เผยความคืบหน้าแก้ปัญหาชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ‘เฉลิมชัย’ เซ็นตั้งคณะทำงาน วิจัย จัดทำแผนที่ทำกิน ขณะที่ พีมูฟ จี้ รัฐบาลกู้วิกฤตศรัทธา หลังคว่ำ ม.27 พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ หวัง สว.คืนหลักการสำคัญ เพื่อให้กฎหมายสมบูรณ์
เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 68 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ระบุได้รับแจ้งจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 62/2568 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย ตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. 2568 หลังพีมูฟ และ กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น เรียกร้องการแก้ไขปัญหาให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจำนวน 37 ครอบครัว ได้กลับขึ้นไปทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมตั้งแต่ต้นปี 2564
คำสั่งคณะทำงานนี้ เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในสมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มี อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธาน

โดยมติคณะกรรมการฯ ดังกล่าวระบุว่า “มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย” ประกอบ
- ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่ประสงค์จะกลับไปดำรงวิถีชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน
- กรรมการอิสระ
- ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยคณะทำงานชุดนี้ มีบทบาทหน้าที่ ประกอบด้วย
- การสำรวจการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย
- จัดทำแผนที่ ระบุ ขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามมาตรา 64 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
- จัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ พร้อมกำหนดมาตรการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยขอสนับสนุนภาพถ่ายทางอากาศบริเวณพื้นที่บางกลอยบน จากกรมแผนที่ทหาร และ ขอความอนุเคราะห์กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) อ่านวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ พิสูจน์ร่องรอยการตั้งถิ่นฐานและการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน
ก่อนหน้านี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ลงนามเห็นชอบมตินี้เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2566 แต่หลังจากนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ดำเนินการตามมติดังกล่าวแต่อย่างใด

ชาวบางกลอย หวัง รัฐบาลจริงใจพากลับถิ่นฐานดั้งเดิม
พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ตัวแทนกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี บอกว่า การเรียกร้องของชาวบ้านเพื่อกลับบ้านบางกลอยบน ซึ่งเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2564 ผ่านนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 3 คน ได้แก่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, เศรษฐา ทวีสิน และ แพทองธาร ชินวัตร ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาแล้ว 3 คนเช่นกัน ได้แก่ วราวุธ ศิลปอาชา, พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ซึ่งเขาคิดว่าการลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่ายนี้เป็นความหวังใหม่ของชาวบ้าน
“กระทรวงทรัพยากรฯ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ตั้งแต่ วราวุธ ศิลปอาชา ที่มีอคติต่อเรา ต่อมาคือ พัชรวาท ที่ลงนามคำสั่งนี้แต่ว่าไม่ตรงตามข้อเรียกร้องของเรา จนมาถึงรัฐบาลแพทองธาร ที่มีรัฐมนตรีชื่อ เฉลิมชัย ลงนามให้เราตามที่ต้องการ เรารู้สึกว่าเราเริ่มกลับมามีความหวังอีกครั้ง เป็นการรอคอยกว่า 4 ปีที่ยาวนานมาก”
พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร
นอกจากนั้น ชาวบางกลอยยังคิดว่า รัฐบาลควรคิดให้ได้ว่าปัญหาจริง ๆ เกี่ยวกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหลักอยู่แล้ว รัฐบาลควรกำกับดูแลการทำงานของกระทรวงนี้ให้ได้ หวังว่าหลังจากนี้การดำเนินงานจะเป็นไปได้ด้วยดี
“ผมคาดหวังว่ากระทรวงทรัพยากรฯ จะเปิดใจยอมรับความเป็นจริงว่าชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเรื่องที่ทำกิน แล้วเราประสงค์อยากจะกลับขึ้นไปทำกินในรูปแบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนจริงๆ เรื่องความล้มเหลวของเขาที่ผ่านมาผมไม่อยากเน้น ตอนนี้ผมขอแค่เขายอมให้เรากลับไป ผมก็จะดีใจมาก”
พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร
ตัวแทนชาวบ้านบางกลอย ยังยืนยันว่า พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนความเป็นอยู่ของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งถึงแม้ฝ่ายรัฐบาล พรรคการเมืองบางพรรค นักการเมืองบางคน ไม่เข้าใจ แต่ก็คาดหวังว่าจะมีคนเข้าใจปัญหาของพี่น้องชาติพันธุ์อยู่บ้าง อย่างน้อยก็พิสูจน์ผ่านการดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการแก้ปัญหาที่ดินของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยหลังจากนี้

‘พีมูฟ’ จี้ รัฐบาลกู้วิกฤตศรัทธา หลังคว่ำ ม.27 พื้นที่คุ้มครองฯ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ
ขณะที่ พชร คำชำนาญ กองเลขานุการพีมูฟ บอกว่า การดำเนินงานหลังจากนี้ภายใต้คณะทำงาน 3 ฝ่าย จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงใจและศักยภาพของรัฐบาลที่นำโดย นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เฉลิมชัย ศรีอ่อน ท่ามกลางการจับตาของประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ หลังจากที่พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลังโหวตคว่ำ มาตรา 27 ตามร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … ซึ่งมาตราดังกล่าวว่าด้วยพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ต้องไม่นำหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ว่ารัฐบาลเข้าใจปัญหาที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์หรือไม่
“ผมยังไม่เชื่อมั่นขนาดนั้นว่าในทางปฏิบัติจะเกิดผลที่น่าพอใจและสามารถแก้ไขปัญหาเรื้อรังในด้านที่ดินทำกินของชาวบางกลอยได้จริงหรือไม่ เราเห็นบทเรียนจากกฎหมายชาติพันธุ์แล้ว ที่รัฐบาลเองคือฝ่ายที่คัดค้านการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทับซ้อนกับการถูกรัฐประกาศเขตป่าทับ เขาไม่เข้าใจจริง ๆ เหมือนอย่างที่เขาพูด นี่คือเดิมพันสำคัญที่รัฐบาลจะกู้วิกฤตศรัทธาของตัวเอง เพราะภาพลักษณ์รัฐบาลต่อกลุ่มชาติพันธุ์เป็นไปในทางลบอย่างมาก ฉะนั้นรัฐบาลควรเดินหน้ากำกับการทำงานของกระทรวงทรัพยากรฯ ให้เข้ารูปเข้ารอย คำนึงถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านให้มาก ไม่ใช่เป็นฝ่ายการเมืองแต่หนุนหลังหน่วยงานราชการให้รังแกประชาชนอีก เราหวังว่ารัฐบาลแพทองธาร และรัฐมนตรีเฉลิมชัย จะพาชาวบางกลอยกลับบ้านได้เสียที”
พชร คำชำนาญ
สำหรับความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ พ.ศ…ผ่านการเห็นชอบวาระ 1 รับหลักการของที่ประชุม สว. และตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณารายมาตรา
โดยชาวบ้านบางกลอยและกลุ่มชาติพันธุ์ หวังว่า สภาสูง จะพิจารณาทบทวนนำหลักการสำคัญพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม ที่จะเป็นการสร้างส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร ลดความขัดแย้งระหว่างรัฐและชาวบ้านชุมชนดั้งเดิมในเขตป่า เพื่อสามารถดำรงวิถีบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ต้นทุนสำคัญของส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