ประณามการฆ่าชายหาดด้วย ‘กำแพงกันคลื่น’

Beach For Life ร่วมกับ นักรบผ้าถุงจะนะ ย้ำข้อเรียกร้อง ให้กรมโยธาฯ พ้นอำนาจป้องกันชายฝั่ง ให้รัฐรับเงื่อนไขต้องทำ EIA ก่อนสร้างกำแพงกันคลื่น ด้านกรมโยธาฯ ชี้แจงมีกระบวนการตามหลักวิชาการ

วันนี้ (6 ธ.ค. 2565) กลุ่ม Beach For Life ร่วมกับ นักรบผ้าถุงจะนะ แถลงการณ์ประณามกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้ฆ่าชายหาดด้วยกำแพงกันคลื่น พร้อมทวงคืนชายหาด สวยให้กลับมา เหตุที่เรียกร้องถึงกรมโยธาธิการเป็นแห่งแรกเนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจสร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อปกป้องชายหาดจากกรณีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ภาคประชาสังคมมองว่า การสร้างกำแพงกันคลื่นโดยไม่ทำ EIA หรือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการสร้างกำแพงกันคลื่นจำนวนมาก และเป็นการทำลายชายฝั่งมากกว่าป้องกัน

อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงาน Beach for life กล่าวว่า การระบาดของกำแพงกันคลื่นเกิดจากการที่รัฐบาลปล่อยให้กรมโยธาฯ มีอำนาจในการป้องกันชายฝั่งทั้ง ๆ ที่กรมโยธาธิการฯ ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในงานด้านทะเล และมีการปล่อยให้กำแพงกันคลื่นโดยไม่ต้องทำ EIA ทำให้เกิดการสร้างกำแพงกันคลื่นจำนวนมาก หรือกำแพงกันคลื่นระบาด โดยมีการจัดทำถึง 107 โครงการ รวมระยะทางกว่า 70 กิโลเมตรทั่วประเทศ คิดเป็นงบประมาณ 6,694,899,400 บาท พร้อมย้ำว่าชายหาดที่พังเสียหายเป็นเพราะกรมโยธาฯ พร้อมยกตัวอย่างชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี ที่เคยเป็นชายหาดจุดหมายของนักท่องเที่ยว แต่วันนี้มีการสร้างกำแพงกันคลื่น บดบังทัศนียภาพที่สวยงาม และเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยว

“เราต้องยุติบทบาทของกรมโยธาธิการฯ เราไม่เชื่อมั่นว่าถ้าปล่อยไป กรมนี้จะมีมโนสำนึกในการป้องกันชายฝั่ง เพราะที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนเรียกร้อง ยื่นข้อเสนอไปกี่ครั้ง แต่ไม่เคยเปลี่ยน ยังคงโฆษณาชวนเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ดี ซึ่งไม่ถูกต้อง กรมนี้ต้องถูกยุติบทบาทลงเดียวนี้ การพัฒนาชายหาด มีจั๊กจั่นทะเล มีผักบุ้งทะเล พวกเขาไม่สามารถพูดได้ กำแพงกันคลื่นทำให้ทรัพยากรในพื้นที่เสียหาย วันนี้เรามาเป็นตัวแทนที่จะบอกว่า ต้องยุติการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น อยากให้กรมโยธาฯ ไปบอกนายของท่านและให้ยอมรับอย่างกล้าหาญว่า เป็นเหตุทำให้ชายหาดเสียหายต้องยุติบทบาทตัวเองลง และต้องยกเลิกมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง และข้อเรียกร้องนี้ต้องถูกประกาศเป็นมติ ครม.ด้วย”

ด้าน มัยมูเนาะ ชัยบุตรดี ตัวแทนจากกลุ่มนักรบผ้าถุงจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า ที่สงขลามีการทำกำแพงกันคลื่นเช่นเดียวกัน อย่างที่หาดทรายแก้ว พบว่าเมื่อสร้างแล้วทำให้ชายหาดหายไปอย่างถาวร และโครงสร้างบางส่วนพังเสียหาย

“เราต้องการปกป้องชายหาดของเรา ชายหาดที่จะนะ เคยเป็นชายหาดที่สวยงามมาก แต่วันนี้กรมโยธาเอาก้อนหินมาทำกั้นคลื่นทำให้วันนี้ชายหาดของเราเว้าแหว่งไปมาก ศูนย์หายไปหลายกิโลเมตร บ้านเรือนได้รับผลกระทบ ชายหาดเป็นของพี่น้องทั่งประเทศ หากว่ากรมโยธายังมีแผนโครงการแบบนี้ทั่วประเทศชายหาดของเราต่อจากนี้ จะต้องถูกทำลาย เป็นความทุกข์ระทมของพี่น้อง ถ้าประเทศเราไม่มีชายหาดแล้วเราจะมีอะไรนำเสนอให้ต่างชาติมาเที่ยวบ้านเรา พวกคุณรู้ดีว่างบประมานแผ่นดิน แต่เราไม่ได้ช่วยรักษาชายหาดของเราเลย เราจะแฉให้ทั่วโลกได้รู้ว่า ชายหาดที่ทำแบบขั้นบันไดแล้วใครจะมาเที่ยว ไม่มีใครอยากหกล้มตีลังกา”

