‘อังคณา นีละไพจิตร’ ปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ “18 ปี ตากใบ” แนะ รัฐควรแสดงความจริงใจ คุ้มครองสิทธิประชาชนโดยให้สัตยาบันกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำในอนาคต
วันนี้ (25 ต.ค. 2565) ที่ลานจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดกิจกรรม “รำลึกตากใบ รัฐไทยไม่ยอมจำ” ช่วงหนึ่งมีตัวแทนนิสิตอ่านจดหมายปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ จาก อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตอนหนึ่งระบุว่า โศกนาฏกรรมตากใบเหลือเวลาเพียง 2 ปี ในการต่อสู้ทางกฎหมายตามกฎหมายอาญาของไทย แต่ในทางกฏหมายระหว่างประเทศถือว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรง (Mass Atrocities Crime) เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Againts Hmanity) ตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ซึ่งจะทำให้คดีไม่มีอายุความ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีกในอนาคต พร้อม ระบุว่ารัฐบาลควรแสดงความจริงใจโดยในการคุ้มครองสิทธิในชีวิตของประชาชนโดยการให้สัตยาบันกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต
“18 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่จังหวัดนราธิวาส ในปีนั้นตรงกับเดือนรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม…ในวันนั้นผู้ชายหลายคนออกจากบ้านเพื่อหาซื้ออาหารเตรียมละศีลอด เด็กหนุ่มหลายคนออกไปหาซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ให้แม่หรือคนรัก เพื่อใส่ในวันรายอที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วัน…แต่วันนั้นหลายคนไม่กลับบ้าน หลายคนกลับถึงบ้านในเย็นวันรุ่งขึ้นในสภาพที่ปราศจากลมหายใจ หลายคนบาดเจ็บ พิการ…นอกจากนั้นยังมีอีกหลายคนที่ผ่านมา 18 ปีแล้วยังไม่มีใครทราบที่อยู่และชะตากรรมของพวกเขา และพวกเขากลายเป็นบุคคลสาบสูญ และไม่มีโอกาสได้กลับบ้านอีกเลย
ตุลาคม เป็นเดือนประวัติศาสตร์ที่มีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง (atrocity crime) เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งต่างวัน เวลา สถานที่ และต่างความทรงจำ แต่มีความรู้สึกร่วมหนึ่งที่เหยื่อ ครอบครัว รวมถึงสังคมเรียกร้องมาตลอด คือความต้องการทราบความจริง การทวงคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียหาย และการรักษาความทรงจำของเหยื่อ และสังคม แม้จะเป็นความทรงจำของบาดแผลที่เจ็บปวด (traumatic memory) แต่การรักษาความทรงจำถือเป้นการส่วนหนึ่งของการรักษาประวัติศาสตร์ของประชาชน เพื่อไม่ให้ลืม และเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก
18 ปีผ่านไป แต่ภาพของการสลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ยังคงติดตาของผู้คนจำนวนมากไม่เฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้…ภาพของชายชาวมลายูมุสลิมที่ถูกมัดมือไพล่หลัง ถูกบังคับให้ต้องคลานไปกับพื้นดินที่ร้อนระอุ ขณะที่พวกเขากำลังอยู่ในช่วงถือศีลอด ภาพการขนย้ายประชาชนโดยให้นอนทับซ้อนกัน 4-5 ชั้น บนรถบรรทุกของทหารที่มีผ้าใบคลุมปิดทับ และมีเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธควบคุมอยู่ท้ายรถโดยไม่ฟังเสียงร้องคร่ำครวญของคนที่ถูกกดทับที่อยู่ชั้นล่างของรถ จนเสียงคร่ำครวญนั้นเงียบหายไป พร้อมกับชีวิตของคน 78 คน
ผ่านมา 18 ปี “เหตุการณ์ตากใบ” จึงถือเป็นโศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของสังคมไทย โดยจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ คือ การที่รัฐมองว่าประชาชนที่มาชุมนุมเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ทำให้การปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม เป็นไปด้วยความเกลียดชัง ไม่ไว้วางใจ หวาดระแวง และไม่เคารพในสิทธิมนุษยชน และความสูญเสียของชาวตากใบ ก็คงไม่ต่างจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประเทศนี้ที่รัฐไม่เคยสำนึกผิด ไม่เคยเสียใจ ไม่ร่วมทุกข์ ไม่เคยสร้างหลักประกันว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดช้ำอีกในอนาคต และอภิสิทธิ์การลอยนวลพ้นผิดจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกรณีตากใบจึงไม่ใช่เพียงการเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ และการสูญหายของประชาชน ผูู้บริสุทธิ์ หากถือเป็นการสูญเสียความสัมพันธ์ และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐและประชาชน แม้ต่อมารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะให้การชดใช้เยียวยาด้วยตัวเงินแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้พิการ และผู้สูญหาย ด้วยเหตุผลที่เชื่อว่าโศกนาฏกรรมตากใบ “เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ” อย่างไรก็ดี การเยียวยาด้วยตัวเงินไม่ได้นำสู่การเยียวยาทางกฎหมาย เพื่อคืนความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ผู้เสียชีวิต ผู้สูญหายและครอบครัว ทำให้ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล
ที่สำคัญ ความรู้สึกที่ไม่เคยจางหายไปจากจิตใจของประชาชน คือ “ความรู้สึกไม่เป็นธรรม” และ “ความตายที่ไร้ค่าของชาวมลายูมุสลิม” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การจัดงานเพื่อรำลึกเหตุการณ์ จึงเป็นส่วนหนึ่งการรักษาความทรงจำของเหยื่อ และเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาประวัติศาสตร์ของประชาชน แม้จะเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล แต่เราทุกคนควรร่วมกันจดจำ และแม้จะไม่สามารถแก้ไขอดีตได้ แต่การเรียนรู้อดีตจะทำให้ประชาชนสามารถป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และไม่ยอมให้รัฐลุแก่อำนาจในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนดังในอดีต”
อังคณา ยังระบุอีกว่า ในโอกาสครบรอบ 18 ปี เหตุการณ์ตากใบ เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องทบทวนระบบยุติธรรม กรณีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง (atrocity crime) เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้อีกในอนาคต ไม่ปล่อยให้คนผิดลอยนวล และคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อและครอบครัว
“ในโอกาส 18 ปี ตากใบ ดิฉันเขียนปาฐกถานี้ด้วยหัวใจที่ปวดร้าว ดิฉันยังคงมีความหวังว่าสักวัน จะเห็นครอบครัวผู้เสียชีวิตลุกขึ้นมาทวงถามความยุติธรรมจากรัฐ อยากเห็นความกล้าหาญทางจริยธรรมในการทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมของระบบยุติธรรมไทย อยากเห็นความกล้าหาญในการพร้อมรับผิดของผู้กระทำผิด ทั้งนี้ มิใช่เพื่อการแก้แค้น แต่เพื่อการเข้าถึงความจริงของเหยื่อ เพื่อปลดพันธนาการจากความคลุมเครือ และเพื่อยุติวัฒนธรรมการงดเว้นโทษ”
อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นอกจากนี้ ภายในกิจกรรมยังมีการจัดนิทรรศการและวงเสวนา หัวข้อ “17 ปี ภายใตั พ.ร.ก.ฉุกเฉินและกฎหมายพิเศษ”