สะท้อนตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของทรัพยากร แหล่งอาหารสัตว์ทะเล ผลจากการอนุรักษ์ในพื้นที่ ด้านชาวประมงพื้นบ้านเรียกร้อง รัฐสนับสนุนออกมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อความยั่งยืนท้องทะเล
วันนี้ (28 พ.ค.65) เข้าสู่วันที่ 2 ของกิจกรรม “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู“ รณรงค์หยุดจับ-ซื้อ-ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน จากทะเลจังหวัดชายแดนใต้ จ.ปัตตานี ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จัดโดยสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย
ช่วงเช้าได้ปล่อยขบวนเรือ จากชายหาดสวนกง จ.สงขลา โดยมีตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน นำโดย รุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ มอบธงส่งต่อการรณรงค์ให้กับ ดลหะหรีม บิลหมาน นายกสมาคมพื้นบ้านอำเภอสิงหนคร เพื่อรณรงค์ล่องเรือต่อไปยังเกาะหนู เกาะแมวสัญลักษณ์ทะเลสงขลา ซึ่งเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน ภาคประชาชนที่นั่น กำลังขับเคลื่อนเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลฟื้นคืนความมั่นคงทางอาหารและการท่องเที่ยว
ล่องเรือไปได้ครึ่งทาง พบฝูงโลมาหลายตัว ว่ายน้ำในทะเลสงขลา ซึ่งห่างจากฝั่งไม่ถึง 2 กิโลเมตร สร้างความตื่นเต้นประทับใจให้กับคนบนเรือ อย่าง พรชัย นาคสีทอง ที่มาในฐานะนักท่องเที่ยว ขอร่วมรณรงค์ครั้งนี้บอกว่ารู้สึกตื่นเต้น เพราะไม่เคยเห็นโลมาตัวเป็น ๆ และมากันเป็นฝูงหลายตัว
“เคยเห็นแต่ในคลิป วันนี้ได้เห็นตัวเป็นๆ ตื่นเต้นมากครับ ก่อนหน้านี้เคยมาที่นี่ก็ไม่เคยโชคดีได้เห็น ยังแอบคิดเล่นๆ เหมือนโลมากลุ่มนี้มาให้กำลังใจ มาส่งขบวนเรือรณรงค์นี้ และทำให้เห็นว่าทะเลที่นี่ยังมีความอุดมสมบูรณ์“
พรชัย นาคสีทอง
บรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย บอกว่า ฝูงโลมา เป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงความอุดมสมบูรณ์ทรัพยากรทะเลสงขลา แสดงว่าชายฝั่งทะเลแถบนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีสัตว์น้ำวัยอ่อนที่เป็นอาหารของโลมาซึ่งพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลสงขลา ชาวประมงพื้นบ้านได้ช่วยกันทำการฟื้นฟูและอนุรักษ์ เช่นการทำซั้งกอ หรือบ้านปลา และตอนนี้กำลังฟื้นการท่องเที่ยวให้เกาะหนู เกาะแมว เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ที่ไม่ใช่แค่จะสร้างความยั่งยืนทางรายได้ให้กับชาวประมง ผู้ประกอบการที่พักต่างๆในพื้นที่ แต่นักท่องเที่ยวหรือผู้บริโภค จะสามารถเข้ามาเป็นผู้ผลิตหรือหาอาหารทะเลได้ด้วยตัวเอง มาท่องเที่ยวตกปลา จับปลาไปกินเองได้ โดยอยู่ภายใต้กติกา คือจับสัตว์น้ำตัวเต็มวัย เป็นความมั่นคงทางอาหาร ความยั่งยืนทางรายได้จากท้องทะเลที่ทุกฝ่ายได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ด้านดลหะหรีม บิลหมาน นายกสมาคมพื้นบ้านอำเภอสิงหนคร สะท้อนความกังวล เพราะแม้จะมีความพยายามในการอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ แต่ต้องยอมรับว่าภาพรวมของทรัพยากรทางทะเลลดน้อยลงมาก ปัจจัยสำคัญคือยังมีเรือปั่นไฟ เรืออวนลากคู่ ที่จับสัตว์น้ำวัยอ่อนทั้งสัตว์หน้าดินและในทะเล ตัดห่วงโซ่วงจรชีวิตสัตว์ทะเล กระทบต่อระบบนิเวศโดยภาพรวม
“ตัวชี้วัดชัดเจน คือปลาทู เมื่อก่อนมีเยอะมาก สมัยผมเริ่มทำประมงใหม่ๆ โลละ 10 กว่าบาท แต่ตอนนี้หาได้ลดลง เมื่อมีจำนวนน้อยลง ผู้บริโภคต้องซื้อในราคาที่สูงขึ้น ตอนนี้ตัว 6-7 โล ขายจากชาวประมงโลละ 100 บาทซื้อในตลาดตกโลละ 120-150 บาท แต่หากเราทุกฝ่ายตระหนักช่วยกันอนุรักษ์ไม่จับ ไม่ขาย ไม่ซื้อลูกปลาทูและสัตว์น้ำวัยอ่อน ให้ได้เติบโตเต็มวัยเพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้บริโภคจะเข้าถึงได้มากขึ้น ราคาถูกแถมยั่งยืน“
ดลหะหรีม บิลหมาน นายกสมาคมพื้นบ้านอำเภอสิงหนคร
ชาวประมงพื้นบ้านสงขลา จึงเรียกร้องรัฐต้องมีมาตรการในการหนุนเสริมและควบคุมการทำประมงผิดกฎหมายและทำลายล้าง ทั้งเรื่องการยกเลิกเครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง กวาดต้อนสัตว์ทะเลวัยอ่อน รวมถึงมีมาตรการควบคุมห้ามการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน กำหนดขนาดสัตว์น้ำที่ไม่สามารถจับได้อย่างชัดเจน
โดยในวันพรุ่งนี้( 29 พ.ค.) ขบวนรณรงค์ยุติการจับ-ขาย-ซื้อ สัตว์น้ำวัยอ่อน จากทะเลสงขลา -นครศรีธรรมราช จะล่องเรือส่งไม้ต่อให้กับพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะที่ฝั่งอันดามันจะมีการรณรงค์จากจังหวัดสตูล จังหวัดตรัง คาดว่าจะล่องเรือถึงแม่น้ำเจ้าพระยาในวันที่ 6 มิถุนายนนี้