สิ่งที่คาดหวังจะเห็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือ แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งการท่องเที่ยว และการฟื้นฟู จ.สมุทรสาคร จะเป็นอย่างไร
การเยียวยาที่ผ่านมา รัฐบาลมีชุดความคิดในการพยายามควานหาคนที่เดือดร้อน แต่จากสถิติการถือครองบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน พบว่ากลุ่มคนจนจริง ๆ เพียง 33 % ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนที่เหลืออีกกว่า 60 % ไม่ได้รับบัตร ขณะที่คนไม่ได้ยากจน แต่ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีจำนวนถึง 18 % ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มคนรวยที่สุด แต่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถึง 2.8 % สะท้อนให้เห็นว่า การเยียวยาของรัฐมีช่องโหว่ และไม่ได้ลงไปถึงกลุ่มคนที่เดือดร้อนจริง
ในสถานการณ์โควิด-19 ที่พลิกผันไวแต่รัฐบาลยังใช้วิธีเดิม จึงทำให้กลุ่มที่เดือดร้อนไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อันที่จริงรัฐบาลควรจะเยียวยาอย่างทั่วถึง เช่น การแจกเงิน 2,000 บาท กับทุกคน
ส่วนคำถามว่าจะเอาเงินมาจากไหนในการเยียวยาฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19? ส่วนนี้ก็เป็นปมของภาครัฐ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่บอกว่าจะเอามากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการที่เสนอเข้ามาจากหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ซึ่งในที่สุดแล้วไม่สามารถทำได้จริง และทำให้มีเงินเหลืออยู่ 2 แสนล้านบาท เงินส่วนนี้ไม่สามารถที่จะเบิกจ่ายได้ นอก พ.ร.ก. จึงควรมีการแก้ไขเพื่อนำเงินส่วนนี้กลับมาใช้ในการเยียวยา
ปัญหาต่าง ๆ ที่ติดขัดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเหล่านี้ รัฐบาลจำเป็นต้องทบทวนความเชื่อของตัวเอง ทั้งในเรื่องของการคัดกรอง และรวมไปถึงการใช้เงินผ่านหน่วยงานราชการต่าง ๆ เพราะในสถานการณ์อย่างนี้ จำเป็นต้องทำงานด้วยความรวดเร็ว
“รัฐบาลอย่าไปคิดว่าใครเป็นคนเดือดร้อนหรือไม่เดือดร้อน เพราะไม่มีทางรู้ได้ทั้งหมด แต่เราต้องเอาสิ่งที่มันเป็นความเดือดร้อนมาแก้ไข”
แต่สิ่งหนึ่งที่ควรชื่นชม คือ การดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่พยายามจะแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ จากผลกระทบทางเศรษฐกิจ กำลังจะทำให้มูลค่า “หนี้เสีย” เพิ่มสูงขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงออกมาตรการพักหนี้ รวมถึงมีการลดดอกเบี้ยและพยายามไกล่เกลี่ยระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ซึ่งมาตรการที่ตรงจุดแบบนี้ ยังไม่ค่อยเห็นรัฐบาลทำอย่างเป็นรูปธรรม
โดยเฉพาะกรณี จ.สมุทรสาคร หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าหากมองว่าการแพร่ระบาดเกิดจากสภาพความเป็นอยู่ ถ้าจะฟื้นฟูสมุทรสาครให้กลับมา การเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติต้องดีกว่าเดิมกว่านี้หรือไม่รัฐบาลยังไม่เคยตอบคำถามเรื่องนี้
นี่ยังไม่รวมไปถึงการจ้างงานและปัญหาคนตกงานอีกกว่า 2 ล้านคน ที่ยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว และรัฐบาลยังไม่มีมาตรการรองรับที่ดีพอ และควรจะเป็นประเด็นคำถาม ที่ถูกรัฐบาลชี้แจงในสภาด้วย
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หรือ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มาชวนคิดเชิงระบบจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ไว้ในรายการ Active Talk EP.2 “อภิปรายไม่ไว้วางใจ ≠ โค่นล้มรัฐบาล” (16 ก.พ. 2564)