จับตา ศาลปกครองฯ พิจารณาคดีซื้อขายไฟเขื่อนไซยะบุรีไม่ชอบฯ นัดแรก 3 พ.ค. นี้

ท่ามกลางข้อโต้แย้ง “รูปแบบเขื่อน” ขณะหน่วยงานรัฐอ้างเป็นแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี ไม่ส่งผลกระทบ แต่ชาวบ้าน 8 กลุ่มจังหวัดแม่น้ำโขง ยืนยันมีผลกระทบชัดเจน ทั้งจากรายงานแจ้งเตือนระดับน้ำ และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของ สทนช.

วันนี้ (1 พ.ค. 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีชาวบ้าน 8 กลุ่มจังหวัดแม่น้ำโขง ฟ้องการทำสัญญา ซื้อขายไฟฟ้า จากเขื่อนไซยะบุรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย แจ้งคำสั่งศาลคดีไซยะบุรี และสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวนคดีกำหนดวันนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ เวลา 9.30 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 3 ชั้น 3 ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

ในการพิจารณาคดีนัดแรก ผู้ฟ้องคดีสามารถแถลงต่อศาลด้วยวาจาและเป็นหนังสือ  เพื่อให้ข้อมูล และรับฟังความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี ว่าจะตัดสินคดีนี้อย่างไร

อ้อมบุญ ทิพย์สุนา  ตัวแทนเครือข่ายคนริมโขง 7 จังหวัดอีสาน และกรรมการด้านประมงน้ำจืด คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ  และในฐานะผู้ฟ้อง ลำดับที่ 4 ระบุว่า โดยรวมสิ่งที่ผู้ถูกฟ้องโต้กลับมา ยังคงอยู่ในเรื่องเดิม ๆ คือ

  1. กรณีโครงการเขื่อนไซยะบุรี อยู่นอกเหนือเขตอธิปไตยของรัฐไทย ข้อมูลเปิดเผยไม่ได้ เพราะไม่ได้รับอนุญาตจากคู่สัญญา คือ สปป.ลาว 
  2. โครงการไซยะบุรีไม่ใช่โครงการของรัฐไทย จึงไม่จำเป็นต้องทำตามระเบียบการรับฟังความเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีปี 2548
  3. สิ่งที่ผู้ฟ้องกังวลเรื่องผลกระทบเป็นคำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีหลักฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้
  4. เรื่องสถานะระเบียบปฏิบัติ การจัดรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการปรึกษาแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA)ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง 2538 ที่ประเทศสมาชิกคือ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม ยอมรับร่วมกัน สาระเรื่องอธิปไตย ตามมาตรา 4 และการไม่มีสถานะบังคับ แต่ก็ยังมีมาตรา 7,8 ที่รัฐใดรัฐหนึ่ง ที่สร้างผลกระทบต่อประเทศสมาชิกผู้ใช้น้ำด้วยกันแล้วต้องมีความรับผิดชอบ บรรเทาผลกระทบ จึงเสมือนทำให้เวที PNPCA เป็นการแจ้งเพื่อทราบ ไม่ใช่แจ้งเพื่อพิจารณา  

“สิ่งนี้เจ็บปวดเกินคำบรรยาย แล้วแบบไหนหรือที่น่าเชื่อถือ งานวิจัยติดตามผลกระทบ ของ สทนช. เอง ที่เฝ้าทำรายงานติดตามเรื่องนี้ มีผลกระทบชัดเจนทั้งการลดลงของปริมาณ ชนิดความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์น้ำ ตลิ่งพัง เสียงบประมาณจำนวนมากในการทำเขื่อนกันตลิ่งพัง ตะกอนทรายย้ายที่ เทศกาลประเพณีคนลุ่มน้ำดำเนินการไม่ได้ น้ำขึ้นลงรายวัน ชาวบ้านสูญเสีย อาชีพ รายได้ สิ่งต่างๆเหล่านี้ชัดเจนสุด ๆ ในหลายปีที่ผ่านมา ข่าวออกโครม ๆ สรุปคือ ไม่มีหลักฐานน่าเชื่อถือใช่ไหม ข้อมูลชาวบ้าน ข้อมูลเชิงประจักษ์เหล่านี้ แทบไม่มีความหมายใช่ไหม ขอถามในใจดัง ๆ”

ขณะที่ The Mekong Butterfly ระบุถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า ประเด็นที่มีการโต้แย้ง ทั้งในสำนวนที่ส่งต่อศาลและในพื้นที่สาธารณะคือ รูปแบบของเขื่อนไซยะบุรี เป็นแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-of-the-River) โดยอ้างว่า ไม่มีการกักน้ำในรูปแบบของเขื่อนประเภทอ่างเก็บน้ำ (Reservoir) และไม่มีการเบี่ยงน้ำออกจากแม่น้ำโขง แต่ใช้การไหลของน้ำตามธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า โดยที่ปริมาณน้ำไหลเข้าเท่ากับปริมาณน้ำไหลออก ดังนั้นจึงไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง

แต่ตั้งแต่มีการเปิดใช้เขื่อนพบ ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่จะแสดงให้เห็นว่า เขื่อนไซยะบุรี ไม่ใช่เขื่อนแบบน้ำไหล จากการผันผวนของแม่น้ำโขงปริมาณน้ำขึ้นน้ำลงไม่เป็นไปตามฤดูกาล ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต พื้นที่การทำเกษตรของชาวบ้านที่อาศัยบริเวณริมแม่น้ำโขงรวมไปถึงระบบนิเวศในลำน้ำโขง 

ซึ่งหลังการพิจารณาคดี ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ตัวแทนเครือข่ายคนริมโขง จะหาวิธีการบันทึกความเสียหายเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องปรึกษาหารือร่วมกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะสถาบันวิชาการ เพื่อนำข้อมูลหลักฐานเหล่านั้นยื่นฟ้อง และต่อสู้ทางกฎหมายอีกครั้ง

สำหรับเขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเขื่อนแรกในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง อยู่ในจังหวัดไซยะบุรี ทางตอนเหลือของ สปป.ลาว โดยได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศไทย และต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเศไทย ได้เข้าไปทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทของ สปป.ลาว โดยเครือข่ายชาวบ้านได้ยื่นฟ้องคดีครั้งแรกเมื่อปี 2555 ซึ่งกำลังมีการก่อสร้างเขื่อน และต่อมามีการอุทธรณ์คดี ในปี 2556 และ 2559 ขณะที่เขื่อนไซยะบุรีเพิ่งสร้างเสร็จและเปิดใช้งานในวันที่ 29 ตุลาคม 2562

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