประเทศไทยหรืออย่างในกรุงเทพฯ อุณหภูมิสูงขึ้นเยอะมาก เพราะอนาคตอาจต้องเตรียมพร้อมรับมือสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจะเริ่มมีผลกระทบกับประเทศไทยมากขึ้น”
ผศ.ปริชาติ เวชยนต์
คลื่นความร้อนที่สะสมในทะเลเป็นตัวบ่งชี้อย่างไร ?
ผศ.ปริชาติ บอกด้วยว่า ค่าความจุความร้อนของดินและน้ำที่มีความแตกต่างกัน ซึ่ง ค่าความจุความร้อน ก็คือค่าที่กินพลังงานเข้าไปแล้วและทำให้ตัวมันร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียส ซึ่งน้ำมีค่าความจุความร้อนที่สูงที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับวัสดุอื่น ๆ ซึ่งน้ำในมหาสมุทรจึงช่วยดูดซับความร้อนให้โลกไว้ได้ แต่ปัจจุบัน ผิวน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะอากาศโลกเราร้อนมานานแล้ว หลายสิบปี อย่างปรากฏการณ์โลกร้อนที่เกิดขึ้นมา น้ำในทะเลในโลกเราก็ช่วยดูดซับพลังงานความร้อนไว้บางส่วนแล้ว
“จนกระทั่งทะเลดูดซับมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว โดยทะเลก็อาจไม่ไหวแล้ว เพราะฉะนั้นในปัจจุบันนี้ผิวน้ำในทะเลก็แสดงออกแล้วว่า ฉันร้อนนะ อุณหภูมิเขาเลยเริ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งทำให้บางครั้งร้อนมากๆเข้าแล้วกินไปเป็นบริเวณกว้าง เกิดเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ได้รับผลกระทบจาก Climate Change แล้วก็โลกร้อนที่เขาเรียกว่า คลื่นความร้อนทะเล“
ผศ.ปริชาติ เวชยนต์
สำหรับผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในทะเลของไทย คำนิยามของคลื่นความร้อนในทะเลคล้ายกับคลื่นความร้อนบนบก โดยมีเกณฑ์วัดจากค่าสถิติน้ำทะเล ณ จุดเกิดและวันที่เกิด ถ้าเกินค่าเปอร์เซนไทล์ที่ 90 ก็จะถือว่ามีคลื่นความร้อน แต่ต้องต่อเนื่องกัน 5 วัน และกินพื้นที่ตั้งแต่ 10 ตารางกิโลเมตรเป็นต้นไป ซึ่งไทยยังไม่เกิด และยังไม่ได้มีงานวิจัยที่จริงจังจึงทำให้ยังไม่มีข้อมูลบางส่วน มันอาจเกิดแล้ว หรือยังไม่เกิดต้องมีเครื่องมือวัด
อย่างความร้อนจากผิวน้ำจริง ๆ แล้วจะถูกส่งผ่านไปมีผลกระทบต่อนิเวศน์ในทะเล ซึ่งจะทำให้เกิดปะการังฟอกขาว แพลงก์ตอนบลูม สัตว์น้ำตายได้ บางครั้งส่งผลเสียต่อชาวประมงที่อาจจะต้องออกเรือไปไกลขึ้น ปลาที่จับได้มีขนาดเล็กลง ไปจนถึงส่งผลต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่ลดลงอีกด้วย
ผศ.ปริชาติ ยังตั้งข้อสังเกตต่อการเกิดน้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย เมื่อปี 2567 ว่า อาจจะเกี่ยวข้องกับคลื่นความร้อนทะเลบริเวณอ่าวเบงกอลหรือไม่ เนื่องจากในปีนั้นไม่ใช่ปีเอลนีโญหรือลานีญาเลย แต่ดันเกิดฝนตกหนักทำให้จังหวัดเชียงรายเกิดน้ำท่วมขึ้นได้ ซึ่งได้อ้างอิงงานวิจัยของอินเดียที่เผยว่าความเป็นไปได้ในการเกิดคลื่นความร้อน 2 กรณี คือ
- ถ้าคลื่นความร้อนเกิดขึ้นบริเวณทะเลอันดามัน จะทำให้ลมมรสุมอ่อนตัวลง จึงทำให้ลมพัดมาไม่ถึงอ่าวเบงกอล ส่งผลให้เกิดภาวะภัยแล้งเพราะฝนตกน้อยลง
- ถ้าหากคลื่นความร้อนเกิดขึ้นที่บริเวณอ่าวเบงกอลเลย จะทำให้ไอน้ำระเหยขึ้นไปในอากาศได้เยอะขึ้น และทำให้ลมมรสุมที่พัดมามีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ฝนตกมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ลมมรสุมที่พัดมาถึงประเทศไทยนั้นมีกำลังแรง และทำให้ฝนตกลงมามากกว่าปกติก็เป็นไปได้
