“พิธา”นัดพรรคร่วมรัฐบาลหารือ ‘MOU ร่วมรัฐบาล’ วันนี้ สร้างสัญญาประชาคมนำการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี ด้านนักนิติศาสตร์ ชี้มิติใหม่ยกระดับการเมืองไทยสู่สากล
ท่ามกลางฝุ่นตลบดีลพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล พร้อมประสานขอเสียงสนับสนุนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีให้ถึง 376 เสียง ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบมาพูดถึงคือ การเจรจาข้อตกลงร่วม MOU ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เป็นเหมือนข้อตกลงที่รัฐบาลจะตกลงกับประชาชนเพื่อเดินหน้าการแก้ปัญหาให้สำเร็จ หากลองดูบทเรียนการทำ MOU ก่อนที่จะจัดตั้งรัฐบาล ก็ถือว่าเป็นทิศทางที่ดีเพราะประชาชนจะได้เห็นแนวทางการทำงานของรัฐบาล ก่อนที่จะจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ
ก่อนหน้านี้ The Active เคยนำเสนอข้อตกลงการจัดตั้งรัฐบาลแบบนี้ โดยยกตัวอย่างประเทศเยอรมนี ที่มีการจัดทำ ข้อตกลงร่วม “Coalition agreement” ที่มีข้อตกลงร่วมระหว่าง 3 พรรคร่วมรัฐบาล คือ SPD, FDP และ Green โดยมีรายละเอียดของข้อตกลงร่วมมากกว่า 150 หน้า อยู่บนการเจรจาที่ทุกพรรคเห็นร่วมกัน
โดยหลังจากร่างข้อตกลงร่วมแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลจะมานั่งรวมกัน และถ่ายทอดสดข้อตกลงร่วม ทุกขั้นตอนให้ประชาชนได้รับรู้อย่างละเอียด เป็นเหมือนสัญญาว่าจะทำ แม้จะไม่มีผลในทางกฎหมาย แต่เป็นเหมือนคำสัญญาที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ประชาชนสามารถกลับมาตรวจสอบได้ว่า รัฐบาลได้ทำตามแนวทางที่ตกลงกันไว้หรือไม่ อ่านฉบับเต็มได้ที่ ถอดระบบการปกครองเยอรมนี ความเหมือนในความต่างของ “ประชาธิปไตย”
ระบบรัฐสภาเยอรมนี ออกแบบมาให้พรรคการเมืองที่เคยต่อสู้กันอย่างดุเดือด กลับมาจับมือทำงานร่วมกัน สิ่งสำคัญ คือจะเดินหน้าทำงานให้ประชาชน ท่ามกลางจุดยืนที่ต่างกันของแต่ละพรรคการเมืองได้อย่างไร
MOU สัญญาประชาคม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ
แต่สำหรับประเทศไทย MOU อาจเปรียบได้กับความท้าทายที่กำลังรออยู่ของว่าที่รัฐบาลอย่างก้าวไกล เพราะต้องยอมรับว่า หลายนโยบายมีวัตถุประสงค์ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างรวดเร็ว ทั้งมิติของโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ภายใต้โรดแมปรัฐบาลก้าวไกล 100 วัน / 1 ปี หรือ ภายใน 4 ปี เช่น การให้มี สสร.เพื่อนับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่, การปฏิวัติระบบราชการ, การแก้ไข ม.112, ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร, หรือแม้แต่นโยบายด้านสวัสดิการ
เดชรัต สุขกำเนิด ผอ. Think Forward Center พรรคก้าวไกล อธิบายถึงหน้าตาของ MOU ว่า ต้องรอคุยกับว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลให้ตกผลึกก่อน แต่นโยบายที่เคยประกาศไว้คือองค์ประกอบสำคัญ
“องค์ประกอบสำคัญที่จะต้องมี ก็คือนโยบายที่ก้าวไกลเคยพูดไว้ เช่น เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ ที่ก้าวไกลเสนอ ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทย และไทยสร้างไทยก็มีนโยบายเหล่านี้ หรือเรื่อง ที่ดินทำกิน ที่พรรคก้าวไกลจะเปลี่ยนนิคมสหกรณ์เป็นโฉนด เพื่อไทยมีเรื่องแจกโฉนดที่ดินทำกิน หรือ อย่างเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่พรรคก้าวไกลเสนอ ส่วนที่อาจจะมีนโยบายแตกต่างกัน เช่น เพื่อไทยผลักดันเรื่อง กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) 10,000 บาท กระบวนการเจรจาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นตัวสำคัญ ให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสผลักดันนโยบายของตัวเองลงใน MOU ร่วมรัฐบาล ที่เปรียบเหมือนเป็นสัญญาประชาคม”
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า MOU เป็นปัจจัยหนึ่งของหน้าตารัฐบาลใหม่ โดยส่วนตัวมองว่า แม้พรรคก้าวไกลจะเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 แต่ก็ต้องยอมรับว่า คะแนน ก้าวไกล กับเพื่อไทย ต่างกันไม่มาก นั่นอาจจะหมายถึงอำนาจต่อรองของพรรคก้าวไกล แม้จะเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 แต่สิ่งสำคัญคือการจัดทำ MOU ก่อนจัดตั้งรัฐบาลถือเป็น การยกระดับการเมืองไทย ให้สามารถพูดคุยต่อรองกันในทางนโยบาย มากกว่าการต่อรองเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
“MOU เป็นการยกระดับการเมืองไทย… เราจะได้เห็นว่า การเมืองแบบที่ถูกต้องในระบบรัฐสภาฯ ส่วนใหญ่นโยบายเพื่อไทย ก้าวไกล เกินครึ่งคล้ายกัน เช่น นโยบายเกณฑ์ทหาร ให้เป็นทหารอาชีพแบบสมัครใจ ผมเชื่อว่า สังคมคาดหวังให้ 2 พรรคนี้คุยกัน สุดท้ายก็ต้องอยู่ที่การเจรจากันระหว่าง 2 พรรค”
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ขณะที่ภาคประชาชนอย่าง กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มองว่า MOU เป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองต้องเปิดเผย และลงมือทำจริง
“ถ้ามี MOU ชัดเจน นี่คือการทำนโยบายให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น ไม่เช่นนั้นจะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองหาทางหลบเลี่ยงได้ อ้างว่ามีความเห็นต่างในแต่ละพรรคร่วมรับบาล ดังนั้นก็เลยทำให้นโยบายไม่ประสบความสำเร็จ พรรคการเมืองจึงต้องหาจุดร่วมให้ตรงกัน ต่างฝ่ายต่างอยากร่วมรัฐบาล แม้ว่าแต่เดิมพรรคเชื่อในเรื่องของอำนาจราชการ กลไกตลาด อำนาจของทุนผูกขาด หรือมีอะไรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าไม่สอดคล้องกับ MOU ทุกฝ่ายก็ต้องปรับตัวถ้าอยากร่วมรัฐบาลกัน เพราะนี่คือสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน”
MOU ความหวัง หรือความท้าทาย พรรคร่วมรัฐบาล
แต่อีกด้านหนึ่ง ความเป็นไปได้คือ เพื่อไทย และ ก้าวไกล ตกลงเงื่อนไขกันไม่ได้ หรือ สุดท้ายพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยธรรมเนียมปฏิบัติ พรรคเพื่อไทยที่ได้เสียง ส.ส.มากเป็นอันดับ 2 ก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน โดยเวลานี้มีอย่างน้อย 2 สูตรในการจัดตั้งรัฐบาล และหนึ่งในนั้นที่มีการพูดถึงกันคือ สูตรของพรรค เพื่อไทย + พลังประชารัฐ + ไทยสร้างไทย + เสรีรวมไทย + ประชาชาติ สูตรนี้เป็นการจับมือข้ามขั้วระหว่าง 2 พรรคการเมืองที่ถือไพ่เด็ดคนละใบ คือ เพื่อไทย ที่ครองเสียง ส.ส.เป็นลำดับ 2 กับพลังประชารัฐ ที่นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้มากบารมีการเมืองที่เชื่อกันว่า มีเสียง ส.ว.จำนวนไม่น้อยอยู่ในมือ
มีรายงานว่า วันนี้ (17 พ.ค.2566) หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้นัดว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลเพื่อหารือถึง MOU จัดตั้งรัฐบาล ขณะที่ MOU จัดตั้งรัฐบาล ต้องถือเป็นอีกโจทย์ท้าทายของรัฐบาลใหม่ ท่ามกลางการจับตามองว่า จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เช่น กรณีหุ้นสื่อของนายพิธา ที่ กกต. กำลังพิจารณา, การประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการภายใน 60 วัน ที่อาจส่งผลต่อที่นั่งของ ส.ส.ในสภาฯ, การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ บรรดา ส.ว. และยังไม่นับรวมการทำงานผลักดัน และขับเคลื่อนนโยบายภายใต้โครงสร้างอำนาจและระบบราชการ MOU จึงเป็นเรื่องใหม่ที่เป็นทั้งความหวัง และความท้าทายของการเมืองไทย