หวั่นนโยบาย ‘แก้หนี้’ เสี่ยงสร้างหนี้สาธารณะ

นักวิชาการ ระบุ บางพรรคขายฝันนโยบายแก้หนี้ ใช้งบฯ มหาศาลแสนล้านบาท หากพลาด กลายเป็นหนี้สาธารณะก้อนใหม่ แนะแก้หนี้ที่ต้นเหตุ สร้างรายได้ เน้นวินัยการเงิน 

วันนี้ (8 พ.ค.66) The Active รีวิวนโยบายแก้หนี้ของพรรคการเมืองที่ใช้หาเสียงในเวลานี้ สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ นโยบายพักต้น พักดอก, นโบายเติมเงินผ่านกองทุนหมู่บ้าน หรือสถาบันการเงินชุมชน และ นโยบายกู้ฉุกเฉินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า 1 ใน 3 คนไทยมีหนี้ 37% หรือ 25 ล้านคน 57% มีหนี้เกิน 100,000 บาท 14% มีหนี้เกิน 1,000,000 บาท และมูลค่าหนี้เฉลี่ย 520,000 บาท/คน รวมทั้งคนไทยยังมีหนี้ 4 บัญชีขึ้นไป เช่น บัตรเครดิต, หนี้รถ, สินเชื่อส่วนบุคคล, บ้าน คิดเป็น 32% 

โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ 

โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) เปิดเผยกับ The Active ว่า นโยบายส่วนใหญ่ที่พรรคการเมืองกำลังหาเสียงอยู่เป็นนโยบายแก้หนี้ระยะสั้น และใช้งบประมาณสูง ขณะที่การช่วยเหลือลูกหนี้ ควรจะต้องพิจารณากลุ่มที่เร่งด่วนมากกว่าจะเน้นทุกคน เช่น คนที่กำลังเป็นหนี้เสีย กลุ่มคนที่จ่ายหนี้ไปเรื่อย ๆ แต่เป็นเพียงการจ่ายดอกเบี้ย หรือการจ่ายขั้นต่ำ และกลุ่มสุดท้ายคือ หนี้นอกระบบ

“แต่ละนโยบายที่เห็นไม่ใช่ไม่ดี แต่ต้องทำให้ครบวงจรของการแก้ปัญหา เน้นแก้ระยะยาว เสริมสร้างรายได้ สร้างวินัยแรงจูงใจในการชำระหนี้ และสุดท้ายต้องแก้ที่สาเหตุ อย่าง พักต้น พักดอก จะต้องระบุชัดเจนว่า จะช่วยกลุ่มไหน แต่เวลานี้ไม่เห็น ส่วนนโยบายการกู้ฉุกเฉินผ่านบัตร เชื่อว่านโยบายนี้อยากแก้หนี้นอกระบบ ส่งเสริมคนฐานรากให้เข้าถึงทุนแหล่งเงินทุนได้ แต่ก็เสี่ยงว่าจะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ จะเห็นว่าช่วงสถานการณ์โควิดมีมาตรการช่วยเหลือแบบเดียวกัน แต่ศักยภาพของการชำระหนี้ต่ำ มาตรการนี้ทำให้คนฐานรากสูญเสียเครดิตในระบบ รัฐเสียงบประมาณ เพราะว่าวิธีการจ่ายเงินคืนไม่ได้คำนึกถึงธรรมชาติที่สอดคล้องกับวิถีของเขา”

โสมรัศมิ์ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า นโยบายเติมเงินผ่านสถาบันการเงินชุมชน กองทุนหมู่บ้านซึ่งมีมากว่า 97, 000 กองทุน นโยบายนี้ดี และที่ผ่านมา พบว่าสถาบันการเงินชุมชนที่มีศักยภาพสามารถหมุนเวียนเงินภายในกองทุนให้งอกเงยได้ ซึ่งปัจจัยเป็นเพราะมีผู้นำที่เข้มแข็ง หากนโยบายนี้จะต่อยอดควรเน้นเพิ่มศักยภาพในการตรวจสอบ การใช้เทคโนโลยีที่เข้าไปช่วยกลไกภายในชุมชนให้โปร่งใส มีการรายงานอย่างเป็นระบบเพราะที่ผ่านมาเรื่องนี้ยังมีข้อจำกัด 

“ไม่อยากให้มองเพียงกองทุนที่เป็นกองทุนด้านการเงิน แต่ควรสนับสนุนเงินทุนสำหรับการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่เป็นการส่งเสริมอาชีพด้วย ให้ชาวบ้านมีทุนหมุนเวียน หากมองครอบคลุมกลุ่มนี้ด้วยก็จะเป็นผลดี ส่วนกองทุนที่ยังขาดระบบจัดการหรือขาดทุนอยู่ต้องมีแรงจูงใจในการบริหารจัดการเงินใหม่ ตรวจสอบได้ ถึงจะเติมเงินอีกครั้ง”

นักวิชาการ ยังทิ้งทายว่า ประชาชนควรจะเข้าใจ นโยบายทุกนโยบายที่กำลังหาเสียงว่าหากเกิดขึ้นจริง งบประมาณที่จะถูกใช้ดำเนินนโยบาย เป็นภาษีที่มาจากประชาชนทุกคน ซึ่งบางนโยบายใช้งบประมาณสูงถึงแสนล้านบาท และหากนโยบายนี้ไม่สามารถออกแบบประสิทธิภาพของกลไกในการจ่ายเงินคืนให้แก่รัฐ จะกลายเป็นหนี้สาธารณะก้อนใหม่ ในขณะที่กลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือหากทำไม่เป็นระบบไม่ครบวงจร ลูกหนี้ก็จะยังไม่สามารถออกจากวังวนหนี้สินได้เช่นเดิม การแก้หนี้ที่ยั่งยืนควรมองให้ครอบคลุมทั้งมิติรายได้สวัสดิการและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active