“อาจจะเป็นเพราะว่าปีนั้นไม่ได้เป็นปีเอลนีโญ หรือลานีญาเลย เป็นปีที่ค่อนข้างจะปกติด้วยซ้ำ แต่ทำไมถึงทำให้เกิดฝนตกหนักบริเวณเชียงรายจนกระทั่งเกิดน้ำท่วมได้ ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าอาจจะเป็นเพราะว่าปรากฏการณ์นี้ด้วยหรือเปล่า เพราะว่าค่อนข้างอยู่ใกล้ประเทศไทย”
ผศ.ปริชาติ เวชยนต์

การศึกษาเรื่อง ‘คลื่นความร้อน’ ต้องพัฒนาต่อ
ผศ.ปริชาติ เปิดเผยด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ในปี 2565 ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อศึกษาเรื่อง คลื่นความร้อนในทะเล และในปัจจุบันกำลังจะต่อยอดในการวิจัยร่วมกับนักวิจัยและอาจารย์ชาวญี่ปุ่น 3 เดือน เพื่อพัฒนาเครื่องมือที่จะวิเคราะห์สภาพอากาศในแนวตั้ง ซึ่งเป็นลักษณะที่เหมือนกับสภาพอากาศของกรุงเทพฯ จะช่วยในการคำนวณอุณหภูมิและความชื้นในอากาศได้ดีขึ้น
นอกจากนั้นยังชี้ว่า เครื่องมือของประเทศไทยตอนนี้อาจยังไม่ตอบโจทย์ต่อการรับมือ หรือแก้ปัญหาเกี่ยวกับสภาพอากาศได้เท่าที่ควร โดยปกติแล้วถ้า กรมอุตุนิยมวิทยา อยากรู้ว่าอุณหภูมิความชื่นในอากาศ ตามลำดับชั้นความสูง เช่น 5 เมตร 10 เมตร 20 เมตร หรือ 30 เมตร จะปล่อยบอลลูนตรวจอากาศขึ้นไป แต่ไทยทำแค่ช่วง 7 โมงเช้าเท่านั้น ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้มากนัก เนื่องจากอากาศเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งวัน
การวิจัยครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่จะได้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมของญี่ปุ่นเพื่อศึกษาอุณหภูมิความชื่นในอากาศตามลำดับชั้นความสูงที่เพิ่มขึ้นไปจากผิวดิน จากนั้นจะสามารถคำนวณว่าอากาศตอนนี้อุ้มน้ำอยู่เท่าไร และมีโอกาสตกเป็นฝนได้เท่าไร จะได้เตือนภัยเรื่องน้ำท่วม การที่จะเตือนภัยมีประสิทธิภาพอาจจะต้องไปคำนวณน้ำที่อยู่ในอากาศก่อน เพื่อรู้ว่าน้ำมีแค่ไหนและมีโอกาสตกมาเป็นฝนเท่าไร และจะทำให้เตือนภัยได้ไวยิ่งขึ้น เช่น น้ำท่วมแบบไหลหลาก หรือ Fast Flood
“จริง ๆ ประเทศไทยมีงานวิจัยที่ประเมินน้ำในอากาศที่มีการใช้วิธีที่หลากหลาย เช่น เรดาร์ แต่วิธีนี้มีข้อจำกัดคือ ลำแสงของเรดาร์ไม่ได้ตกกระทบทั้งก้อนเมฆที่มีไอน้ำอยู่ แต่ได้แค่บางส่วนเท่านั้น จึงไม่ได้น้ำของก้อนเมฆทั้งก้อน ในขณะที่ ดาวเทียมสามารถได้จากตั้งแต่ข้างบนจนถึงผิวพื้นได้เลย ก็จะคำนวณน้ำของทั้งก้อนได้”
ผศ.ปริชาติ เวชยนต์
สำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนับวันยิ่งเพิ่มขึ้น หากเมืองใหญ่ในหลายประเทศไม่เตรียมพร้อม จะส่งผลกระทบเสียหายตามมาและลดความเสี่ยงได้ยาก การออกแบบโยบาย ก็จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้และงานวิจัยที่มากพอเพื่อสนับสนุนการป้องกันล่วงหน้า เช่น การคำนวนและคาดการณ์สถานการณ์น้ำท่วมเมืองใหญ่ ๆ อย่างกรุงเทพมหานคร ที่ต้องเตรียมพร่องน้ำ ขุดลอกคลอง หรือจัดการจราจร พร้อมรับมือ
“หากเรามีผลการศึกษาที่มากพอก็จะประเมินช่วยเตือนภัยให้กับประชาชนได้ และรัฐบาลควรสนับสนุนงานวิจัยระยะยาว 5-10 ปี ไม่ใช่ ปีต่อปี เพราะความต่อเนื่องจะทำให้เป็นผลมากกกว่าในงานวิจัยระยะยาว”
ผศ.ปริชาติ เวชยนต์