จากกรณี ดิไอคอน สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอแก้กฎหมาย 3 ฉบับ หวังยกระดับคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนปมไม่ฟ้อง 2 บอส ชี้ผู้เสียหายก็เป็นกลุ่มคนสำคัญที่ควรมีสิทธิ์แย้ง ขณะกระทรวงยุติธรรม ยืนยัน เยียวยา ‘แซม-มิน’ หากศาลชี้ชัดว่าเป็น ผู้เสียหาย หรือ แพะ
วันนี้ (11 ม.ค.2568) จากรณี ดีเอสไอเตรียมตั้งคณะทำงานดูความเห็นแย้งกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง 2 บอส “มีน-แซม” ล่าสุดพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ยืนยันต้องยึดหลักนิติธรรม ศาลไม่ตัดสิน = ผู้บริสุทธิ์ ถึงที่สุดแล้วศาล ชี้ชัดว่า เป็นผู้เสียหาย หรือ แพะ พร้อมที่จะเยียวยาให้กับผู้เสียหาย หรือจำเลยที่ไม่ได้รับการประกันตัวชั่วคราว พร้อมย้ำว่านี่ถือเป็น การพัฒนาของกระบวนการยุติธรรม
ด้าน สภาองค์กรของผู้บริโภค มองว่า เรื่องของการดำเนินคดี เป็นสิทธิ์การโต้แย้งของทั้งฝ่ายผู้ต้องหา และประชาชนผู้เสียหาย เห็นควรว่า ควรจะให้กลุ่มคนสำคัญนั่นก็คือ “ผู้เสียหาย” ได้มีสิทธิ์โต้แย้งในประเด็นดังกล่าวด้วย
ขณะที่ประเด็นสำคัญ คือ การกำกับดูแลการขายตรง และอินฟลูฯ ให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยการขายตรง ขายผลิตภัณฑ์ในโลกออนไลน์ที่ยากต่อการตรวจสอบ
The Active สัมภาษณ์ประเด็นนี้กับ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเอาผิดในกรณีดิไอคอน ประกอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 เรื่องนำเข้าข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลอันเป็นเท็จ ขณะที่กฎหมายสำคัญอย่าง พ.ร.บ.อาหาร กลับไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ทำสัดส่วนโทษน้อย และไปไม่ถึง “พรีเซนเตอร์”
พ.ร.บ. อาหาร ไม่ถูกใช้ กำกับ อินฟลูเอนเซอร์
สารี ระบุว่า “ดารา – อินฟลูเอนเซอร์” ที่เข้าไปเป็นพรีเซนเตอร์ มีส่วนสำคัญที่ทำให้คนหลงเชื่อ และตัดสินใจร่วมลงทุน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับผิดชอบต่อสังคม แต่การขายสินค้าสุขภาพ เสริมอาหาร ในปัจจุบัน ไม่ได้หยิบเอา พ.ร.บ.อาหารมาใช้ประโยชน์
“อย่างกรณี ดิไอคอน มีทรัพย์สินระดับหมื่นล้าน แต่โทษปรับ โทษทางอาญา แทบไม่มีถึงคนที่เป็น “พรีเซนเตอร์” โดยหลักการที่สากลใช้ คือ อินฟลูฯ ต้องทดลองใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นก่อนเป็นระยะเวลา 6 เดือน ถึงจะสามารถนำมาขายได้”
สภาองค์กรของผู้บริโภค พยายามเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายอาหาร เพื่อควบคุมความปลอดภัยทางอาหาร ปรับปรุงข้อกำหนดการอนุญาตและการโฆษณาอาหารให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึง การกำหนดบทบาทความรับผิดชอบของ ผู้ประกอบการ เพื่อป้องกันการโฆษณาที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค
ระหว่าง รอการแก้ไขกฎหมาย สภาองค์กรของผู้บริโภคเตรียมทำงานร่วมกับอินฟลูฯ เพื่อกำกับดูแลกันเองไม่ให้เกิดปัญหาต่อผู้บริโภคในอนาคต และทำให้อินฟลูฯ พรีเซนเตอร์เข้าใจตรงกันว่า
“หากไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ จะไม่ทำการโฆษณา”
ขณะที่อีกกฎหมายสำคัญคือ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดตรง ซึ่งเป็นกฎหมายที่จำเป็นต้องปรับปรุง ให้มีผู้เชี่ยวชาญ คณะทำงานมาดูแลการขายตรง ซึ่งเวลานี้ยังไม่มีการกำกับการโฆษณาในการขายตรงดิจิทัล
ความคืบหน้าดัน 3 กม.ยกระดับคุ้มครองผู้บริโภค
พ.ร.บ.อาหาร เป็นหนึ่งใน 3 กฎหมายสำคัญที่สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอไปถึงสภาฯ ประกอบด้วย
- การเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับสภาองค์กรของผู้บริโภค
เน้นการปรับปรุงสิทธิผู้บริโภคให้ครอบคลุมรูปแบบการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังปรับปรุงกลไกการตัดสินข้อพิพาทให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นไปอย่างเป็นธรรมและตรงไปตรงมา
- การเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อาหาร ฉบับสภาองค์กรของผู้บริโภค
ร่างนี้เสนอให้เพิ่มมาตรการควบคุมความปลอดภัยทางอาหาร และปรับปรุงข้อกำหนดการอนุญาตและการโฆษณาอาหารให้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการกำหนดบทบาทความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ เพื่อป้องกันการโฆษณาที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค
- การสนับสนุนให้ออกร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า หรือ เลมอน ลอว์ (Lemon Law)
มุ่งแก้ปัญหาสินค้าที่มีคุณภาพต่ำ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มักมีปัญหาด้านประสิทธิภาพ โดยร่างกฎหมายนี้จะระบุถึงความรับผิดชอบของผู้ขายและสิทธิของผู้บริโภคไว้อย่างชัดเจน
โดยมีการล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอต่อสภาฯ และอยู่ระหว่างการพิจารณาของนายกฯ ล่าสุดมี 2 ฉบับ ที่ถูกพิจารณาว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน จึงยังไม่ผ่านการพิจารณา โดยทาง สภาองค์กรของผู้บริโภค หวังว่า ครม.จะเห็นความสำคัญ เพราะแม้จะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน แต่ถือเป็นผลประโยชน์ของประชาชน