การระบาดระลอกโอมิครอนเข้าสู่ขาลง รับเปิดประเทศ “นพ.เฉลิมชัย” แนะรัฐตรวจ ATK ปูพรมอีกรอบพิสูจน์อัตราส่วนเสียชีวิตที่แท้จริง ลุ้นตายต่ำกว่า 0.1% เข้าเกณฑ์โรคประจำถิ่น ด้าน “ปลัดสธ.” ดึง กทม. วางแผน Endemic Sandbox
วันนี้ (2 พ.ค. 2565) ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ต่ำกว่าหมื่นคนครั้งแรกรอบหลายเดือน อยู่ที่ 9,331 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียเสียชีวิตอยู่ 84 คน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน ระบุว่าเป็นไปตามการคาดการณ์ฉากทัศน์การระบาดของ โควิด-19 ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่า 10,000 คนอาจจะต้องรอดูอีกสักพักในแต่ละวัน เพราะช่วงขาลงไม่เหมือนขาขึ้น เพราะจะไม่ลงแบบปุบปับทันที ขณะที่สิ่งที่ยังเป็นห่วงคือยอดฉีดวัคซีนเข็มสามยังไม่เป็นไปตามเป้าอาจทำให้ผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงยังมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่ม
ส่วนการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ผ่านมา จะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการระบาดละลอกใหม่หรือไม่ นพ.เฉวตสรร มองว่า หลายพื้นที่ท่องเที่ยวมีการเตรียมพร้อมด้วยการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม และต้องยอมรับว่ามาตรการการเฝ้าระวังเราไม่ได้ใช้วิธีเหมือนการระบาดระลอกแรก การผ่อนคลายให้นักเดินทางเข้ามาเปลี่ยนเป็นการตรวจ ATK โดยเวลานี้กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดไปสู่โรคประจำถิ่น จึงจะดูที่อัตราของผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตเป็นหลัก แต่ก็มีมาตรการควบคุมอื่นๆประกอบกัน
แนะรัฐตรวจ ATK ปูพรมอีกรอบพิสูจน์อัตราส่วนเสียชีวิตที่แท้จริง
ขณะที่ นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา เห็นสอดคล้องกันว่าการระบาดของ โควิด-19 ในละลอกโอมิครอนนี้ ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในช่วงปลายเดือนมี.ค. ต่อต้นเดือนเม.ย. และกำลังเข้าสู่ช่วงขาลง
“แต่มิติที่อยากพูดถึงคือเรื่องโรคติดต่อทั่วไปหรือโรคประจำถิ่นจะมีโอกาสมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องดูที่อัตราผู้เสียชีวิตย้อนหลัง 7 วันว่าเกิน 0.1% จากผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันนั้นหรือไม่ หมายความว่าถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานอยู่ระดับ 25,000 คน จะต้องมีผู้เสียชีวิตไม่เกินวันละ 25 คน”
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา
นพ.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า เพื่อให้ได้ยอดผู้ติดเชื้อที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงมากที่สุดรัฐ ควรปูพรมตรวจ ATK ให้ครอบคลุมกว้างขวาง เพื่อหาจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริง และมีโอกาสทำให้อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อลงมาใกล้เคียง 0.1% ซึ่งจะเข้าเกณฑ์โรคติดต่อทั่วไป หรือเป็นโรคประจำถิ่นได้
ผอ.กองระบาด แจงยอดดับลดฮวบ เพราะปรับระบบรายงาน
ขณะที่การแถลงสถานการณ์โควิด -19 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา เปิดเผยว่า ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ อยู่ในแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องช้า ๆ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.14%
กรณีที่มีรายงานผู้เสียชีวิตลดลงในวันที่ 2 พ.ค.2565 อยู่ที่ 84 คน เพราะการปรับระบบรายงาน เนื่องจากระลอกโอมิครอนแจะแตกต่างจากเดลตาซึ่งมีอาการค่อนข้างรุนแรง โดยมีคนป่วยโรคเรื้อรังซึ่งอาการมากขึ้นและอาการค่องข้างหนัก และมีการติดโควิด-19 ร่วมด้วย ทำให้ก่อนเสียชีวิตมีการตรวจพบเชื้อจึงจำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคให้ได้ว่า เสียชีวิตเกิดจากโรคเรื้อรังหรือสาเหตุจากโควิด
นอกจากนี้จะเพิ่มการรายงานภาวะหลังติดเชื้อ ทั้งภาวะ Mis-C ในกลุ่มเด็กเนื่องจากอาการอักเสบหลายระบบอาจทำให้เสียชีวิตได้ และภาวะ Mis-A หรือลองโควิดในผู้ใหญ่
สธ. ดึง กทม. ร่วมจัดการโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่น
วันเดียวกัน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมหารือกับ พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และคณะ เกี่ยวกับแนวทางการเตรียมความพร้อมพื้นที่กรุงเทพมหานครให้รับมือโรคโควิด-19 ตามแนวทางการขับเคลื่อนบริหารจัดการโรคโควิด -9 แบบโรคประจำถิ่น
ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทยเริ่มคลี่คลายมากขึ้น หลายจังหวัดมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการรองรับสถานการณ์ตามแนวทาง 2U 3พอ ได้แก่ Universal Prevention ใช้การป้องกันตนเองขั้นสูงสุดต่อเนื่อง, Universal Vaccination ฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม, มีเตียงเพียงพอสำหรับผู้ป่วยโควิด, มียาและวัคซีนฉีดเพียงพอให้ประชาชน และมีบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยเพียงพอ
สำหรับกรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดหนึ่งที่สถานการณ์ดีขึ้นเช่นกัน ผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อได้รับการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) และแบบผู้ป่วยนอก “เจอแจก จบ” ขณะที่การฉีดวัคซีนมีความครอบคลุมสูง คือ เข็ม 1 และเข็ม 2 ได้เกิน100% ส่วนเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 มีความครอบคลุมมากกว่า 60% สามารถเดินหน้า เข้าสู่การเป็นจังหวัดที่บริหารจัดการโรคโควิด 19 แบบโรคประจำถิ่น หรือ Endemic Sandbox ได้แนะนำให้มุ่งเน้นการจัดการในพื้นที่สำคัญ เช่น สวนสาธารณะ ที่มีคนจำนวนมาก กิจการที่มีความเสี่ยง เช่น ผับ บาร์ รวมถึงขนส่งสาธารณะต่าง ๆ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับการผ่อนคลายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ประชาชนค่อยๆ ปรับตัว และการเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น