แรงงานไทยถูกส่งไปอิสราเอล สูญเสียจากสงคราม-การทำงานหนัก นี่ไม่ใช่ครั้งแรก

รมว. แรงงานห่วงชีวิตแรงงานไทยในอิสราเอล หลังพบแรงงานไทยถูกยิงและถูกจับเป็นตัวประกัน จากเหตุขัดแย้งของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ย้อนรอยปี 64 มีแรงงานเสียชีวิต 2 รายจากเหตุสงคราม ขณะผลการวิจัยเผยคุณภาพชีวิตแรงงานย่ำแย่ สถิติย้อนหลังพบแรงงานเสียชีวิตเกินร้อยราย สาเหตุหลักมาจากการทำงานหนักและที่พักผิดสุขลักษณะ

วันนี้ (8 ตุลาคม 2566) พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอลเร่งตรวจสอบและดูแลแรงงานอย่างใกล้ชิดทันที จากกรณีการสู้รบในอิสราเอลบริเวณฉนวนกาซา ขณะที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ประกาศเตือนคนไทยในอิสราเอลให้อยู่ในที่ปลอดภัย

May be an image of 1 person, dais and newsroom

จากรายงานเบื้องต้นพบว่า มีแรงงานไทยถูกยิงที่ขาได้รับบาดเจ็บแล้ว 1 ราย ทราบชื่อคือ นายชาตรี ชาศรี อายุ 38 ปี เดินทางโดยกรมการจัดหางานจัดส่งไปทำงานเกษตร มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่จังหวัดนครพนม จากการตรวจสอบของกรมการจัดหางาน พบว่า เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ ยังพบว่ามีแรงงานไทยอีก 2 ราย ซึ่งเป็นสามีภรรยาถูกจับตัวไว้ ทราบชื่อคือ นายบุญถม พันธ์ฆ้อง อายุ 39 ปี และนางสาวศศิวรรณ พันธ์ฆ้อง อายุ 36 ปี ทั้งคู่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ แถลงหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศว่า ขณะนี้สถานทูตไทยในอิสราเอล เป็นศูนย์กลางในการประสานงานดูแลคนไทย โดยได้รับรายงานจากเอกอัครราชทูตไทยในกรุงเทลอาวีฟแล้ว ยืนยันมีผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ 2 ราย ส่วนคนบาดเจ็บเบื้องต้นคือ 8 คน มี 2 คนที่อาการสาหัส ขณะนี้ไทยได้เตรียมความพร้อมเพื่ออพยพคนไทยกลับจากประเทศอิสราเอลแล้ว โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศหากมีความชัดเจน

จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานเผยว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลรวมทั้งสิ้นประมาณ 29,900 คน โดยเป็นแรงงานที่อยู่อาศัยบริเวณเมือง Netivot, Sderot, Ashkelo และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับฉนวนกาซา ประมาณ 5,000 คน โดยสงครามที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตแรงงานไทย

ถอดบทเรียนปี 2564: แรงงานไทย 2 รายเสียชีวิตจากเหตุสงคราม

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 Al Jazeera และ BBC รายงานว่า จากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ทำให้มีแรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิต 2 คน และมีผู้บาดเจ็บอีก 7 คน จากจรวดที่ยิงถล่มอิสราเอล ซึ่งเป็นแรงงานที่ถูกส่งตัวไปโดยกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

ทางการอิสราเอลยืนยันชดเชยให้กับภรรยาและบุตรของผู้เสียชีวิตทุกคน โดยภรรยาจะได้รับเงินช่วยเหลือ 36,000 บาททุกเดือน ส่วนบุตรได้รับประมาณ 6,000 – 12,000 บาททุกเดือนจนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่ หรือบุตรมีอายุครบ 18 ปี ขณะที่ ผู้เสียหายจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ดังนี้

  • กรณีได้รับบาดเจ็บ จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกินคนละ 30,000 บาท
  • กรณีเสียชีวิตจะได้เงินช่วยเหลือ 80,000 บาท แบ่งออกเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท

หลังเกิดเหตุสูญเสียในปีนั้น ทางรัฐบาลและหน่วยงานของไทยในอิสราเอลเชื่อมั่นว่า รัฐไทยพร้อมดูแลความปลอดภัยแรงงานไทย ซึ่งทางกระทรวงแรงงานเคยมีประสบการณ์อพยพคนกลับมาแล้วหนึ่งครั้ง แต่จากการสอบถามพบว่าแรงงานไทยส่วนใหญ่ในขณะนั้นยังไม่ต้องการกลับประเทศไทย

ผลการศึกษาพบแรงงานไทยทำงานเสี่ยงภัย แม้อยู่ในช่วงสงคราม

ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เผยข้อมูลว่า อิสราเอลมีความต้องการแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือจำนวนมาก แต่รัฐบาลอิสราเอลอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างชาติใน 4 สาขาอาชีพเท่านั้น คือ การเกษตร ก่อสร้าง พ่อครัวในร้านอาหาร และดูแลคนชรา/พิการ/ป่วย โดยแรงงานไทยเป็นที่ต้องการของนายจ้างอิสราเอลอย่างมาก เพราะมีความขยัน รับผิดชอบ และไว้ใจได้

ด้วยเหตุนี้  รัฐบาลอิสราเอลจึงรักษาโควต้าของแรงงานไทยปีละ 26,000 คน  และในปี 2550 ได้เพิ่มโควต้าอีก 3,000 คน  เพื่อตอบสนองความต้องการของนายจ้างซึ่งส่วนใหญ่ต้องการจ้างจากประเทศไทย แต่อีกด้านหนึ่ง กลับพบปัญหาการละเมิดสิทธิด้านสุขภาพและสวัสดิการของแรงงานอยู่หลายกรณี

BBC รายงานข้อมูลจากฝ่ายแรงงาน สถานทูตไทยในอิสราเอล พบว่าตั้งแต่ปี 2555 – 2561 มีแรงงานไทยเสียชีวิตไปแล้ว 172 คน สาเหตุจากความเจ็บป่วยและการฆ่าตัวตาย และส่วนมากถูกระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า “ไม่ทราบสาเหตุ” และหากดูข้อมูลย้อนหลังไปอีก จากรายงานของทางการอิสราเอลระหว่างปี 2551 – 2556 พบแรงงานไทยเสียชีวิต 122 คน ในจำนวนนี้ 43 คน เสียชีวิตจากการหยุดหายใจฉับพลัน (ไหลตาย) ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า น่าจะมีสาเหตุจากทำงานหนักและที่พักไม่ถูกสุขลักษณะ

จากการศึกษาล่าสุดปี 2564 โดย Kav LaOved (องค์กรช่วยเหลือแรงงานต่างชาติในอิสราเอล) และแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชนอิสราเอล เปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิด้านสุขภาพของแรงงานต่างชาติในภาคเกษตรของอิสราเอล ‘A Land Devouring its Workers: Neglect and Violations of Migrant Agricultural Workers’ Right to Health in Israel’ ผลการศึกษาพบว่า แรงงานภาคเกษตรทำงานหนักมากในสภาพอากาศร้อนจัด บางครั้งแรงงานจะได้รับอันตราย และพักอาศัยในที่พักที่ต่ำกว่ามาตรฐาน 

No photo description available.
ภาพจาก Kavlaoved Agriculture – องค์กร คาฟลาโอเวด

ผลการศึกษายังพบอีกว่า มีแรงงานถึงร้อยละ 90 ต้องทำงานเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ แต่มีเพียงราว 1 ใน 3 เท่านั้นที่ได้รับอุปกรณ์ป้องกันขั้นพื้นฐานจากนายจ้าง ทำให้มีแรงงานถึงร้อยละ 93 ประสบปัญหาทางสุขภาพอย่างต่อเนื่องโดยมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับงานที่ทำ แรงงานครึ่งหนึ่งต้องทนทำงานต่อในวันที่ตนเองเจ็บป่วย และร้อยละ 70 ไม่ได้รับค่าจ้างในวันที่ตนเองขอลาป่วย

รายงานฉบับนี้ยังกล่าวถึงกรณี ที่นายจ้างสั่งให้แรงงานออกไปทำงานในทุ่งโล่งหรือในฟาร์มอยู่บ่อยครั้งในช่วงสงคราม แม้จะอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงถูกโจมตีด้วยจรวด แม้จะมีคำสั่งห้ามจากทางการอิสราเอลแล้วก็ตาม รายงานฉบับนี้จึงขอเรียกร้องให้สร้างสถานที่หลบภัยสำหรับแรงงานทั้งหมดในบริเวณใกล้เขตสู้รบอีกด้วย ตลอดจนแนะจัดให้มีระบบการติดตามและเยียวยาสุขภาพของแรงงานอย่างครอบคลุม กำหนดบทลงโทษนายจ้างที่ละเมิดสิทธิ รวมถึงเพิกถอนใบอนุญาตในการจ้างแรงงานต่างชาติ เพื่อลดปัญหาการละเมิดสิทธิด้านสุขภาพของแรงงานไทย

อ้างอิง

https://www.kavlaoved.org.il/en/wp-content/uploads/sites/3/2021/11/Thai-Workers-Health-Report-Summary-EN.pdf

https://www.bbc.com/thai/resources/idt-sh/thai_in_israel

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG231007204503618

https://transbordernews.in.th/home/?p=7579

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active