Thailand Policy Lab เปิดเวที “คิดนโยบายใหม่” วางเป้าหมายเมืองหน้าอยู่ 1 ใน 50 อันดับแรกของโลก เพิ่มประสิทธิภาพเมือง ปรับปรุงคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสสำหรับทุกคน และสร้างความเชื่อมั่นแก้ปัญหาเชิงระบบ พัฒนานโยบาย ทำให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง
การเปิดห้องปฎิบัติการนโยบายแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Policy Lab (TPLab) ในงานเสวนา “Policy Innovation Exchange 3” (PIX 3) ได้เปิดเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่สนใจจากนานาประเทศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายใต้แนวคิด “คิดนโยบายใหม่ ในโลกที่ซับซ้อน”(Reimagine Policy Making in a Complex World) โดยห้องปฎิบัติการนโยบายแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Policy Lab (TPLab) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีนักวางแผนนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ ภาคเอกชนและภาควิชาการเข้าร่วมแชร์ประสบการณ์และความคิดเห็นมากกว่า 1,000 คน
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าสัญญาประชาคม (Social Contract) เป็นรากฐานของนโยบายรัฐโดยรัฐมีหน้าที่ต้องรับประกันความมั่นคงเปิดโอกาสในการใช้ชีวิตและป้องกันความเสี่ยงขั้นต่ำที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตที่สำคัญคือการสร้างความไว้วางใจจากประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ กทม. พยายามทำมาตลอด 4 เดือน แม้จะไม่มีงบประมาณก็ตาม ขณะนี้ กทม.ได้ตั้งเป้าที่ต้องการให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ 1 ใน 50 อันดับแรกของโลกและหน้าที่ของ กทม. ที่จะทำให้บรรลุเป้าได้มีอยู่ 4 ประการคือการเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง การปรับปรุงคุณภาพชีวิต การสร้างโอกาสสำหรับทุกคน และสร้างความเชื่อมั่น
“หน้าที่เราไม่ใช่แค่บริหารเมืองแต่ต้องสร้างความไว้ใจให้กับระบบ สิบปีที่ผ่านมา คนหมดหวังกับระบอบประชาธิปไตย ระบอบการเลือกตั้ง ฉะนั้นต้องสร้างความเชื่อมั่นกลับมา กรอบประชาธิปไตยที่โปร่งใสเป็นระบอบที่จะมีพลังที่สุด ที่จะตอบปัญหาและสร้างนโยบายที่มีประโยชน์กับประชาชน ตอบโจทย์ประชาชนให้ได้เราเชื่ออย่างนั้น แล้วเราต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างให้ได้ ให้คนโหยหาการเลือกตั้งให้คนเข้าถึงระบอบประชาธิปไตย ทำระบบให้เข้มแข็ง”
แนวคิดเชิงระบบและประชาชนเป็นศูนย์กลาง
สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับ “กระบวนการออกแบบนโยบายสำหรับปัญหายุคใหม่” ปัจจุบันยังเป็นการแก้ไขปัญหาแบบแยกส่วนไม่สามารถตอบโจทย์สังคมที่ปัจจุบันมีความผันผวนได้ นักนโยบายและรัฐต้องเปลี่ยนฐานคิด จากการแก้ปัญหาทีละเสาหลัก (Linear Policy Making or Linear Solving Process) มาเป็นกระบวนการออกแบบนวัตกรรมโยบาย (Reimagined Policymaking Process) ด้วยการอาศัย 8 ขั้นตอน หรือ Eight Elements in Action ที่หมุนเวียนเป็นวงกลมที่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เป็นการหมุนเวียนความรับผิดชอบให้กลับไปสู่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบปรับเปลี่ยนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายมากขึ้นและนำผู้เชี่ยวชาญจากศาสตร์อื่น ๆ เช่น สังคมศาสตร์ นักออกแบบเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
Michael McAllum หัวหน้าด้านการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ Chora Foundation ให้ข้อเสนอว่า การคิดเชิงระบบเป็นการใช้แนวคิดจากหลายสาขาวิชาช่วยให้เราเข้าใจความไม่แน่นอนของโลกปัจจุบัน ดังนั้นนักนโยบายต้องทำความเข้าใจว่าความคิดมีส่วนสำคัญในการกำหนดระบบอย่างไรโดยควรจะต้องเริ่มจากการตั้งคำถาม 6 ขั้นตอนคือเราต้องการเปลี่ยนแปลงส่วนใดของระบบ, ปัจจัยใดที่จะกำหนดพื้นที่เชิงนโยบาย, เราเข้าใจระบบหรือปัจจัยภายนอกที่ต้องการทำงานด้วยแล้วหรือยัง, ทบทวนถึงเป้าหมายหรือสิ่งที่เราต้องการเปลี่ยนแปลง, คิดทางเลือกอื่น ๆ เสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงลำดับขั้นที่สองหรือการเปลี่ยนแปลงระบบทั้งหมดให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนประเทศสู่ชาตินวัตกรรม ในหัวข้อ “เมืองที่ทุกคนมีส่วนร่วม : ระบบการติดตามและประเมินผลนวัตกรรมของเมือง” ว่าจะต้องเริ่มจากโครงสร้างพื้นฐานในเมืองอันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมการพัฒนาเชิงนวัตกรรม ตัวอย่างจากดัชนี Global Innovation Index 2022 จะเห็นว่าเมืองที่ติดอันดับ ต้น ๆ ของการขยายตัวของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้วนแต่มีบริการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาและสตาร์ทอัพในสาขาต่าง ๆ
โดยประเทศไทยมีโครงการ Bangkok Innovation Corridor ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยงแต่ละเขตผ่านความร่วมมือของผู้คนธุรกิจ และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อรองรับและดึงดูดนวัตกรเข้ามาโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้ร่วมมือกับเทศบาลและมหาวิทยาลัยในเชียงใหม่ปรับปรุงการทำงานเชิงนโยบายระดับท้องถิ่นเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์พัฒนาเชียงใหม่ไปสู่การเป็นเมืองนวัตกรรม ทั้งนี้ หัวใจสำคัญคือภาคประชาสังคมต้องผลักดันวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาในพื้นที่ด้วยตัวเอง
ประชาธิปไตยดิจิทัล: ความท้าทายและโอกาสของแพลตฟอร์มเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน
Eiríkur Búi Halldórsson ผู้จัดการแพลตฟอร์ม Better Reykjavik ของเมืองหลวงไอซ์แลนด์ อีกหนึ่งตัวแทนจากประเทศไอซ์แลนด์ ได้นำเสนอแพลตฟอร์ม “Better Reykjavik”ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เชื่อมรัฐกับประชาชนเข้าด้วยกันเปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอนโยบายต่าง ๆโดยจุดเริ่มต้นมาจากวิกฤติเศรษฐกิจในไอซ์แลนด์เมื่อปี 2008ทำให้ประชาชนต้องการพื้นที่ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคมจึงเกิดแพลตฟอร์มทดลองช่วยสร้างพลังให้ประชาชนสามารถส่งเสียงความคิดไปยังภาครัฐได้ จนพัฒนามาเป็น “Better Reykjavik หรือ Reykjavik ที่ดีกว่า” ซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์มนี้ถูกนำมาใช้ในการร่างนโยบายการศึกษาร่วมกับประชาชน และสร้างโปรแกรม “เพราะที่นี่คือบ้านของเรา”ให้ประชาชนสามารถเสนอนโยบายที่ต้องการและร่วมโหวตนโยบายที่ชอบที่สุดได้อีกด้วย
โจทย์สำคัญสำหรับภาครัฐยุคใหม่คือ “จะทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่น?” พร้อมกับร่วมแสดงความคิดเห็นว่าปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยลดช่องว่างระหว่างภาครัฐและประชาชนไม่เพียงแต่ทั้งสองฝ่ายจะส่งข้อมูลหากันและกันได้ราบรื่นขึ้นเท่านั้นแต่ประชาชนยังสามารถใช้สิทธิพลเมืองได้มากขึ้นจากที่เคยอยู่ท้ายสุดในสายพานการออกแบบนโยบาย ก็กลายมาเป็นผู้ตรวจสอบเสนอความคิด และข้อกังวล หรือร่วมออกแบบนโยบายได้โดยจะต้องพึ่งพาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล แม้ว่าในปัจจุบันเมืองแต่ละเมืองจะไม่สามารถใช้นวัตกรรมได้เต็มศักยภาพเพราะกฎระเบียบที่เข้มงวดและการบริหารราชการแบบรวมศูนย์ แต่ท้ายที่สุดแล้วประชาชนต้องเป็นผู้เห็นคุณค่าของเทคโนโลยีในฐานะเครื่องมือแก้ปัญหามิเช่นนั้นการทำงานของแพลตฟอร์มในระยะยาวจะไม่ยั่งยืนผู้คนก็จะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง เพราะความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide)
“แนวคิดเชิงระบบ: แนวทางแก้ปัญหาซับซ้อนในโลกไม่แน่นอน”
นายบวรศม ลีระพันธุ์ รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบาลและการจัดการสุขภาพคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนาย Alexandru Oprunence; RegionalInnovation Advisor, UNDP โดยได้ร่วมถกในเรื่องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยระบุว่า System Thinking หรือแนวคิดเชิงระบบ คือการมองจากภาพใหญ่จากหลายมุม มองลึกถึงต้นตอ และคิดถึงผลระยะยาว
รวมถึงการตั้งคำถามเพื่อหาทางแก้ใหม่ ๆ ซึ่งสิ่งที่ต้องตระหนักเสมอคือการทำงานกับ “วิถีของผู้คน” อันเป็นสิ่งที่จะรักษา “วิถีของสังคม”ให้ดำเนินต่อไปได้มากกว่ากลไลเชิงเทคนิคการกำหนดนโยบายคือการตัดสินใจร่วมกันอย่างเท่าเทียม ดังนั้น จะต้องสร้างพื้นที่ให้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยน ที่ให้ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมได้สร้างความสัมพันธ์ที่รัฐรับฟังประชาชนด้วย “ความเชื่อใจ”โดยที่ไม่มีระดับอำนาจ ต้องเรียนรู้ไปด้วยกันว่านโยบายที่ออกแบบนั้นจะส่งผลกระทบกับใคร และเป็นประโยชน์ต่อใครบ้าง รวมถึงตระหนักเสมอว่า ทุก ๆ การตัดสินใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมเสียสิ่งหนึ่งในมิติอื่น ๆ ไป การหาทางเลือกอื่น ๆเพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
เมืองแห่งนวัตกรรม: ระบบนวัตกรรมสำหรับเมืองที่ถูกออกแบบเพื่อทุกคน
จาก 4 ผู้ร่วมอภิปรายคือ ชัยธร ลิมาภรณ์วณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรมสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, พบสุข ช่ำชอง รองผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ปิยะพงษ์ บุษบงก์ อาจารย์ประจำสถาบันนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศักดิพล เจือศรีกุล ผู้อำนวยการศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
โดยในการเสวนาได้กล่าวถึงความจำเป็นของนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy Innovation) ที่เมืองจำเป็นต้องมีกล่าวคือเป็นการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่อยู่นอกกรอบเพื่อออกแบบนโยบายใหม่ที่จะช่วยให้เมืองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการเคลื่อนไหวเชิงรุกก่อให้เกิดความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ใช่มีเพียงแต่ภาครัฐเท่านั้นที่ริเริ่มลงมือทำการพึ่งพานโยบายจากส่วนกลางก็จะลดลงไปด้วยเช่นกัน
ในขณะเดียวกันนวัตกรรมต่าง ๆ ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในรอบด้านไม่ว่าจะเป็นมิติสังคม มิติเศรษฐกิจ หรือมิติสิ่งแวดล้อม เมืองจึงจำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนนวัตกรรมให้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาเชิงระบบด้วย โดยPolicy Innovation Exchange 3” (PIX 3) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20-21 ตุลาคม 2565ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์