เรียนฟรีทิพย์ ? นักการศึกษาเผย 4 ปัจจัยทำเรียนฟรีไม่จริง เสนอยกเลิกกฎกระทรวงปิดช่องเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษา พร้อมเพิ่มงบฯ ดูแลกลุ่มเปราะบาง กสศ. ย้ำอายุเฉลี่ยการศึกษาไทยอยู่แค่ 9.32 ปี รัฐจำเป็นต้องสนับสนุนงบฯ ให้เพียงพอเพื่อ ขยับจาก 9 เป็น 15 ปี
เรียนฟรีมีอยู่จริง หรือไม่ ? สำหรับประเทศไทย ทำไมผ่านไปกี่รัฐบาล คำว่า “เรียนฟรี และ โอกาสทางการศึกษา” ถึงยังเป็นสิ่งที่เด็กไทยถามหา
กระทั่งช่วงปี 2567 เรียนฟรีก็ยังไม่มีจริง เห็นได้จาก สภาองค์กรของผู้บริโภค ฟ้องร้อง รมว.ศธ. และ กระทรวง ศธ. กรณี เรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาไม่ชอบด้วยกฎหมาย การต่อสู้ทางกฎหมาย กินเวลานานกว่า 6 เดือน (นับตั้งแต่การยื่นฟ้องคดีศาลปกครอง 12 ก.ค.2567) และในที่สุด ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งรับอุทธรณ์เมื่อ (วันที่ 15 มกราคม 2568) ให้ระงับการจ่าย และให้ทางโรงเรียนคืนเงินผู้ปกครอง
แม้ไทยจะอาศัย สภาองค์กรของผู้บริโภค ฟ้องร้อง และให้คืนค่าเทอมผู้ปกครอง รวมทั้งมีร่มใหญ่อย่างรัฐธรรมนูญไทยมานานนับทศวรรษ เหตุใดเจตนารมณ์นี้ยังไม่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ?
ล่าสุด ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการศึกษา สภาองค์กรของผู้บริโภค ตั้งคำถามอีกครั้ง ว่า เหตุใด “นโยบายเรียนฟรี” จึงยังไม่สามารถเกิดขึ้นจริง เพราะไทยก็มีรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเรื่องการให้ความสำคัญกับการศึกษาที่ไม่มีค่าใช้จ่ายมานานเกือบทศวรรษ ขณะเดียวกัน นโยบายสำคัญแบบนี้ ทำไมจึงต้องอาศัยแรงผลักดันจาก เสียงสะท้อนของผู้บริโภคมาจนถึงวันนี้… ?
The Active รวบรวมเนื้อหา และข้อเสนอจากรายการ “นโยบาย by ประชาชน” กำหนดออกอากาศ 3 พ.ค. 68 เพื่อตอกย้ำความสำคัญของการเรียนฟรีที่ควรเกิดขึ้นจริง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผันผวนของไทยและโลกยุคปัจจุบัน

3 สถานการณ์สำคัญ เพิ่มโอกาส และอุปสรรคของการเรียนฟรี
ผศ.อรรถพล ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการนโยบาย by ประชาชน ย้ำ 3 สถานการณ์สำคัญในมิติของกฎหมาย แต่ขณะเดียวกันก็มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้อำนาจเรื่องการเก็บค่าบำรุงการศึกษาด้วยเช่นกัน
- รัฐธรรมนูญ 2560 ม.54 กำหนดให้รัฐดำเนินการจัดการศึกษาให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
- คำสั่ง คสช. ที่ 25/2559 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ระบุให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกันอย่างเสมอภาค โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 15 ปี
- ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการเก็บเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ทำให้โรงเรียนสามารถเรียกเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษาได้ การเรียนฟรีจึงไม่ได้ฟรีจริง
จาก 3 สถานการณ์ด้านบน สะท้อนถึง ความย้อนแย้งที่ควรตั้งคำถามไปถึงกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีอำนาจตรงในการ ยกเลิกกฎกระทรวงดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาฟรีไม่จริง คู่ขนานไปกับการปรับปรุงจัดสรรงบประมาณ และการพัฒนา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยระบุรับประกันเรื่องการศึกษาฟรีอย่างชัดเจน
สาเหตุเรียนฟรียังไม่จริง
ขณะเดียวกันอาจารย์ยังมองว่า โรงเรียนมองผู้ปกครอง และนักเรียนเป็นลูกค้า ขณะที่เสียงของผู้บริโภคตั้งข้อสังเกตว่าทำไมต้องเก็บเพิ่มเติม เพราะหากดูจาก งบประมาณอุดหนุนที่ได้จากภาครัฐ มีเพียง 20% ของทั้งหมดที่ไปถึงตัวเด็ก ขณะที่ 80% ไปอยู่ที่ส่วนอื่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบบุคลากร จำนวนเด็กน้อย ก็ทำให้ค่ารายหัวที่รัฐอุดหนุนน้อยตามไปด้วย ยังไม่นับรวมงบประมาณกลุ่มเปราะบางที่ควรได้รับการพิจารณาเพิ่มมาตรการการช่วยเหลือ เพื่อทำให้โรงเรียนมีคุณภาพ ปลอดภัย
โดยได้นำเสนอสาเหตุของการเรียนฟรีไม่จริงจาก 4 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย
- การขาดแคลนงบประมาณจากภาครัฐ
งบประมาณที่จัดสรรให้กับ โรงเรียนจากกระทรวงศึกษาธิการอาจไม่เพียงพอสำหรับการดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่จำเป็นในการจัดการศึกษา - ความแตกต่างของแต่ละโรงเรียน
ในบางพื้นที่ โรงเรียนไม่ได้รับงบประมาณที่เพียงพอจากรัฐ เนื่องจากความแตกต่างในระดับความสามารถทางการเงินของสถานศึกษา หรือพื้นที่ ที่ตั้ง ของโรงเรียน - ความจำเป็นในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
