เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกเกือบล่ม ชาวบ้านค้านกังวลผลกระทบซ้ำรอย ชี้โรงงานไม่จริงใจ เลี่ยงขนาดไม่ทำ EIA ด้านผู้แทนโรงงานชี้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนประมูลจาก กกพ. ยืนยันเดินหน้าต่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านแม้มีเสียงคัดค้าน
วันนี้ (18 ก.ค.66) บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 โครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมของ บ.พราวฟ้า พาวเวอร์ จำกัด, บ.กรีน แคร์เอ็นเนอร์ยี่ จำกัดและ บ.มี พรีม เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ณ โรงแรมแคนทารี กบินทร์บุรี ต.เมืองเก่า อ.กบินทร์บุรีจ.ปราจีนบุรี
เบญจภรณ์ บุณยพุกกณะ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการโดยระบุว่า ทั้ง 3 บริษัทจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทครวม 61 ไร่ กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงอุตสาหกรรมจากเศษผ้า ไม้ยาง พลาสติก เศษกระดาษ และหนัง ในรูปแบบอัดแท่งหรือ SRF มีเทคโนโลยีควบคุมมลพิษทางดิน น้ำ และอากาศได้แก่ PM2.5 สารไดออกซิน สารโลหะหนัก ออกไซด์ของไนโตรเจน และอื่น ๆ โดยกระบวนการผลิตมีเครื่องมือตามมาตรฐานและกฎหมายกำหนด รวมถึงมีมาตรการลดผลกระทบระหว่างก่อสร้างต่อเนื่องจนถึงการดำเนินกิจการ มีโครงสร้างอาคารปิดคลุมเชื้อเพลิงมิดชิด พร้อมติดตั้งจอแสดงผลค่ามลพิษต่าง ๆ ด้านหน้าโรงงานตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับชุมชนที่อยู่ในรัศมี 3 กิโลเมตร ที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโดยตรง คือ ชุมชนในตำบลลาดตะเคียนหมู่ 1,2,3,8,9,10 และ 13 รวมถึง หมู่ 2,6 ตำบลหาดนางแก้ว ซึ่งการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ยังมีตัวแทนที่อยู่นอกรัศมีเข้าร่วมฟังด้วย เนื่องจากพวกเขามองว่าจะได้รับผลกระทบไม่ต่างกันหากมีการดำเนินกิจการพร้อมกันทั้ง 3 โรง
สุนทร คมคาย ผู้ประสาน อสม.กบินทร์บุรี เป็นตัวแทนชาวบ้านคนแรกที่ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็น โดยเขาบอกว่าที่ผ่านมาในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมรวมถึงการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม
“กังวลว่าโรงงานจะทำไม่ได้เหมือนที่พูด เพราะที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าเวลาเกิดปัญหา ไม่สามารถแก้ไขได้ ซีเซียมทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่าจะจัดการอย่างไร”
สุเมธ เหรียญพงษ์นาม กลุ่มคนรักษ์กรอกสมบูรณ์ บอกว่าสถานที่เปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ไม่สะดวก ไกลเป็นอุปสรรคในการเดินทาง วันที่เปิดรับฟังไม่ใช่วันหยุด คนที่สนใจแต่ต้องทำงานอาจจะไม่สามารถเข้าร่วมได้ ขณะที่ประเด็นสำคัญ คือ การตั้งข้อสังเกตกับการเปิดของโรงงานทั้ง 3 แห่งติดกัน แม้ว่าจะเป็นโรงงานขนาดที่ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ แต่หากเดินเครื่องจักรพร้อมกัน กำลังการผลิตก็เกือบ 30 เมกะวัตต์ จึงเห็นว่าบริษัทจงใจยื่นขออนุญาตเพื่อเลี่ยงการทำรายงานประเมินผลกระทบ หรือว่า EIA
“ขนาดของโรงงานไฟฟ้าบอกว่า 9.9 เมกะวัตต์ แต่เปิดพร้อมกัน 3 โรง อยู่ติดกัน เจ้าของคนเดียวกันแค่คนละชื่อ แค่นี้ก็แสดงถึงความไม่จริงใจของโรงงาน เลี่ยงการทำ EIA ซึ่งขั้นตอนการประเมินผลกระทบยุ่งยากมากกว่า”
ยังมีตัวแทนชาวบ้านทั้งในและนอกเขตรัศมีที่จะได้รับผลกระทบ แสดงความคิดเห็นต่อเนื่อง โดยประเด็นร่วมส่วนใหญ่ คือการที่ชาวบ้านไม่มั่นใจในความปลอดภัย ทั้งด้านสุขภาพผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ชาวบ้านจะต้องเป็นผู้แบกรับ รวมถึงข้อมูลที่ทางโรงงานชี้แจงครั้งนี้ไม่ละเอียดขาดข้อมูลสำคัญหลายเรื่อง พวกเขาพยายามที่จะแสดงจุดยืนในที่ประชุมว่าคัดค้านไม่อนุญาตให้โรงงานมาตั้งในพื้นที่ดังกล่าว
ด้าน ศุภวัฒน์ คุณวรวินิจ กรรมการบริหาร ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ 3 บริษัทที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่ในขณะนี้ ชี้แจงรายประเด็นว่า การสร้างโรงงานติดกันทั้ง 3 แห่ง บริษัทไม่มีเจตนา เพียงแต่ไม่คิดว่าการยื่นประมูลครั้งนี้จะผ่านและได้ทั้งหมด “กกพ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) พิจารณาคุณสมบัติผู้ที่ผ่านการคัดเลือก เราไม่ทราบเพิ่งทราบวันประกาศ ว่าพื้นที่ที่เสนอมาได้ทุกโครงการ เราคิดว่าเราจะได้ แค่โรงเดียวจึงยื่นไปก่อน” ส่วนประเด็นการซื้อที่ดินไว้ล่วงหน้าเพราะมั่นใจว่าจะสามารถก่อสร้างโครงการได้นั้น เดิมทีการประมูลระบุเอาไว้ว่าต้องมีที่ดินในการก่อสร้าง ซึ่งเราก็เพียงแค่ทำสัญญาจะซื้อขายเอาไว้เพื่อยืนประมูลให้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์
ส่วนปริมาณเชื้อเพลิงที่จะใช้ในการเดินเครื่องทั้ง 3 โรง ปริมาณเท่ากัน คือ 250 ตันต่อวัน คาดว่าจะมีกากขี้เถ้าเหลือจากกระบวนการผลิตทุกโรง โรงละ 25 ตัน ซึ่งทางโรงงานต้องส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่ระบุเอาไว้และมลพิษที่จะเกิดจากระบวนการผลิต ในการเดินเครื่องพร้อมกันตลอด 24 ชั่วโมง ก็มีมาตรฐานในการตรวจวัดที่ปลายปล่อง และนิคมอุตสาหกรรมมีการทำ EIA ระบุตัวเลขชัดเจน
”แม้จะเดินเครื่อง 3 โรงพร้อมกัน แต่ก็ต้องไม่เกินค่ามาตรฐานที่ทางนิคมฯ ระบุเอาไว้ เขาดูภาพรวมทั้งนิคมฯ หากเกินเราก็ทำไม่ได้ กรณีหากเปิดได้ก็แสดงว่าภาพรวมไม่เกินตามกฎหมายกำหนด มันมีมาตรฐานของมัน”
ขณะที่การถือครองหุ้นส่วนใหญ่ของโรงงานไฟฟ้าขยะทั้ง 3 โรงเป็นชื่อของบริษัทเดียวกัน คือ บริษัท เอิร์ธ เท็คเอนไวรอนเมนท์ จำกัด ผู้บริหารชี้แจงเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องปกติเพื่อการคล่องตัวในการบริหารที่ต้องจัดตั้งบริษัทลูกเข้าดำเนินงาน แต่ไม่ปฏิเสธว่าการประมูลระบุเอาไว้ว่าต้องเป็นคนละบริษัท คนละนิติบุคคล พร้อมย้ำว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยขยะอุตสาหกรรมมีต้นทุนการผลิตที่สูง ไม่คุ้มค่า แต่ว่าที่รัฐบาลสนับสนุนเพราะวัตถุประสงค์หลักเป็นเรื่องของการจัดการกากขยะอุตสาหกรรมที่แต่ละปีมีไม่น้อยกว่า 10 ล้านตัน จากนี้จะเดินหน้าทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ลงพื้นที่และยินดีพาไปศึกษาโรงงานและเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าขยะที่มีการจัดการได้ดีในหลายพื้นที่ของประเทศ เช่น อยุธยา พิจิตร