ชี้ แม้ขัดต่อหลักคำสอน แต่สามารถให้พื้นที่กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ รองรับวิกฤตศรัทธา เปิดช่องให้กฎหมายยกเว้นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม
นับถอยหลังอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ จะครบกำหนดที่รัฐสภา โยนกลับ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ) หรือ สมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ให้ ครม.นำไปพิจารณาเพิ่มเติม 60 วัน เนื่องจากเห็นว่ายังมีข้อถกเถียงในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือหลักความเชื่อทางศาสนา เนื่องจากเห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม
ส.ส.อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 มีการจัดเสวนา “มุมมองศาสนากับ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม” ผ่านตัวแทนศาสนาต่างๆ ประกอบด้วย มูฮัมหมัดเฟาซี แยนา สถาบันวะสะฏียะฮ์ เพื่อสันติภาพและการพัฒนา สำนักจุฬาราชมนตรี ,พระมหานภัณต์ สันติภัทโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ,บาทหลวงไพศาล เต็มอรุณรุ้ง สังฆมณฑลเชียงใหม่ และเคท ครั้งพิบูลย์ คณะสังคมสงเคราะห์ ม.ธรรมศาสตร์ และนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ
มูฮัมหมัดเฟาซี แยนา เริ่มต้นเปิดประเด็น ด้วยการพูดถึง เหตุการณ์ ที่ ส.ส.ซูการ์โน มะทา ส.ส.พรรคประชาชาติ ลุกขึ้นประท้วงในสภาฯ โดยยืนยันว่าไม่สามารถรับหลักการกฎหมายฉบับนี้ได้ ในฐานะที่เป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนที่นับถือในศาสนาอิสลาม ที่จะต้องยึดมั่นต่อหลักการของอัลเลาะห์ จนถูกมองว่าไม่ควรนำเรื่องหลักศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวบทกฎหมายนั้น อยากให้เข้าใจว่า ในทางอิสลามมีบรรทัดฐานและที่พึ่ง ตามพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน หรือ ธรรมนูญชีวิตของผู้ที่ยึดถือปฏิบัติ รวมถึงมี “ศาสดามูฮัมหมัด” ที่เป็นแม่แบบนำสาส์นจากพระผู้เป็นเจ้ามาบอกกับคนทั้งโลก ว่ามนุษย์ถูกสร้างมาจาก ชาย 1 คน หญิง 1 คน แม้กระทั่งเกสร ผึ้ง ที่ถูกสร้างมาเป็นคู่ๆ โดยมีเป้าหมายในการอยู่ร่วมกันคือการสืบสกุล สร้างทายาท ยกระดับความมีคุณค่าของมนุษย์ที่ถูกกำหนดมา แต่เมื่อโลกมีเริ่มรู้จักครอบครัวที่มีเพศหลากหลายในทางอิสลามก็อาจจะเกิดความสับสนว่าจะสร้างความมีคุณค่า หรือสานต่อความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่มีแนวโน้มไม่ยึดมั่นในหลักคำสอน หรือ ไม่ต้องการมีศาสนา กลายเป็นวิกฤตศาสนาในที่สุด แต่นั่นก็เป็นเพียงข้อสงสัยในศาสนาอิสลามเท่านั้น
“หลักการศาสนาอิสลามนั้น ผู้ใดที่เห็นด้วยกับการกระทำนั้นก็อาจจะตกเป็นเป้าของการที่พระผู้เป็นเจ้าจะต้องลงโทษเขา แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะให้ทางออกกับคนอื่นๆ ที่จะสามารถใช้กฎหมายนี้ได้ตามความเชื่อถือของเขา ถ้ามีข้อยกเว้นใน พ.ร.บ. เช่น ยกเว้นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากขัดกับศีลธรรม หลักคำสอน อย่างสิ้นเชิง ก็จะเป็นความสวยงามมากกว่า”
มูฮัมหมัดเฟาซี แยนา
บาทหลวงไพศาล เต็มอรุณรุ้ง อธิบายตามหลักศาสนาคริสต์ ไว้ว่า ตั้งแต่ปี 1990 องค์การอนามัยโลกนำการรักเพศเดียวกันออกจากบัญชีอาการเจ็บป่วยทางจิต และปี 1994 องค์การสหประชาชาติ ประกาศเป็นปีแห่งครอบครัว พระสันตะปาปาปายอห์น ปอลที่ 2 ได้ออกเอกสารฉบับหนึ่งซึ่งเวลามีการเปลี่ยนแปลงในศาสนจักรคาทอลิกจะกลับมาที่จุดเริ่มต้น บนพื้นฐานพระคัมภีร์ เพื่อเตรียมพร้อมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับการดำเนินชีวิตของคนแต่ละยุคมีการเดินทางร่วมกัน แม้จะยึดมั่นในหลักคำสอนคล้ายกับอิสลามในเรื่องการกำเนิดของมนุษยชาติ แต่ก็ยังเปิดพื้นที่ให้กับการพัฒนาวิถีชีวิตผู้ที่ไม่ได้แต่งงานก็ถือว่าคนเหล่านั้นเข้าถึงชีวิตศักดิ์สิทธิ์ได้ รับรู้ปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิ สวัสดิการ การรักษา ศาสนาจักรจึงเตรียมพร้อมที่จะค้นหาว่ามีพื้นฐานอะไรที่ทำให้มนุษย์เกิดความเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ทำลายมวลมนุษยชาติ แต่ทำให้เห็นว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) เดินไปบนเส้นทางศักดิ์สิทธิ์ได้
“การค้นพบชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ของเราในโลกนี้ เราสามารถแสวงหาได้ ดังนั้นการจะใช้กฎหมายอะไร ศาสนาจักรเห็นอยู่แล้วว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่ผ่านมาตั้งแต่ครอบครัว ให้เราดูความเป็นจริง ฉะนั้นเราเห็นแล้วว่าประเทศไทยมี LGBTIQN+ ประมาณ 7 ล้านคน ขอให้เราเรียนรู้ อวยพร และเดินทางด้วยกัน ทุกๆ คนไม่ว่าเพศอะไร คือ ฉายาลักษณ์ของพระเจ้า”
บาทหลวงไพศาล เต็มอรุณรุ้ง
พระมหานภัณต์ สันติภัทโท ที่มาพร้อมกับตุ๊กตาหมีใส่กางเกงสีม่วง กล่าวถึง ปัญหาวิกฤตศรัทธา ว่าศาสนาเป็นเรื่องในพระคัมภีร์ แต่หากศาสนาไม่สามารถนำมาให้คนหรือสังคมในโลกปัจจุบันเกิดสันติสุขได้ เท่ากับคำสอนนั้นตายไปแล้ว วันนี้การที่นักบวชที่เกี่ยวข้องเตรียมตัวรับมือ และหาแนวทางกับความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่ควรจะใส่ใจมากกว่า การที่พระอุ้มตุ๊กตาหมีจึงต้องการที่จะสื่อว่าตุ๊กตาไม่จำเป็นต้องถูกเหมารวมว่าต้องอยู่กับสุภาพสตรีเท่านั้น พระก็สามารถที่จะอุ้มตุ๊กตาได้โดยที่พระยังเป็นพระ ดังนั้นบางอย่างจำเป็นต้องเข้าใจในยุคสมัย บริบทของสังคม พร้อมยกตัวอย่างช่วงท้ายของพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับพระภิกษุก่อนปรินิพพานว่า “หากสงฆ์เห็นว่าสิกขาบทใดไม่เหมาะกับเวลา ถ้าสงฆ์เห็นควรก็สามารถเพิกถอนสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ได้” สิ่งที่ประพุทธเจ้าสอนเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญของสังคม จึงอยากชวนให้สังคมที่สงสัยกลับไปดูว่าพระไตรปิฎกสอนไว้ว่าอย่างไร จะมีการตีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรได้บ้างมาช่วยกันทำ
“แม้กฎหมายกับศาสนาแจะแบ่งแยกในรัฐโลกวิสัยอย่างชัดเจน แต่ในความแบ่งแยกนั้นฐานวิธีคิดส่วนใหญ่ของคนก็มาจากศาสนา ซึ่งอาจจะรู้สึกหากไปกระทบกับองค์การพระเจ้า หรือบทบัญญัติศักดิ์สิทธิ์ หากเราคิดที่จะนำกฎหมายมาบังคับสุดท้ายก็จะมีปัญหากับส่วนอื่นๆ ดังนั้นถ้าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนต้องเข้าใจสองส่วนนี้ และทำอย่างไรให้ไปได้ด้วยกัน”
พระมหานภัณต์ สันติภัทโท
ขณะที่ เคท ครั้งพิบูลย์ กล่าวว่า การผลักดันกฎหมายเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดเวทีที่จะได้รับฟังคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งการรับฟังอย่างเข้าใจที่แท้จริงในประเทศไทยยังมีข้อจำกัด และเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่จะทำอย่างไรให้ความเสมอภาคเกิดขึ้นได้จริงๆ ซึ่งประเด็นปัญหาที่ซ้อนทับด้านอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ และขาดความเข้าใจ เพศและศาสนา คือ 2 สิ่งที่ซ้อนทับกัน และถูกทำให้เป็นอื่นเสมอ เป็นผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันกับการถูกยอมรับในสังคม จึงเห็นประวัติศาสตร์สงครามเพียงเพราะความแตกต่างกัน ดังนั้นหากจะผลักดันทั้ง 2 เรื่องนี้ไปด้วยกันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องยึดหลัก ว่าจะทำอย่างไรที่จะสามารถโอบอุ้มคนที่จะต้องต่อสู้ในเรื่องนี้
“เด็กคนหนึ่งจะทำอย่างไรถ้าศาสนาที่ยึดถือปฏิเสธในความเป็นเขาหรือคู่รักของเขา เขาควรที่จะเดินออกจากตรงนั้นหรือเลือกที่จะเป็นตัวเอง การออกแบบนโยบายที่มีความซ้อนทับกันจะช่วยลดคนถูกผลักออกกลับมาสู่การมองเห็นได้มากยิ่งขึ้น และศาสนาเองก็ไม่ได้ละทิ้งผู้คนตามเจตนารมณ์หรือศาสนกิจที่อยากทำเพื่อช่วยเหลือผู้คน”
เคท ครั้งพิบูลย์
เวลานี้ถือเป็นช่วงโค้งสุดท้ายที่ ครม.จะรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนส่งต่อให้สภาฯ รับหลักการ แต่ก็ยังถูกตั้งข้อสังเกตจากบางฝ่ายว่า มีภาคประชาชน หรือนักวิชาการ เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ของกระทรวงยุติธรรม และร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมฉบับประชาชน ที่มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 2.9 แสนคน ซึ่งให้สิทธิ และสวัสดิการ ที่ต่างกันยังเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาไปพร้อมกันด้วย ถึงการสร้างให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมที่ครอบครัว มีความแตกต่างหลากหลาย