โดยหลังจากนี้ กลุ่ม Beach For Life และ กลุ่มนักรบผ้าถุงจะนะ จะเดินทางไปเรียกร้องยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุมัติให้การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA ก่อนเสมอ หากไม่เป็นผลสำเร็จจะเดินทางไปเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาลและปักหลักชุมนุมต่อเนื่องเพื่อกดดันให้เร่งพิจารณา

ด้าน พงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล โดยในการดำเนินการจะเริ่มจากการที่กรมฯ ได้รับคำขอโครงการจากท้องถิ่น และทำการคัดเลือกพื้นที่ดำเนินการตามระดับความรุนแรงของการกัดเซาะที่ส่งผลต่อความเดือดร้อนของประชาชนหรือทรัพย์สินของทางราชการ และต้องสอดคล้องกับข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

จากนั้นจะดำเนินการศึกษา สำรวจออกแบบตามหลักวิชาการ โดยในขั้นตอนการศึกษาออกแบบนั้น กรมฯ ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ เข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อนำข้อคิดเห็นไปทบทวนปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานที่เหมาะสม จึงเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างต่อไป พร้อมกันนี้ ได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม และมีการตรวจสอบเฝ้าระวังผลกระทบในระยะยาวหลังก่อสร้างเสร็จ

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ากลุ่ม Beach for life และ เครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด ได้ยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ให้รัฐบาลดำเนินการตาม 3 ข้อ คือ 1. ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งแก้ไขมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 กรกฎาคม 2534 และวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539 ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการ (เดิม) ในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันและจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรชายหาด ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการสร้างกำแพงกันคลื่น เพื่อทำลายชายหาด

2. ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเอาโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังเดิม เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิให้แก่ประชาชนและชุมชน รวมถึงเพื่อให้เกิดกระบวนการและกลไกในการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนก่อนดำเนินการโครงการกำแพงกันคลื่น และ 3.ขอให้คณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้มีการฟื้นฟูสภาพชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น โดยเฉพาะหาดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาดังเดิม นั้น

กรมโยธาธิการและผังเมือง ขอเรียนว่า กรมฯ มีหน้าที่แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และแก้ไขเพิ่มเติม และกฎกระทรวงแบ่ง ส่วนราชการ พ.ศ. 2557 พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และมติครม. วันที่ 30 กรกฎาคม 2534 และมติครม.วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539 ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำและริมทะเลทั่วประเทศ และกรมฯ ได้ดำเนินโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ภายใต้พรบ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 โดยมี “คณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองและให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นต่อโครงการ มาตรการ ระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติ สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในภาพรวมและเชิงพื้นที่” ที่มีคณะกรรมการมาจากนักวิชาการ ภาค ปชช. NGO และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการที่จะก่อสร้างตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นมา จะต้องเสนอต่อคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองฯ เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอต่อไปยังสำนักงบประมาณเพื่อประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ จะเห็นได้ว่าแนวทางดังกล่าวเป็นกลไกที่ใช้พิจารณาการของบประมาณในปัจจุบัน ในการกลั่นกรองโครงการ และมีหน่วยตรวจสอบดูแลที่มีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน กรมฯ ได้ปรับแนวทางการออกแบบเป็นโครงสร้างป้องกันรูปแบบผสมผสานที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิมตามมาตรฐานวิชาการ เพิ่มการเสริมทรายชายหาดหน้าเขื่อน ซึ่งจะใช้แทนโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะที่มีขนาดใหญ่ ในบริเวณพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยว เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก่อสร้าง และมีความสวยงาม กลมกลืนสอดคล้องกับสภาพพื้นที่มากขึ้น โดยจะดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างเพื่อป้องกันการกัดเซาะในพื้นที่เดือดร้อนเร่งด่วน และจำเป็นตามหลักวิศวกรรมเท่านั้น และโครงการจะต้องผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนของคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองฯ ด้วย ทั้งนี้ ภารกิจในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีหลายหน่วยงาน ดำเนินการ เช่น กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น การยุติบทบาท จะส่งผลต่อสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ

สำหรับประเด็น การทบทวนให้นำโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ผลเป็นอย่างไรกรมฯพร้อมจะดำเนินการ ต่อไป ส่วนแนวทางการฟื้นฟูสภาพชายหาดบริเวณพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยที่ได้รับความเสียหายมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลคือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ท้ายสุดกรมโยธาฯ ขอยืนยัน ว่าการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล จะดำเนินการในพื้นที่ที่มีสภาพการกัดเซาะรุนแรง และเป็นความต้องการของประชาชน ในพื้นที่ โดยจะเลือกรูปแบบที่เหมาะสมทางวิชาการ ผ่านการรับฟังความคิดเห็น และความเห็นชอบของคณะทำงานกลั่นกรองระดับชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างยั่งยืน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active