หลายโรงเรียนมีการจัดกิจกรรมหรือโครงการพิเศษที่ไม่สามารถรองรับด้วยงบประมาณจากรัฐได้ทั้งหมด - การจัดหาทรัพยากร ที่มีคุณภาพ
เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัย หรือการปรับปรุงอาคารเรียนให้มีสภาพที่ดีขึ้น อาจต้องใช้ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ข้อเสนอนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ และไม่มีค่าใช้จ่าย
“20% ของงบประมาณกระทรวงศึกษา และงบลงทุน ส่วนใหญ่เน้นลงทุนอยู่ที่บุคลากร
พูดง่ายๆ คือ เงิน 100 บาท ไปอยู่ที่เด็ก 20 บาท
เวลาครูได้วิทยฐานะ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพเด็ก
การพัฒนาครูไปทางหนึ่ง เด็กไปอีกทางหนึ่ง ไม่ยึดโยงกัน”
นอกจาก การจัดสรรงบประมาณโดยรัฐ ยังมีข้อเสนอไปถึงการเปิดให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และปรับรูปแบบขององค์กร หรือโครงการที่ไม่จำเป็นให้เล็กลง กระจายอำนาจสู่ระดับท้องถิ่นให้มากขึ้น ผ่าน 4 ข้อเสนอหลัก
- ปรับปรุงระบบการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลายของแต่ละโรงเรียนโดยพิจารณา ถึงความจำเป็นและรดับความขาดแคลนที่แตกต่างกัน (เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถมีบทบาทในการสนับสนุนงบประมาณ)
- เพิ่มงบประมาณ ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายจริงของนักเรียนในทุกระดับชั้น เช่น ค่าเดินทางค่ากิจกรรมภาคสนาม ค่าบำรุงการศึกษา และค่าอุปกรณ์เสริมที่เกินความจำเป็น ค่าอินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนออนไลน์
- จัดให้มีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย ให้เงินสนับสนุนรายเดือนหรือให้บัตรส่วนลด สำหรับผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย
- สร้างระบบติดตามงบประมาณ ให้โรงเรียนใช้เงินตามวัตถุประสงค์ที่กำหนัด ลดปัญหาการเก็บเงินเพิ่มจากผู้ปกครอง
อาจารย์ทิ้งท้ายว่าที่ผ่านมาไทยสามารถปรับปรุงงบประมาณอาหารกลางวันได้แล้ว คงไม่ยากที่จะทำเรื่องนี้ให้เป็นจริง และ ควรปรับปรุงงบประมาณร่วมกับหน่วยงานอย่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. เพราะเป็นหน่วยงานที่ทำวิจัยด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกับก็ ควรปรับปรุง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้มีหลักประกันเรื่อง “การเรียนฟรี” อย่างแท้จริง



นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน
- สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วย รมว.ศึกษาธิการ
- ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
- ปรามี ไวจงเจริญ กมธ. และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร
แม้ทั้ง 3 ท่านจะเห็นด้วยกับนโยบายเรียนฟรี ว่าตอบโจทย์ทั้งการศึกษาในปัจจุบัน และอนาคต แต่ก็ยังเป็นโจทย์ที่ทำให้งบประมาณไปตกอยู่กับเด็กมากเกิน 20% เพราะปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการก็ยังคงให้ความสำคัญไปที่บุคลากรครู มากกว่าตัวเด็ก และยังต้องอาศัยการยอมรับจากสำนักงบประมาณ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินอีกด้วย
ที่ผ่านมาหลายคนรู้ว่าเรียนฟรี เหมือนฟรีทิพย์ แต่ทางกระทรวงศึกษา ยืนยันว่าได้เดินหน้าให้หน่วยงานท้องถิ่นมีเงินอุดหนุน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเด็ก ส่วนความคืบหน้าของการผลักดัน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ทั้ง 5 ฉบับ ก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดเพื่อให้คำว่า “เรียนฟรี” ยังเป็นหลักประกันสำคัญสำหรับเด็กไทยในอนาคต
ศ.สมพงษ์ ย้ำจากข้อมูลว่า “อายุเฉลี่ยการศึกษาไทยอยู่ที่ 9.32 ปี ตาม พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ กฎหมายนี้ ใช้มา 23 ปี การเขียนไว้ว่า กฎหมายเรียนฟรี 15 ปี รัฐจึงต้องสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอต่อการขยับเพิ่มอายุการศึกษาให้เป็น 15 ปี ขณะที่ประชาชนเกิดน้อย จะต้องทำให้คน 4.6 แสนคน มีคุณภาพในมิติการศึกษา
แต่การจะขยับจาก 9 เป็น 15 ปี เป็นเรื่องใหญ่ แต่จากการศึกษาพบว่าการไปต่อในระดับอนุปริญญา และ ปวศ. จะทำให้ไทยไม่ต้องอยู่ในกับดักความยากจน มีความมั่นคง สามารถจ่ายภาษีได้ การศึกษาเรื่องนี้จึงสำคัญ…”
โดยการนำเสนอนโยบายครั้งนี้มีผู้ร่วมแสดงความเห็น “เห็นด้วย” มากที่สุด และสามารถติดตามเนื้อหาเต็มได้ในรายการ นโยบาย by ประชาชน กำหนดออกอากาศ 3 พ.ค. 2568