กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตือน 7 จังหวัดภาคตะวันออกและภาคใต้ เสี่ยงน้ำหลากและอุทกภัย 2-4 ก.ค. 66 ขณะที่ภาคอื่น ๆ เสี่ยงฝนตกหนักสะสม หลังไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น
ในช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ที่อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ มีฝนตกหนักสะสม จนทำให้น้ำป่าไหลเข้าท่วม บ้านเรือนประชาชน ร้านค้า สหกรณ์การเกษตร สูงตั้งแต่ 50 เซนติเมตร ถึง ประมาณ 1 เมตร ส่งผลให้ประชาชนในอำเภอปะคำขนของหนีน้ำไม่ทัน
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ในช่วงวันที่ 1 ก.ค.66 น้ำเริ่มท่วมตั้งแต่ เวลา 16.00 นและเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนท่วมเต็มพื้นที่ และฝนตกสะสมซ้ำเติมพื้นที่เดิม เกือบทั้งคืน จนทำให้ได้รับผลกระทบน้ำท่วมหนัก และระบายไม่ทัน
ส่วนที่ จังหวัดตรังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 7 อำเภอ จาก 10 อำเภอหลังฝนตกหนัก มีประชาชนได้รับผลกระทบ กว่า 300 ครอบครัวจากเหตุการน้ำท่วมฉับพลัน ขณะที่เรือประมงจมไปแล้วกว่า 5 ลำ โดยในพื้นที่ หมู่ 3 บ้านห้วยเหรียง ต.นาโต๊ะหมิง อ.เมือง จ.ตรัง น้ำจากลำคลองสว่าง ได้เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนไปแล้วจำนวน 60 กว่าหลังคาเรือน
ขณะที่ วันนี้ (2 ก.ค.66 ) ประมาณ 9.00 น. ที่อำเภอบ่อเกลือ เกิดเหตุดินสไลด์ บริเวณริมถนนทางหลวง 1081 (บ่อเกลือ-เฉลิมพระเกียรติ) ในพื้นที่บ้าน ห้วยขาบ หมู่ที่ 7 ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เบื้องต้นไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ขณะนี้อำเภอบ่อเกลือได้ประสานไปยัง หมวดทางหลวงเฉลิมพระเกียรติ, อบต.บ่อเกลือเหนือ และภาคีเครือข่าย เคลียร์พื้นที่จุดเกิดเหตุ จนสามารถสัญจรผ่านได้ 1 ช่องจราจร
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่าลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและเสี่ยงดินถล่มบริเวณต้นน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทันในช่วงวันที่ 1 – 4 กรกฎาคม 2566 ดังนี้
1. ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา แกลง และบ้านค่าย) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ มะขาม และแก่งหางแมว) จังหวัดตราด (อำเภอบ่อไร่ และเมืองตราด)
2. ภาคใต้ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง และกะเปอร์) จังหวัดตรัง (อำเภอหาดสำราญ กันตัง วังวิเศษ เมืองตรัง และห้วยยอด) จังหวัดสตูล (อำเภอทุ่งหว้า และควนกาหลง) จังหวัดพัทลุง (อำเภอป่าบอน)
นอกจากนี้ กอนช.ยังกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมือง ที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน
2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ส่วนในช่วงวันที่ 3 – 7 ก.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร