องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เผยผลการสำรวจความเห็นของประชาชน พบปัญหาที่ควรถูกแก้ไขอันดับ 1 คือปัญหาคอร์รัปชัน 25% แซงหน้าปัญหาปากท้อง ย้ำนโยบายต้านโกงมีผลต่อลงคะแนนเลือกตั้งถึง 67% เสนอผลักดัน Open Data สกัดโกง
วันนี้ (8 มี.ค. 2566) รศ.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ต่อนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมืองและนักการเมืองไทย ในการเลือกตั้ง 2566 จัดทำโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) / มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมูลนิธิเพื่อคนไทย
จากกลุ่มตัวอย่าง 2,255 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก 18% โดยพบว่า ส่วนใหญ่มองนโยบายของพรรคการเมือง ควรจะมีความชัดเจนเป็นรูปธรรม ว่าจะวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศได้อย่างไรรวมทั้งควรมีการตรวจสอบได้ และที่สำคัญนโยบายต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับกับการใช้งบประมาณ
สำหรับปัญหาของประเทศที่ต้องแก้ไขมากที่สุด อันดับ 1 คือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน รองลงมาเป็นการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ถึง 67% มองว่านโยบายการต่อต้านคอร์รัปชัน มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้ง ที่ควรจะมีมาตรการชัดเจน
และกว่า 83.6% จะไม่เลือกพรรคที่ไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน โดยนโยบายควรจะมีการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ให้ประชาชนเข้าถึงง่าย รวมทั้งรับฟังเสียงประชาชน สร้างการมีส่วนร่วม และสนับสนุนให้องค์กรตรวจสอบ ทำงานได้อิสระ
ขณะที่ปัญหาคอร์รัปชัน 3 อันดับแรกที่ส่งผลเสีย และต้องการให้รัฐบาลเร่งจัดการ สูงสุด คือ ปัญหาทุจริตในระบบราชการ รองลงมาคือ กระบวนการยุติธรรม และเงินบริจาคแก่ศาสนา
ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 86.2% จะไม่เลือกพรรคการเมืองที่มีใช้เงินซื้อเสียงและสิ่งที่อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการแก้ไขอันดับแรก ยังคงเป็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ดูแลสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของประชาชน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเงินกู้ การดูแลค่าครองชีพและการดูแลราคาพลังงาน
“ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับการกับผลสำรวจก่อนการเลือกตั้งครั้งก่อน ครั้งนั้นพบว่าปัญหาที่ประชาชนอยากให้แก้ไขมากที่สุด อันดับ 1 คือเศรษฐกิจ แต่ผลสำรวจครั้งนี้ ประชาชนอยากให้แก้ไขปัญหาเรื่องการคอรัปชันมาเป็นอันดับ 1 ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจลงมาอยู่ที่อันดับ 3”
รศ.เสาวณีย์ กล่าว
กระเทาะปัญหาคอร์รัปชันเมืองไทย ทำไมเป็นปัญหาใหญ่ ?
มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวกับ The Active ว่า การต่อต้านคอร์รัปชันได้รับความร่วมมือมากขึ้นจากทั้งภาคเอกชน นักวิชาการ และคนรุ่นใหม่ แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่ทันการณ์กับการปรับตัวของนักการเมืองและข้าราชการบางส่วนที่ขี้โกง พ่อค้าเกเรที่จ้องเอาแต่ได้ คนพวกนี้มองผลประโยชน์แล้วคุยกันง่าย ตกลงกันง่าย พลังในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันจึงมักตามไม่ทัน
หน่วยงานราชการหลายแห่ง พยายามนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) กรมบัญชีกลาง แต่ว่าหน่วยงานหรือภาคปฏิบัติต่าง ๆ ก็ไม่ได้นำไปปฏิบัติหรือให้ความร่วมมืออย่างชัดเจน สิ่งนี้สะท้อนออกมาผ่านการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ(ITA) ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ยกตัวอย่างกรณีของกรมอุทยานฯ ITA ตรวจสอบพบมาตั้งแต่ปี 2562 ว่าข้าราชการมีการแจ้งข้อมูลว่า ที่นี่มีคอร์รัปชัน ประชาชนที่เคยใช้บริการที่เกี่ยวข้องกับกรมอุทยานฯ ก็บอกมาตั้งหลายปี ว่ามีคอร์รัปชัน แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ถูกเปิดเผยไปสู่สาธารณะชน และผู้บริหารหน่วยงาน รวมถึงรัฐบาลไม่ได้รับรู้หรือไม่ใส่ใจในข้อมูลเหล่านี้ เพราะฉะนั้นถึงแม้มีมาตรการที่ดี แต่มันก็ล้มเหลวเมื่อล้มเหลวก็กลายเป็นโวหารจอมปลอม ฟังดูดี แต่ไร้ค่า
เสนอ รื้อ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร
มานะ บอกอีกว่าเราพยายามพูดเรื่องความโปร่งใสมาเป็นอันดับหนึ่ง ทุกวันนี้พรรคการเมืองพูดถึงความโปร่งใส แต่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล เพราะฉะนั้นเกณฑ์การทำงานอย่างเปิดเผยของภาคราชการจึงต้องรื้อกันใหม่ อีกทั้ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ ฉบับปัจจุบัน ล้าหลังใช้การไม่ได้ต้องเขียนกันใหม่ แนวทางการแก้ไขของรัฐบาลก็ใช้ไม่ได้ โดยจากผลการสำรวจความเห็นประชาชนข้างต้น ต้องการเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ไปที่หน่วยงานราชการให้ได้เสียก่อน อย่าพูดแต่ภาพรวมของประเทศอย่างเดียว ถ้าแต่ละหน่วยงานจริงใจแก้ไขปัญหาของตัวเองในระดับกรม ระดับกระทรวง มันจะทำให้ภาพรวมของประเทศแก้ได้
เมื่อแก้ไขปัญหาในระดับหน่วยงานแล้ว ทุกๆคนจะต้องรับผิดชอบร่วมกันอย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. แต่ข้าราชการนักการเมืองและประชาชนต้องร่วมมือกันในการหยุดโกง เวลานี้ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป ทำให้เรามีความหวังขึ้นมาอีกครั้งว่า เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากปัจจุบันที่เป็นการเมืองที่เต็มไปด้วยการแบ่งพรรคแบ่งพวก และแบ่งสรรผลประโยชน์ แต่อยากเห็นพรรคการเมือง นักการเมือง มีความซื่อสัตย์ต่อประชาชน จริงใจต่อประชาชน
นโยบายที่พรรคการเมืองต้องมี เพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน
มานะ บอกว่า พรรคการเมืองต้องมีนโยบายว่า จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศอย่างไร จะมีนโยบายในการควบคุม และรับผิดชอบพฤติกรรมของนักการเมือง และบุคลากรในเครือข่ายอย่างไร และเมื่อพรรคการเมืองได้เข้าสู่อำนาจ จะเป็น ส.ส. เป็น กมธ.ไปดูแลเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ออกกฏหมาย ออกนโยบาย หรือได้ไปเป็นผู้บริหารรัฐบาลจะยึดมั่นอย่างไร จะมีกลไกในการตรวจสอบอย่างไร หรือจะมีการลงโทษคนที่คอร์รัปชันอย่างไร
“คอร์รัปชันเป็นเรื่องแอบกิน ลักกิน ขโมยกิน การหาหลักฐานเป็นเรื่องยาก แต่เป็นเรื่องที่รับรู้กันอยู่ในวงใน แต่ความรับผิดชอบทางการเมืองมีความสำคัญมาก”
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ระบุ
หนุน Open Data ตรวจสอบโครงการ สกัดโกง
ในเรื่องของการเปิดเผย จะทำให้เห็นว่าใครตั้งงบฯ อะไร วางโครงการยังไง ตลอดหลาย 10 ปี เห็นได้ว่าในด้านงบประมาณมีการทำถนนในแต่ละจังหวัด มีการแจกจ่ายงบฯ ออกไปจังหวัดละ 30 ล้านบาท โครงการประเภทนี้ทำบ่อน้ำโครงการละ 10 ล้านบาท มีซ้ำ ๆ ซาก ๆ เหมือนกันทุกจังหวัด วงเงินเท่ากัน จังหวัดเล็ก จังหวัดใหญ่ ประชากรไม่เท่ากัน แต่ว่าวงเงินเท่ากัน ทำเหมือน ๆ กันอยู่ปีแล้วปีเล่า
ถ้ามีระบบการจัดเก็บข้อมูลให้ประชาชนสามารถติดตาม และวิเคราะห์ได้ สื่อมวลชน นักวิชาการวิเคราะห์ได้ เราจะเห็นความผิดปกติของการจัดซื้อจัดจ้างการเปิดเผยข้อมูลออกมาสู่สาธารณชน ต้องรวมไปถึงการเขียนทีโออาร์ด้วยประชาชน นักธุรกิจ ที่เป็นนักลงทุน นักการเงิน ก็จะบอกได้เลยว่าโครงการนี้ใช้เงินฟุ่มเฟือย โครงการนี้ ซื้อของที่ไม่เกิดประโยชน์ หรือโครงการนี้เคยซื้อไปแล้วเมื่อปีก่อน คนที่อยู่ในวิชาชีพแม้จะเป็นข้าราชการเองก็จะช่วยกันบอก
เพราะฉะนั้นเรื่องของการเปิอข้อมูลเป็นสำคัญมาก และถ้าประชาชนข้าราชการเขาพูดแล้ว เปิดโปงแล้วว่าที่ไหนคอรัปชั่น หน่วยงานของรัฐจะต้องมีกฎหมายมาตรการในการรับเรื่องเหล่านั้นพิจารณา ตรวจสอบและปกป้องคุ้มครองคนที่เปิดเผยข้อมูลให้เต็มที่ อย่าให้เขาถูกคุกคามเหมือนกับที่เกิดในทุกวันนี้
เลือกตั้ง 66 พรรคการเมืองไม่ ชู นโยบายแก้ปัญหาโกง
มานะ ตั้งข้อสังเกตว่าเวลานี้ มีเพียง 3 พรรคการเมืองเท่านั้นที่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งหลายเรื่องสร้างผลกระทบต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตแต่การหาเสียงกลับพูดเพียงลอย ๆ โดยจากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน สะท้อนว่าประชาชนอยากเห็นนักการเมืองที่จริงใจกับประชาชน ดังนั้น พรรคการเมืองต้องร่วมมือกับประชาชนในการสร้างนโยบายปราบคอร์รัปชัน
“ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองหันมาใส่ใจ เพราะถ้าหยุคอร์รัปชันได้ จะช่วยหยุดปัญหาใหญ่ ๆ ของประเทศได้ทั้งหมด ทั้งเรื่องยาเสพติด คุณภาพการศึกษาเศรษฐกิจไม่ดี ถนนพัง ปัญหาหวย บ่อน พนันออนไลน์ ซ่อง ตำรวจ หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ รังแกประชาชน มันจะหยุดได้ทันทีหากหยุดคอร์รัปชัน”
มานะ กล่าว