เครือข่ายสิ่งแวดล้อมจัดงานเสวนา ‘ชายหาดไทยกำลังหายไปเพราะรัฐสร้างกำแพงกันคลื่น’ สะท้อนผลกระทบจากการปกป้องชายหาดที่ขาดการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม (Green News) กลุ่ม Beach For Life มูลนิธิภาคใต้สีเขียว มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนและภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดงานเสวนา ‘ชายหาดไทยกำลังหายไปเพราะรัฐสร้างกำแพงกันคลื่น’ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีภาคประชาสังคม ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากกำแพงกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง เข้าร่วมงาน
เฉลิมศรี ประเสริฐศรี มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า หลายพื้นที่ไม่เหมาะกับการทำกำแพงกันคลื่น ซึ่งมูลนิธิได้ดูแลคดีฟ้องร้องในกระบวนการยุติธรรมอยู่ทั้งหมด 6 คดี โดยคดีต่าง ๆ ที่ฟ้องศาลไป พบว่าถ้ายังไม่เริ่มศาลมีโอกาสชะลอมากกว่าพื้นที่ที่เริ่มดำเนินการแล้ว โดยย้ำว่าควรมีข้อเสนอการแก้ปัญหาที่มากกว่านี้ เช่น กรณีพื้นที่เติมทราย เราเห็นตัวอย่างที่พัทยาและพบว่าชาวประมงยังเทียบเรือ ขายอาหารทะเลได้ แต่ถ้าเทียบกับกำแพงกันคลื่นจะไม่สามารถทำแบบนี้ได้เลย
“โดยที่ผ่านมามูลนิธิดูแลคดีที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกำแพงกันคลื่น ถึง 6 คดี ใน 6 พื้นที่ โดยพบว่ามีการก่อสร้างโครงสร้างแข็งหลายรูปแบบ บางพื้นที่ไม่มีการขออนุญาตการสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำ ไม่มีการขออนุญาตหน่วยงานราชการท้องถิ่น พอเราไปฟ้อง ก็เพิ่งจะมาขออนุญาตทีหลัง แต่ถ้ามี EIA มันจะมีกระบวนการที่ละเอียดมากกว่านี้ ตั้งแต่ก่อนจะสร้าง รวมถึงหลังสร้าง หากว่าผ่าน EIA สร้างแล้วได้รับผลกระทบ ชาวบ้านก็จะได้รับการเยียวยาได้ ประเงื่อนไขของ EIA ระบุไว้ แต่ตอนนี้คือกรมโยธาฯ ก็โยนให้เป็นความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่าฯ แทน
ปริดา คณะรัตน์ กลุ่ม Saveหาดม่วงงาม ระบุว่า กรณีการคัดค้านกำแพงกันคลื่นที่หาดม่วงงามแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งให้ชะลอโครงการแล้ว แต่เราก็รู้สึกว่าทำไมเราต้องเสียเวลากับการต่อสู้ กับเรื่องที่ไม่สมควรเสียเวลา ชาวบ้านต้องไปนอนหน้าศาลากลางจังหวัดเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นชายฝั่ง ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาถ้านโยบายของรัฐเป็นประโยชน์ต่อพวกเรา
“สิ่งที่กรมโยธาได้สร้างไปแล้วอยากให้ทบทวน สิ่งที่จะทำใหม่อยากให้พิจารณาให้ดี อยากให้หันกลับไปดูว่า สิ่งที่ทำไปแล้วมันมีผลกระทบอย่างไร อยากให้รับฟังชาวบ้าน ให้เกียรติชาวบ้านมากกว่านี้”
อภิศักดิ์ ทัศนี กลุ่ม Beach for life กล่าวว่า การมีกำแพงกันคลื่นทำให้บริบทพื้นที่เปลี่ยน สัณฐานธรณีเปลี่ยนไป แม้ว่าจะมีการเติมทราย หรือถ้าทำแล้วไม่ดีทุบออกก็ไม่ได้ช่วย เพราะว่าสัณฐานธรณีมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่ถ้ามันยืนยันว่าจำเป็นต้องทำโครงสร้างแข็ง ก็ควรที่จะมีการทำ EIA แล้วพิจารณาว่าตรงไหนควรทำ ทำอย่างไรให้เหมาะสม ให้สมดุลระหว่างแนวทางพัฒนาและการอนุรักษ์ แต่ไม่ใช่อยากจะทำแบบดันทุรัง
