กรมอุตุฯ เตือน 11 จังหวัดภาคอีสานเตรียมรับมือพายุฤดูร้อน 16-18 เม.ย.นี้

ลำปางร้อนมากอุณหภูมิสูงสุดวันนี้ 41 องศาเซลเซียส ติดอันดับอากาศร้อนจัด ที่สุดในประเทศ โดยเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ภาคเหนือและภาคกลาง ร้อนมากที่สุด ขณะที่ภาคอีสานกำลังได้รับอิทธิพลจากมวลอากาศเย็น เข้ามาปกคลุม จึงเป็นพื้นที่เสี่ยง พายุฤดูร้อนที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุด

ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนพายุฤดูร้อนบริเวณประทศไทยตอนบน จะมีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 16-18 เมษายน 2565 นี้ โดยมีลักษณะของพายุ ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สาเหตุเพราะว่าบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศเวียดนามตอนบน ลาวตอนบนและทะเลจีนใต้แล้ว และคาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันนี้ (16 เม.ย. 65) ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น

โดยพายุฤดูร้อน จะกระทบ 11 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน บริเวณจังหวัดสกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป

ขอให้ประชาชนระวังอันตราย โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ใกล้สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง และขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางสัญจรผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งอาจเกิดอันตรายจากลมกระโชกแรงและฟ้าผ่าได้ สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อ ผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

ด้าน​ สุวัฒน์ เข็มเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร มีหนังสือด่วนที่สุด แจ้งเตือนถึงหัวหน้าส่วนราชการท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นจังหวัดเป้าหมายที่จะกระทบต่อเนื่อง ​โดยมีบางพื้นที่เสี่ยงสูงต่อการเกิดพายุฤดูร้อน ล่าสุดจังหวัดยโสธรมีพายุฤดูร้อนพัดถล่มในพื้นที่ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ซึ่งแรงลมได้พัดเอาหลังคาบ้านเรือนของชาวบ้านได้รับความเสียหายปลิวหายไปกว่า 20 หลังคาเรือน แต่โชคดีไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้

ข้อมูลจาก สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผย พายุฤดูร้อน (Thunderstorms) มักจะเกิดขึ้นในฤดูร้อน ช่วงเดือนเมษายนหรือในช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูฝน ขณะที่อุณหภูมิในภูมิภาคต่าง ๆ เริ่มสูงขึ้น เนื่องจากแกนของโลกเริ่มเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ ตำแหน่งของดวงอาทิตย์จึงเคลื่อนมาอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร ทำให้อากาศร้อนอบอ้าวและชื้น ในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยตอนบน จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุม ทำให้มีอุณหภูมิสูงและได้รับความชื้นจากลมตะวันออกเฉียงใต้ หรือลมใต้ซึ่งพัดจากอ่าวไทย ขณะเดียวกันหากมีความกดอากาศสูงจากประเทศจีน ซึ่งเป็นมวลอากาศเย็น หรือมีคลื่นกระแสลมตะวันตกจากประเทศพม่าเคลื่อนมาเสริม จะก่อให้เกิดการปะทะกันของมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน และมวลอากาศร้อนชื้นที่ปกคลุมประเทศไทย ทำให้เกิดความแปรปรวนของอากาศอย่างรวดเร็วและฉับพลัน โดยจากการยกตัวขึ้นของอากาศอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศ และเกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างแรงและรวดเร็ว ลมกระโชกแรง ฝนตกหนัก ฟ้าแลบ (Lightning) ฟ้าร้อง (Thunder) และลูกเห็บ

สัญญาณที่จะบ่งบอกว่าพายุฤดูร้อนกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว คือสภาพอากาศในช่วงนั้นจะร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลาย ๆ วัน มีความชื้นในอากาศสูงจนรู้สึกเหนียวตัว ลมค่อนข้างสงบ ท้องฟ้าขมุกขมัว และมีเมฆมาก เมฆจะสูงและมีสีเทาเข้ม ต่อมาลมจะพัดแรงขึ้นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ก่อนที่เมฆจะก่อตัวหนาแน่นอย่างรวดเร็ว จนเกิดฟ้าแลบ และฝนฟ้าคะนองในระยะไกล สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นพายุฝนฟ้าคะนองตามมาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อพายุสลายไปแล้ว อากาศจะเย็นลง รู้สึกสดชื่นขึ้น ท้องฟ้าแจ่มใส ทัศนวิสัยชัดเจน

การเตรียมรับมือและป้องกันภัยจากพายุฤดูร้อน หากอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยพายุฤดูร้อน ควรเตรียมรับมือ
ดังนี้

  • ติดตั้งสายล่อฟ้าในอาคารสูง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากฟ้าผ่า
  • หมั่นติดตามสภาวะอากาศ และฟังค าเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอยู่เสมอ
  • หากมีประกาศเตือนภัย ให้เก็บสิ่งของที่มีน้ าหนักเบาสามารถปลิวตามลมได้ไว้ในที่มิดชิด
  • ตรวจสอบความแข็งแรงมั่นคงของบ้านเรือน หลังคา อาคารต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เพราะจะเกิดลมพายุอย่าง
    รุนแรงพัดเข้ามาด้วย ซึ่งอาจท าให้หลังคาบ้านปลิวไปพร้อมกับลม หรืออาจมีลูกเห็บตกลงมาทะลุหลังคาบ้านได้ หากประตู หรือหน้าต่างไม่แข็งแรง ควรใช้ไม้ทาบตีตะปูปิดตรึงไว้ เพื่อป้องกันแรงลมหอบพัดบ้านเรือนพังเสียหาย
  • หากพบต้นไม้ สายไฟเกี่ยวกิ่งไม้ ป้ายโฆษณา ฯลฯ ที่อยู่ในสภาพไม่ปลอดภัย ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มาปรับปรุงแก้ไขโดยเร็ว
  • เตรียมป้องกันภัยให้สัตว์เลี้ยง และพืชผลการเกษตร เกษตรกรควรจัดทำที่ค้ำยันต้นไม้ โดยเฉพาะกิ่งที่กำลังผลิดอกออกผล
  • หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ออกกำลังกาย ขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง
  • หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด รวมทั้งโทรศัพท์ เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง
  • จัดเตรียมอาหารแห้ง ยารักษาโรค ตะเกียง ไฟฉาย ไม้ขีดไฟ และวิทยุพกพาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
  • หลังพายุสงบ หากพบต้นไม้ในบริเวณบ้านโค่นล้ม ให้รีบตัดทิ้งทันที หรือหากพบเห็นเสาไฟฟ้าล้ม หรือมีสายขาด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว

นอกจากนี้ภาคเหนือ อละภาคกลาง ยังติดอันดับอากาศร้อน-ร้อนจัด หลายพื้นที่ อย่างที่จังหวัดลำปางวันนี้ร้อนที่สุดมีอุณหภูมิสูงสุด 41 องศาเซลเซียส แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ ชัยนาท กาญจนบุรี 40 องศาเซลเซียส

ส่วนกรุงเทพมหานครวันนี้มีอุณหภูมิสูงสุด 38 องศาเซลเซียส จังหวัดปทุมธานี 39 องศาเซลเซียส จังหวัดนนทบุรี 37 องศาเซลเซียส และจังหวัดสมุทรปราการ 35 องศาเซลเซียส


Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์