ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ รุนแรงที่สุดของเอเชีย และเป็นอันดับ 2 ของโลก

อิทธิพล ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ ทำหลายประเทศน้ำท่วมหนัก ทั้ง จีน เวียดนาม ขณะกรมอุตุนิยมวิทยาไทย ยังไม่นับ พายุ “ยางิ” เป็นพายุอีกลูกของไทย เหตุศูนย์กลางพายุไม่เข้าประเทศไทยโดยตรง แต่มีอิทธิพลทำให้ไทยเสี่ยงฝนตกหนัก

วันนี้ (7 ก.ย.2567) ความรุนแรงของพายุ “ยางิ” รอบนี้ ได้หอบฝนและลมกระโชกแรงทำให้ขณะนี้ มณฑลไห่หนาน จุดท่องเที่ยวสำคัญที่ได้ชื่อว่าเป็นเกาะฮาวายของจีน เผชิญกับฝนตกหนักและลมกระโชกแรง หลังจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ ซึ่งถือเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดของเอเชียในปีนี้ พัดขึ้นฝั่งเมื่อช่วงบ่ายวานนี้ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยความเร็วลมสูงสุด 234 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อิทธิพลของพายุดังกล่าวส่งผลให้อาคารบ้านเรือนกว่า 8 แสน 3 หมื่นครัวเรือนไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหายรุนแรง หลังจากก่อนหน้านี้ ทางการจีนร้องขอให้ประชาชนมากกว่า 10 ล้านคนบนเกาะไห่หนานหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านเพื่อความปลอดภัย รวมทั้งสั่งยกเลิกเที่ยวบินและระงับการให้บริการเรือข้ามฟาก

ส่วนในมณฑลกวางตุ้ง ประชาชนมากกว่า 5 แสน 7 หมื่นคนต้องอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงตั้งแต่เมื่อวานนี้ (6 ก.ย. 67) รวมทั้ง สั่งปิดโรงเรียนใน 10 เมืองเป็นการชั่วคราว และยกเลิกการให้บริการรถไฟความเร็วสูงมากกว่า 140 เที่ยว เพื่อเตรียมพร้อมรับมือพายุ ซึ่งล่าสุด ยังไม่มีรายงานความเสียหายรุนแรงโดยถือเป็นหนึ่งในมาตรการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ ซึ่งพัดเข้าถล่มมณฑลกวางตุ้งเมื่อคืนที่ผ่านมา ถือเป็นการพัดขึ้นชายฝั่งจีนเป็นครั้งที่ 2 โดยมีความเร็วลมเกิน 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

พายุลูกนี้ ได้ชื่อว่า เป็นพายุหมุนเขตร้อน ที่รุนแรงเป็นอันดับ 2 ของโลกในปีนี้ รองจาก เฮอร์ริเคนแบรีล ในแอตแลนติกโดยสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน ระบุว่า พายุลูกนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตในมณฑลไห่หนานไปแล้วอย่างน้อย 2 คน และบาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 92 คน

อิทธิพล “ยางิ” กระทบธุรกิจในเวียดนาม

ขณะที่ธุรกิจห้างร้านในเมืองชายฝั่งทางตอนเหนือของเวียดนามปิดให้บริการ ส่วนประชาชนเริ่มกักตุนอาหารและของจำเป็นกันตั้งแต่เมื่อวานนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือพายุ ซึ่งคาดว่าจะพัดขึ้นฝั่งเวียดนามในช่วงบ่ายวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น

ด้านสำนักงานการบินพลเรือนเวียดนามประกาศขยายระยะเวลาการปิดสนามบินในกรุงฮานอย เนื่องจากกังวลถึงอิทธิพลจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ หลังจากก่อนหน้านี้สั่งปิดสนามบิน 4 แห่งในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ

นอกจากนี้ยังได้ร้องขอให้สายการบินภายในประเทศเตรียมเชื้อเพลิงสำรองของเที่ยวบินต่างๆ ในช่วง 2 วันนี้ เผื่อกรณีฉุกเฉิน หากจำเป็นจะต้องเปลี่ยนเส้นทางบินไปลงจอดที่สนามบินอื่นๆ หรือเที่ยวบินล่าช้าด้วย

ก่อนหน้านี้ สำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม ประกาศขยายระยะเวลาการปิดสนามบินในกรุงฮานอย เนื่องจาก กังวลถึงอิทธิพลจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ หลังจากก่อนหน้านี้ สั่งปิดสนามบิน 4 แห่ง ในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ

พายุ “ยางิ” ไม่เข้าไทยตรง ๆ แต่อิทธิพลของพายุลูกนี้จะทำฝนตกหนักถึงหนักมาก ภาคเหนือ -อีสาน

ด้าน กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่อง พายุ “ยางิ”ฉบับที่ 15 (174/2567) ของวันนี้ (7 ก.ย. 67) พายุไต้ฝุ่น “ยางิ” บริเวณอ่าวตังเกี๋ย มีศูนย์กลางทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม ประมาณ 280 กิโลเมตร มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 155 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 20 กม./ชม. คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกว๋างนินห์ ประเทศเวียดนาม ในวันนี้ (7 ก.ย. 67) หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน และพายุดีเปรสชันตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมาก กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ในช่วงวันที่ 7-8 ก.ย. 67

ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 8 ก.ย. 67 นี้ไว้ด้วย

พายุ ยางิ จะกระทบไทย จังหวัดไหน?

เมื่อพายุเข้าเวียดนาม จะอ่อนกำลังลง แต่หางพายุจะทำให้ฝนตก ในภาคเหนือและอีสานของไทย

วันที่ 7-8 กันยายน 2567 คาดว่า ฝนจะตกที่ นครพนม สกลนคร และบึงกาฬ

ส่วน วันที่ 8-9 กันยายน อิทธิพลของพายุ จะมีผลทำให้ หนองคาย อุดรธานี และเลย มีฝนตกหนักถึงหนักมาก

ส่วนวันที่ 9-10 กันยายน ให้ระวังฝนตกหนักเสี่ยงท่วม ที่น่าน เชียงราย พะเยา

เตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมและน้ำไหนไหลหลากเพิ่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน 7-9 กันยายน 2567

เหนือ: จ.ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์

อีสาน : เลย หนองคาย บึงกาฬ อุบลราชธานี

ตะวันออก : นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด

ใต้ : ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล

สถานการณ์อุทกภัย (วันที่ 6 ก.ย. 67)

จ.เชียงราย : อ.ขุนตาล อ.พญาเม็งราย

จ.สุโขทัย : อ.สวรรคโลก อ. ศรีสำโรง อ. คีรีมาศ

จ.สุโขทัย : อ.สวรรคโลก อ. ศรีสำโรง อ.คีรีมาศ อ. กงไกรลาศ

จ.พิษณุโลก : อ.พรหมพิราม อ.บางกระทุ่ม อ.บางระกำ อ.เมืองฯ อ.ชาติตระการ

จ.นครสวรรค์ : อ.ชุมแสง

จ.อ่างทอง : อ.โพธิ์ทอง อ. วิเศษชัยชาญ อ. แสวงหา อ. ป่าโมก

จ.พระนครศรีอยุธยา : อ.เสนา อ. บางบาล อ. ผักไห่ อ. บางไทร อ. พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน

เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา

แม่น้ำยม

แม่น้ำแควน้อย

แม่น้ำจันทบุรี

แม่น้ำตราด

แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

แม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา

ส่วนการคาดการณ์ ช่วงวันที่ 9 – 12 ก.ย. 67

ร่องมรสุมจะพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active