“เราไม่ได้มีปัญหากับกำแพงกันคลื่น แต่เรามีปัญหากับกระบวนการและหน่วยงาน กำแพงกันคลื่นไม่ใช่ผู้ร้ายมันอาจจำเป็นในการป้องกันชายฝั่ง แต่มันต้องอยู่ในบริบทที่จำเป็น เหมือนหมอที่ให้มอร์ฟีนคนไข้ ให้ได้ถ้ามันมีความเหมาะสมไม่ใช่ให้ทุกคน ผมคิดว่าคุณวราวุธ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ก็รักสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน ถ้าคุณวราวุธเห็นความสำคัญของเรื่องนี้จะต้องเอา EIA กลับมา เราต้องการให้มีกระบวนการที่เหมาะสม ให้คนที่ได้รับผลกระทบได้รับการดูแลชดเชยเยียวยา ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากกำแพงกันคลื่น เราเรียกร้องความกล้าหาญและความจริงใจของรัฐบาล”
ปฏิภาณ บุณฑริก ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง เบื้องหลังกำแพง (BEHIND THE WALL) รางวัลขวัญใจผู้ชมในเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน ครั้งที่ 2 เล่าว่า แม้แต่ในภาพยนตร์ที่บันทึกภาพในชายหาดเดียวกัน เมื่อมีกำแพงกันคลื่นพบว่าชายหาดเปลี่ยนไป และมองว่าเรื่องการเรียกร้องของประชาชนเป็นเรื่องของคนตัวเล็ก ๆ ซึ่งไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนกลไกการจัดการ
“ธรรมชาติไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือของส่วนรวม ที่ต้องแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงคนทุกกลุ่ม การรวมตื่นรู้ รวมตัวกันในการเรียกร้อง น่าจะมีพลังและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายได้”
วรวัฒน์ สภาวสุ นักกีฬาไคท์เซิร์ฟ (Kite Surf) สะท้อนมุมมองของคนกรุงเทพฯ ว่าเวลาอยู่กับป่าคอนกรีตไปสักพักก็โหยหาธรรมชาติ ในวันหยุดพลูวิลล่าต่าง ๆ จึงขายดี การท่องเที่ยวธรรมชาติจึงจำเป็น นอกจากนั้นส่วนตัวเขายังเรื่องกีฬาไคท์เซิร์ฟ ต้องอาศัยหาดทราย และอยู่กับคลื่นลมทะเล เป็นกีฬาชนิดนี้เป็นที่ยอมรับทั่วโลกและนักกีฬาระดับโลกมาใช้พื้นที่ฝึกอยู่ที่ไทย แม้ว่าวันนี้คนไทยอาจจะยังไม่ได้รู้จักมากนัก แต่ก็อยากสะท้อนว่าชายหาดจำเป็นกับกีฬาประเภทนี้ด้วยเหมือนกัน เมื่อได้เห็นว่ามีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นก็ทำให้พื้นที่เล่นกีฬาชายหาดลดน้อยลง
“พอเรารู้จักธรรมชาติมากขึ้น เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลง เรารู้เลยว่าศัตรูจริง ๆ คือการไม่รู้จัก จะสร้างตรงนั้น จะยึดตรงนี้ แต่ถ้าเราเข้าใจจริง ๆ ว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ แค่ปรับตัว ไม่เห็นต้องสร้างอะไรมากมายเลย”
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และ กองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี ยืนยันว่า ถ้ามีการทำการประเมิณผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA จะช่วยลดผลกระทบจากการแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะได้จริง และเชื่อว่างบประมาณ รวมถึงโครงการกำแพงกันคลื่นจะไม่ผุดขึ้นมากมายขนาดนี้ ที่ผ่านมาไทยมีปัญหาในเรื่องนโยบายอยู่ 2 อย่าง คืองบประมาณ และจุดยืนของผู้มีอำนาจ ทำยังไงให้ผู้มีอำนาจใช้เครื่องมือการแก้ปัญหาเรื่องต่าง ๆ อย่างมีคุณภาพไม่ใช่เลือกสิ่งที่แพงที่สุด และมีวิสัยทัศน์ที่จะแก้ไขอย่างจริงใจและเห็นประโยชน์ของสาธารณะส่วนรวม
“กรณีเขื่อนกันคลื่นถ้าไม่ใช่คนใกล้เคียงอาจจะคิดว่าไม่ได้เกี่ยวกับฉัน ดังนั้นคนในพื้นที่อาจจะรู้สึกเหนื่อยว่าสู้อย่างโดดเดี่ยว หลายพื้นที่ที่จะสร้างกำแพงกันคลื่นก็อยู่ไกลจากตัวเมืองในจังหวัดนั้นๆ ความจำเป็นจึงคือการสื่อสารไปยังกลุ่มคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่แค่คนเฉพาะกลุ่มแต่สื่อสารกับคนทั่วไปให้เข้าใจทั่วถึง และร่วมกันรักษาชายหาด หาวิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน”