สธ.ปรับแนวทางให้ยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแต่ 1 มี.ค. แล้ว แต่ผู้ติดเชื้อยังหวังได้รับยาเหตุสับสนข่าวสาร กรณีอธิบดีกรมควบคุมโรคเผยผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น 79% หลังรับยา ขณะที่ นพ.วาโย พรรคก้าวไกล กังขาประสิทธิภาพฟาวิพิราเวียร์รักษาโควิดได้ดีจริงหรือ
เมื่อวันที่ 30 มี.ค 2565 ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบให้บริการ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ มีเพียงพอสำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2565 องค์การเภสัชกรรมได้ผลิตและจัดหายาฟาวิพิราเวียร์เข้ามารวม 128.1 ล้านเม็ด และตั้งแต่วันที่ 1-28 มีนาคม 2565 มีการผลิตและจัดหายา จำนวน 73.9 ล้านเม็ด มีการกระจายยาให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย จำนวน 72.52 ล้านเม็ด
โฆษกรัฐบาล กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ยังสนับสนุนให้มีการใช้ยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลายชนิด ทั้งยาฟ้าทะลายโจรฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) และโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir)
ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังอนุมัติเห็นชอบให้มีการจัดหายาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) เข้ามาเพิ่มเติม โดยในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ข้อมูลวันที่ 28 มีนาคม 2565 มียาคงคลังทั่วประเทศ 25 ล้านเม็ด อยู่ในส่วนกลาง 2.2 ล้านเม็ด ในโรงพยาบาลต่างๆ 22.8 ล้านเม็ด
“นายกรัฐมนตรียืนยัน ไทยมีระบบสาธารณสุขที่มีสมรรถนะในการบริการประชาชนและเตรียมพร้อมในการรองรับทุกสถานการณ์ด้วยแล้ว”
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
คำนวณตัวเลขการใช้ยาฟาวิฯ พอจริงไหม
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 25,389 คน และผู้ติดเชื้อเข้าข่ายจากการตรวจ ATK 25,397 รวมเป็น 50,786 คน ถ้าต้องจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ทุกคนที่ติดเชื้อคนละประมาณ 50 เม็ดก็จะต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ 2,539,300 เม็ดและถ้ามีผู้ติดเชื้อรายวันเฉลี่ย 5 หมื่นคนในสัปดาห์นี้ต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์17,500,000 เม็ด
อย่างไรก็ตาม นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุอัตราการใช้ยาประมาณวันละ 2 ล้านเม็ด หรือ 14 ล้านเม็ดต่อสัปดาห์ ขณะที่องค์การเภสัชกรรมมีการจัดหาประมาณ 15-20 ล้านเม็ดต่อสัปดาห์ จึงอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการใช้ เพราะไม่ได้จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับผู้ติดเชื้อทุกคนอยู่แล้ว
แนวเวชปฏิบัติในการรักษาโควิด 19 ในขณะนี้ พบว่ามีการใช้ยารักษาตามอาการมากที่สุด 52% ใช้ยาฟ้าทะลายโจร 24% ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ใช้26% โดยแพทย์จะพิจารณาการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลเพื่อลดผลกระทบต่อตับหรือไต รวมถึงป้องกันปัญหาการดื้อยา
ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุหากมียาเข้าระบบวันละ 1 ล้านเม็ด จะดูแลผู้ป่วยได้ 20,000 คน เรามี 1,000 โรงพยาบาลรัฐ แปลว่าในแต่ละวันเฉลี่ยจะมียาฟาวิสำหรับผู้ป่วยได้วันละ 20 คนต่อโรงพยาบาลซึ่งน้อยมาก
หากมียาเข้าระบบ 2 ล้านเม็ดและสม่ำเสมอจริง เฉลี่ยแต่ละโรงพยาบาลรัฐก็จะมียาใช้ 40 คนต่อวัน ไม่ได้มากมายอะไรกับการระบาดที่หนักหน่วงในขณะนี้
“ภาพรวมที่ว่ายาพอนั้นก็จริงจากตัวเลข แต่ความจริงคือมีความขาดแคลนกว้างขวางในหลายพื้นที่ และที่สำคัญคือ ไม่รู้ว่าอีกกี่วันยาจะมาเติมให้อีก”
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
อย่างไรก็ตาม ทางชมรมแพทย์ชนบทได้เห็นสัญญาณที่ดีของผู้บริหารในกระทรวง ที่เร่งช่วยกันแก้ปัญหา และเชื่อว่าปัญหายาฟาวิพิราเวียร์ขาดแคลนจะยุติลงในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะปัจจุบันเรายังมีอีกหลายปัญหาที่ไม่เคยเกิดก็เกิด อาทิ แม้แต่พาราเซตามอล ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอก็ขาดแคลน สั่งซื้อแล้วไม่มีของจะส่งให้กับโรงพยาบาล ต้องรอคิว ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นเลยตลอด50 ปีที่ผ่านมา
ทำไมผู้ติดเชื้อโควิด-19 หวังได้ยาฟาวิพิราเวียร์
The Active ย้อนดูช่วงเดือนกันยายน ปี 2564 ยาฟาวิพิราเวียร์ มีเหลือเฟือขณะที่ผู้ติดเชื้อมีวันละประมาณ 1 หมื่นคน จึงสามารถจ่ายยาให้กับผู้ติดเชื้อทุกคน ขณะที่ช่วงนี้ความต้องการสูง ต้องเก็บไว้ให้กลุ่มเสี่ยง
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเท่าตัวจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มที่ไม่มีอาการไม่จำเป็นต้องจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งไปตามแนวทางการรักษาของทั่วโลก หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์จากทุนคนเป็นจ่ายให้กับผู้ที่มีอาการปานกลางขึ้นไป เป็นไกด์ไลน์ใหม่ของกรมการแพทย์ เริ่มวันที่ 1 มี.ค. 2565 โดยการจ่ายยาขอให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา และทำความเข้าใจกับคนไข้ ยาคือยาต่างจากขนม ยาทานเข้าไปแล้วก็มีผลดี ผลข้างเคียงและผลเสีย จึงต้องรับประทานที่จำเป็นจริง ๆ
“เราน่าจะเป็นการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์มากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะเราใช้หลายสิบล้านเม็ด แต่ต้องพิจารณาข้อดีข้อเสีย”
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต
ขณะที่ นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่าประชาชนเข้าใจผิด แนวทางการรักษาในปัจจุบันออกมาว่า ผู้ป่วยไม่มีอาการไม่จำเป็นต้องได้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวเเสดงความเห็นกรณีที่ในวงการแพทย์ทางวิชาการ มีการถกเถียงถึงประสิทธิภาพของยาฟาวิพิราเวียร์ เมื่อสืบค้นในฐานข้อมูลทางการแพทย์ระดับสากล พบว่า มีรายงานทางวิชาการหลายฉบับให้ข้อสรุปค่อนข้างตรงกัน ซึ่งได้รายงานอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงล่าสุดในช่วงต้นปี 2565 นี้เองร่วมกับรายงานทางวิชาการในระดับที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งอาจถือได้ว่าสูงที่สุด ที่ได้จากการวิเคราะห์อภิมานหรือที่เรียกว่า Meta Analysis เผยแพร่เมื่อช่วงปลายปี 2564 โดยได้รายงานว่า
“No significant beneficial effect on the mortality among mild to moderate COVID-19 patients”
แปลเป็นไทยได้ว่ายาฟาวิพิราเวียร์ ไม่มีประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราการตายในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงไปจนถึงในรายที่มีอาการรุนแรงปานกลาง
อย่างไรก็ตาม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าผลการศึกษาจากศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ภายใน 14 วัน กลุ่มที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์มีอาการดีขึ้น 79% ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับยาอาการดีขึ้น 32.3% โดยผู้ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์มีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 ของการรักษา และในวันที่ 13 และ 28 ของการรักษาจะมีปริมาณไวรัสต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยา แต่มีข้อจำกัด คือ หากรักษาช้าและอาการค่อนข้างหนัก ประสิทธิภาพของยาจะไม่ดีนัก
วันที่ 28 มี.ค. 2565 ชมรมแพทย์ชนบท โพสเฟสบุ๊คถึงสถานการณ์ การขาดแคลนยา และข้อมูลข่าวสารที่ไม่ชัดเจน จนสร้างความวิตกให้ประชาชนในขณะนี้ว่า ฟาวิพิราเวียร์ที่ขาดหนัก ยังไม่เท่าความอึมครึมของข่าวสาร
- “ทำไมหมอไม่ให้ยาฟาวิ ยายผม 60 ปีแล้ว มีเบาหวานด้วย”
- “ช่วงนี้ยาฟาวิมีน้อยมาก หมอขอสงวนไว้สำหรับคนที่หนักจริงๆนะ”
- “โรงพยาบาลห่วยๆ ยาฟาวิก็ยังไม่มี ”
- “มันไม่มียาจริงๆ กินฟ้าทะลายโจรไปก่อน ได้ผลเหมือนกัน หากไม่ดีขึ้นมาโรงพยาบาลได้ตลอด”
- “ถ้ายายผมพี่ผมเป็นอะไรไป หมอต้องรับผิดชอบ”
นี่คือสถานการณ์จริงหน้างาน สืบเนื่องจากความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติกับฟาวิพิราเวียร์ที่ขาดแคลนหนัก
ต่อมา 29 มี.ค. 2565 กระทรวงสาธารณสุขจึงออกมาโต้ตอบทันทีพร้อมแสดงเลขสต็อกยาว่ามีเพียงพอ และเตรียมจัดหายาสำรองช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้