บันทึกชีวิต จากปากคำ 24 คู่รักเพศเดียวกัน ทำไมต้อง #สมรสเท่าเทียม

เครือข่ายฯ สถานทูตสหรัฐฯ กสม. เห็นพ้อง ทุกคนต้องเสมอภาคทางกฎหมาย ด้านสมรสเท่าเทียมฉบับประชาชน เดินหน้าสู่กระบวนการล่ารายชื่อ หวังเป็นของขวัญทันวาเลนไทน์ 67

20 ต.ค.2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สถานทูตสหรัฐอเมริกา มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม และภาคีเครือข่าย จัดเสวนา เปิดตัวหนังสือ “บันทึกชีวิต : เส้นทางสู่สิทธิสมรสเท่าเทียม” True Love Stories : Path to Marriage Equality ที่จะฉายภาพให้เห็นการดำเนินชีวิตส่วนหนึ่งของคู่ชีวิตหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ที่บุคคลทั้งสองใช้คำนำหน้านามเดียวกัน เมื่อก่อตั้งครอบครัวอยู่ร่วมกันได้พบกับปัญหาอุปสรรคในด้านสิทธิสวัสดิการต่างๆ ที่ต้องได้รับในฐานะคู่สมรส 

วิลเลียม โดเคอร์โน่ รองผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒธรรมและการศึกษา สถานทูตสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การเปิดตัวหนังสือบันทึกชีวิตฉบับนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่สถานทูตฯ ให้การสนับสนุนแก่มูลนิธิเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสิทธิของ LGBTQIAN+ ในประเทศไทย และเป็นเครื่องมือบอกเล่าเรื่องราวของคู่รักเพศเดียวกัน ย้ำความสำคัญของประเด็นสมรสเท่าเทียม ให้กับสาธารณชนและผู้เกี่ยวข้องในประเด็นนี้

สหรัฐฯ เชื่อว่าสิทธิของ LGBTQIAN+ เป็นหนึ่งในประเด็นสิทธิมนุษยชนสากล ที่ทุกคนสามารถใช้สิทธิของตัวเองได้โดยไร้ข้อจำกัดจากเพศวิถี การแสดงออก และอัตลักษณ์ทางเพศ หรือลักษณะทางเพศ และทุกคนเสมอภาคตามกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ จึงเป็นสาเหตุที่สถานฑูตฯ ได้ทำงานในด้านนี้เพื่อสร้างความก้าวหน้าทั่วโลก ปกป้อง LGBTQIAN+ จากความรุนแรง การถูกข่มเหง การเอาผิดทางอาญา และการเลือกปฏิบัติ โดยสหรัฐฯ จะยังสนับสนุนสิทธิ LGBTQIAN+ ให้ทุกคนได้ใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในประเทศไทย สหรัฐฯ ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรภาคีต่างๆ เพื่อสนับสนุนและสร้างความก้าวหน้าในประเด็นสิทธิมนุษยชนต่อไป

บรรยากาศในการเสวนา เต็มอิ่มไปด้วยเรื่องราวของคู่รักจากหนังสือบันทึกชึกชีวิต 24 คู่ เช่น อาทิตยา สุขเกษม – รามณรงค์ พานทอง ,กฤษฎิ์ธนัฐ ณ เชียงใหม่ – ธีระชัย สิทธิกูลเกียรติ ,พัชรมณฑน์ พัชรยุทธิ – ชัยยุทธิ์ พัชรยุทธิ ,เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง – พวงเพชร เหงคำ ,พลอยนภัส จิราสุคนธ์ – ขวัญพร กงเพ็ชร และ ดลญาดา ไชยชมพู ร่วมด้วย นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ร่วมให้ความเห็นต่อทิศทางสมรสเท่าเทียม และความเสมอภาคทางเพศ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล

ดลญาดา เล่าว่า ตัวเองได้สูญเสียคนรักจากโรคมะเร็ง ก่อนเข้าสู่การเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ 2564   โดยปัญหาจากการเข้าไม่ถึงสิทธิคู่สมรส คือ ตัวเองเป็นข้าราชการครูต้องการใช้สิทธิ สวัสดิการในการเบิกจ่ายยาชนิดพุ่งเป้า เนื่องด้วยราคาตกอยู่ที่ 2,000 บาท เฉลี่ยเดือนละ 120,000 บาท ซึ่งหากเป็นคู่สมรสทั่วไปสามารถใช้สิทธิข้าราชการในการเบิกจ่ายได้ แต่เนื่องจากเป็นคู่รักเพศเดียวกัน ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้จึงไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษา สุดท้ายจึงตกลงกันว่าไม่ขอรับการรักษาต่อ 

“สังคมยอมรับให้เรารักกัน แต่งงานกันได้  แต่ไม่เปิดกว้างในทางกฎหมาย สิทธิต่างๆ เหมือนคู่สมรสชายหญิง ทำให้รู้สึกน้อยใจและเสียใจในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของประเทศไทย เสียภาษีตามกฎหมายแต่กลับไม่ได้สิทธิเหล่านั้น”

เพิ่มทรัพย์ สะท้อนถึงปัญหาในกระบวนการรักษาด้วยเช่นกัน จากการที่คู่ชีวิตประสบอุบัติเหตุ ต้องให้สามี ภรรยา หรือญาติตามกฎหมายมาเซ็นต์รับรองในการผ่าตัด แต่โรงพยาบาลแจ้งว่าตนเองไม่มีสิทธิทางกฎหมาย จำเป็นต้องพาคนในครอบครัวมาเท่านั้น ซึ่งในขณะนั้นแม่ของคู่ชีวิตอยู่ค่อนข้างไกลและสูงอายุมากแล้วจึงไม่สามารถเดินทางมาได้ โชคดีที่ได้ความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ แต่หากกรณีฉุกเฉินร้ายแรง แล้วไม่ได้รับการช่วยเหลือ ไม่รู้ว่าตนเองจะเป็นอย่างไรบ้าง

พัชรมณฑน์ เล่าถึงอุปสรรคในการให้ผลประโยชน์จากประกันชีวิตที่ทำไว้แก่คู่ชีวิต ว่า แม้หลายบริษัทจะให้คู่รักเพศเดียวกันทำได้แล้ว แต่จะเจอเงื่อนไขที่ค่อนข้างละเอียดกว่าคู่สมรสชายหญิง ในขณะที่คู่ชายหญิงแม้จะไม่ใช่คู่สมรสก็สามารถยกผลประโยชน์ให้กันได้ คู่รักเพศเดียวกันกลับทำไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงในชีวิตบั้นปลายที่ไร้หลักประกันชีวิตคู่

ด้านนัยนา กล่าวว่า เรื่องเล่าของคู่รักเพศเดียวกันจากหนังสือฉบับนี้ถือเป็นครูที่สำคัญ เพราะสะท้อนให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมามีการเลือกปฏิบัติกับคนจำนวนมากอยู่ และคนที่รักษากติกา ออกกฏหมาย ระเบียบ ละเว้นไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ เพราะไม่มีเหตุผลใดที่ข้าราชการคนหนึ่ง หรือแม้แต่พนักงานบริษัทเอกชน ไม่ควรจะได้รับสวัสดิการหรือไม่ควรได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกัน ในฐานะที่เป็นคนทำงานและเสียภาษี แต่เหตุผลที่สำคัญคือหลายคนอาจถูกละเมิดสิทธิ และไปละเมิดสิทธิโดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน ซึ่งในครั้งนี้ตัวแทนสส.จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งขณะนี้เป็นแกนนำในการเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก มีคำมั่นสัญญาว่า ครม. เตรียมพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นลำดับต้นๆ ดังนั้นต้องจับตาว่าจะเป็นกฎหมายที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ไทยได้จริงหรือเปล่า

ขณะที่ความคืบหน้าของการเสนอร่างฯ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกันเวลานี้ คือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ… ได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร 2 ฉบับ คือ 

1.ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.. ภาคประชาชนหรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม เสนอโดย ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ประธานสภาผู้แทนราษฎรอนุญาตให้ไปเชิญชวนร่วมลงชื่อ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการรูปแบบให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนกฎหมาย 10,000 รายชื่อ

2.ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ… ที่เสนอโดย สส.ธัญวัจน์ กมลวงค์ สส.พรรคก้าวไกล ในขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ผ่านเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับผู้ที่สนใจหนังสือ “บันทึกชีวิต : เส้นทางสู่สิทธิสมรสเท่าเทียม” True Love Stories : Path to Marriage Equality ที่เป็นการรวบรวมเรื่องราวของคู่รักเพศหลากหลาย 24 คู่ กับปัญหาอุปสรรคที่ต้องประสบพบเจอจากการที่รัฐไทย ไม่มีกฎหมายคุ้มครองชีวิตคู่ของพวกเขาและเธอ หลายคู่จากไป โดยที่อีกคนช่วยเหลืออะไรไม่ได้ สามารถติดตามได้ที่เพจ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ


เสวนาเปิดตัวหนังสือ “บันทึกชีวิต : เส้นทางสู่สิทธิสมรสเท่าเทียม (20 ต.ค.66)

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active