กรมอุทยานฯ ชี้ ผู้สัมผัสเสี่ยงติดเชื้อ “ซาลโมเนลลา” ขู่ผู้ลักลอบปล่อย จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท
วันนี้ (15 พ.ย.66) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงกรณีที่ได้เกิดสถานการณ์ “อีกัวนาเขียว” สัตว์ต่างถิ่นแพร่กระจายพันธุ์เป็นจำนวนมากในพื้นที่ชุมชนเขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตร ตลอดจนการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว
กรมอุทยานฯ ชี้แจงว่า อีกัวนาเขียว เป็นสัตว์ป่าควบคุมกลุ่มที่ 1 สัตว์ป่าที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ลำดับที่ 690 อีกัวนาทุกชนิดในสกุล Iguana : มาตรา 9 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ 2562 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าควบคุม พ.ศ. 2565 โดยอิกัวนาเขียวมักพบ เชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งคนอาจติดเชื้อจากการสัมผัสโดยตรง และทางอ้อมจากการขับถ่ายของเสีย ไว้ตามทาง ถนน บ้านเรือนอาจปนเปื้อนอาหาร ซึ่งจะมีอาการอาเจียน ท้องเสียได้ ซึ่งทีมสัตวแพทย์ของกรมอุทยานฯ ได้เข้าพื้นที่ทำการตรวจเชื้อและเก็บตัวอย่าง เพื่อไปตรวจสอบว่าอิกัวนาเขียวบริเวณดังกล่าว จะพบเชื้อซาลโมเนลลาหรือไม่
แนวทางป้องกัน แก้ไขปัญหาแพร่กระจายพันธุ์ “อีกัวนาเขียว”
- หากมีการพบเห็นอิกัวนาเขียว ให้โทรฯ แจ้งทางสายด่วนหมายเลข 1362 กรมอุทยานฯ จะประสานเจ้าหน้าที่ในบริเวณใกล้เคียง ไปดำเนินการดักจับเพื่อนำส่งไปดูแลตามสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า และศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่มีอยู่ทั่วประเทศ
- ผู้ที่ครอบครองอีกัวนาเขียว ให้มาแจ้งการครอบครองต่อเจ้าหน้าที่ สำหรับในพื้นที่ต่างจังหวัดให้แจ้งต่อสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ในท้องที่รับผิดชอบในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้แจ้งต่อกองคุ้มครองพันธุ์พืชป่าและสัตว์ป่า ตามอนุสัญญากรมอุทยานฯ
- ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ครอบครองสัตว์ป่าต่างประเทศ ต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายโดยไม่ปล่อยให้สัตว์ที่อยู่ในครอบครองเป็นอิสระ ซึ่งการปล่อยสัตว์ป่าควบคุมมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ต้องเลี้ยงไปตลอดชีวิต และหากไม่ประสงค์จะเลี้ยงให้แจ้งและส่งมอบให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับไปดูแล
ทั้งนี้ในวันที่ 16 พ.ย. กรมอุทยานฯ ฯ โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี จะลงพื้นที่เพื่อดำเนินการสำรวจและดักจับอีกัวนาเขียว ท้องที่ จ.ลพบุรี พร้อมสำรวจอีกัวนาเขียวที่ไม่มีผู้ครอบครองทั่วประเทศ และดำเนินการดักจับเพื่อนำมาดูแลต่อไป
ในรอบ 20 ปี ไทยนำเข้ากว่า “อิกัวนา” 5,800 ตัว
ข้อมูลจาก Thai PBS News ระบุว่า ข้อมูลการนำเข้าสัตว์เลื้อยคลานและอีกัวนาของประเทศไทยจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่าระหว่าง ปี 2000 – 2021 แบ่งเป็น “สัตว์เลื้อยคลาน” จำนวน 199 ชนิด ทั้งหมด 238,774 ตัว จาก 72 ประเทศ 6 ภูมิภาค คือ แอฟริกา ยุโรป เอเชีย อเมริกากลาง อเมริกาเหนือ โอเชเนียร์ ในจำนวนนี้เป็น “อิกัวนา” 5,877 ตัว จาก 11 ประเทศ 5 ภูมิภาค คือ อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง เอเชีย แอฟริกา
ทั้งนี้ ในปี 2562 รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ไฟเขียวให้ผู้ถือครองที่อยู่อาศัยในรัฐฟลอริดาไม่จําเป็นต้องขออนุญาตเพื่อกําจัดอิกัวนา หากพบอยู่ในบริเวณที่อยู่อาศัยของตัวเอง โดยทางคณะกรรมการสนับสนุนให้กําจัดได้โดยเร็วที่สุด ด้วย “อิกัวนา” ยังสามารถสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศท้องถิ่น ด้วยการกินพืชและสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก เช่น ผีเสื้อ และหอยทากบางชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ทั้งยังขับถ่ายของเสียไว้ตามทางเท้า หลังคาบ้าน อาคาร นอกจากนี้ ยังเป็นพาหะของเชื้อสกุล “ซาลโมเนลลา” ซึ่งก่อโรคอุจจาระร่วงในมนุษย์