‘วุฒิสภา’ ไฟเขียว รายงานข้อเสนอต่อสิทธิ LGBTQIAN+

แนะรัฐบาลเร่งผลักดันร่างกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ และฉบับอื่น ๆ ตามข้อเสนอภาคประชาชน ส่งเสริมความเสมอภาค ขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

วันนี้ (12 มี.ค.67) ที่ประชุมวุฒิสภาที่มี ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณา รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอต่อสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธาน กมธ.การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ชี้แจงสาระสำคัญของรายงานฉบับนี้ว่า กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) เป็นกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ หรือรสนิยมทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด ปัจจุบันแม้ว่าสังคมไทยยอมรับกลุ่ม LGBTQIAN+ มากขึ้นจากอดีต แต่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำ ทั้งการเข้าถึงกฎหมายและสิทธิความเสมอภาคต่าง ๆ การละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้ง การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ยังคงตั้งอยู่บนแนวคิดเรื่องระบบสองเพศ (Binary Sexes) ที่จำแนกเพศออกเป็นเพศชายและหญิง ทำให้กลุ่ม LGBTQIAN+ กลายเป็นคนส่วนน้อยที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมและระบบกฎหมาย

ข้อจำกัดและอุปสรรคของการยอมรับความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย มีสาเหตุสำคัญมาจากกำหนดสถานะทางสุขภาพตามแนวทางที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ส่งผลทำให้กลุ่ม LGBTQIAN+ ต้องถูกตีตรา และกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายของการใช้ความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติอย่างกว้างขวาง ทั้งจากสังคมและระบบกฎหมาย นอกจากนั้น การละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังเกิดจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมจากสังคมและระบบกฎหมาย

ทั้งนี้ แต่เดิมประเทศไทยมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และกำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งพบว่ามีปัญหาและข้อเสนอแนะอยู่หลายประการ กมธ. จึงได้จัดทำรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอต่อสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

ทัศนา ยุวานนท์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี และผู้มีความหลากหลายทางเพศ วุฒิสภา บอกว่า เมื่อพิจารณาจากกฎหมาย สิทธิของ LGBTQIAN+ ในประเทศไทย ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 27 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งบัญญัติว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิดเชื้อชาติ ภาษา เพศอายุความพิการสภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือ สังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้”  

จากบทบัญญัติดังกล่าวทำให้การคุ้มครองกลุ่ม LGBTQIAN+ ในปัจจุบันจึงอยู่ภายใต้หลักการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ โดยมีความหมายรวมถึงความหลากหลายทางเพศ แม้ว่าต่อมาในปี 2558 ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เพื่อปกป้องคุ้มครองบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ยังคงเกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ บอกว่า รายงานฉบับนี้ มีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ต้องเร่งผลักดันให้ “แนวปฏิบัติด้านการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” ตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 แบ่งเป็น 6 ด้าน คือ

  • การให้บุคลากรและนักศึกษาสามารถแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศภาวะของบุคคลตามข้อบังคับของสถานศึกษา

  • การจัดพื้นที่ที่เหมาะสมกับบุคคลหรือเพศสภาพ

  • การประกาศรับสมัครงานโดยไม่ต้องระบุเพศสภาพ

  • การเสริมสร้างความรู้ให้กับบุคคลในองค์กรให้เข้าใจเพศสภาพของแต่ละบุคคลเพื่อไม่ให้เกิดการตีตราหรือลดทอนคุณค่าของบุคคลทุกเพศ เคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคล

  • การส่งเสริมให้สรรหาบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าร่วมเป็นกรรมการในทุกระดับ

  • การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงาน

นอกจากนั้น กระทรวงสาธารณสุข ต้องสร้างความเข้าใจและพัฒนาศักยภาพของแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกคนในสถานพยาบาลให้สามารถปฏิบัติงานโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้รับบริการสุขภาพที่เป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่แสดงถึงการต้อนรับไม่ตัดสินและไม่เลือกปฏิบัติ

ตลอดจนส่งเสริมให้ระบบสาธารณสุขให้บริการที่มีคุณภาพและครบถ้วนรอบด้านบุคคลข้ามเพศให้การยอมรับและเข้าถึงได้และเป็นการให้บริการที่แก้ปัญหาความจำเป็นทางสุขภาพของบุคคลข้ามเพศอย่างตรงจุด

แนะรัฐบาลควรผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

อนุพร อรุณรัตน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า รัฐบาลควรผลักดันร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เนื่องจากการก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

จึงสมควรผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อรองรับให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง อันเป็นการตอบสนองความเสมอภาคของบุคคลและเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเคารพสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในสังคม

ขณะที่ วัลลภ กล่าวย้ำว่า ประเด็นการสร้างครอบครัวของคู่รักเพศหลากหลาย ถือเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจอยู่ในเวลานี้ ซึ่งความคืบหน้าในชั้น กมธ. ศึกษาร่างกฎหมาย น่าจะใช้เวลาอีกซักระยะหนึ่ง

“เรากำลังรอคอยกฎหมายฉบับหนึ่ง คือ การก่อตั้งครอบครัวของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ไม่แน่ใจว่าจะทันในสมัยของวุฒิสภาชุดนี้หรือไม่ คงเป็นโอกาสที่ต้องรอให้เวลานั้นมาถึง”

วัลลภ  ตังคณานุรักษ์

ทั้งนี้ ภายหลังจากสมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายอย่างกว้างขวางแล้ว ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบรายงานฉบับนี้ พร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ และมีมติให้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active