สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ สร้างนวัตกร ผ่านหลักสูตร PPCIL

ต่อยอดนวัตกรรมเชิงนโยบายแก้ปัญหาเมือง ขณะที่ รองผู้ว่าฯ ทวิดา ย้ำข้าราชการ กทม. กำลังเปลี่ยนผ่านทำงานด้วยนวัตกรรม ต้องการเห็นนวัตกร สร้างสรรค์การแก้ปัญหาเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม

นวัตกรรมเชิงนโยบาย มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น วันนี้ (16 ก.ย. 65) ภายในงาน PPCIL ครั้งที่ 4 (Public and Private Chief Innovation Leadership) จากหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรม สำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ภาครัฐ และเอกชนรุ่นที่ 4 โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA นำเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายของผู้เข้าอบรม หวังต่อยยอดข้อเสนอแนะหลังจบหลักสูตรไปถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย และแก้ปัญหาให้กับเมือง

กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระบุ ตลอด 10 สัปดาห์ของหลักสูตร มีผู้เข้าร่วมหลักสูตรหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคพลเมือง ภาคการเมือง และสื่อสารมวลชน 81 คน มีทีมวิทยากรมากกว่า 30 คน นำมาสู่การสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ ในนามของนวัตกรรมแห่งชาติ โดยย้ำว่าการออกแบบนวัตกรรมนโยบายที่ดี ต้องเข้าใจง่าย จับต้องได้จริง และทำได้จริง เพื่อทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง

โดยการนำเสนอผลงานครั้งนี้ มีทั้งหมด 5 ข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบาย ประกอบด้วย

  1. “Thai Prompt” ไทยพร้อม “Future-Ready as Thailand’s New Soft Power”
  2. “1” ระบบครบทุกอย่าง เพื่อเสริมสร้างอนาคตข้าวไทย
  3. “SoulKru” การสร้างกลไกให้ครูสอนข้ามโรงเรียนได้ เพื่อแก้ไขปัญหาครูขาดแคลนในโรงเรียนรัฐขนาดเล็ก ตามจิตวิญญาณความเป็นครู
  4. “I hear” project : การป้องกันดูแลและแก้ปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเยาวชนกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า
  5. “Single Data Map for City Management : Phase I Public Health Management in Bangkok”

The Acive รวบรวมการนำเสนอผลงานมาให้อ่านกัน 3 ข้อเสนอ ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคม ทั้งปัญหาด้านสุขภาพ ระบบสาธารณสุข, การศึกษา, และปัญหาสุขภาพจิต

“I hear” project : การป้องกันดูแลและแก้ปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเยาวชนกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า

ทีมแรกนำเสนอโปรเจค “I hear” การป้องกันดูแลและแก้ปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเยาวชนที่เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า โดยเน้นไปที่ระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งพบข้อมูลว่าปัจจุบันมี เยาวชน 1.5 ล้านคน เป็นโรคซึมเศร้า โดยเยาวชนอายุ 18-22 ปี มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่นถึง 5 เท่า และเสี่ยงฆ่าตัวตายมากกว่า 6 เท่า หากไม่แก้ปัญหาอาจมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยโรคซึมเศร้ายังเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการฆ่าตัวตายของคนไทย ซึ่งการใช้วิธีการรับฟังอย่างลึกซึ้งเพียง 4 วินาที จะสามารถลดการฆ่าตัวตายได้ถึง 50% โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ เพื่อน อาจารย์ และครอบครัว

ทั้งนี้ เป็นที่มาของ “I hear” project : การป้องกันดูแลและแก้ปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเยาวชนกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าในมหาวิทยาลัย รายละเอียดจะทำกับน้อง ๆ อายุ 18-22 ปี เพราะเป็นช่วงเริ่มต้น ใช้ต้นทุนต่ำ โดยระยะสั้น โอกาสสำเร็จสูง ในขณะที่วัยทำงานอาจจะแก้ไขไม่ทัน การนำเสนอนโยบายนี้ทำผ่าน 1 กระทรวง 1 เครือข่าย และ 2 นโยบาย คือ

1) นโยบายการสร้างทักษะการรับฟัง และความเห็นอกเห็นใจ โดยเสนอให้นำเรื่องนี้ไปบรรจุในหลักสูตรพื้นฐานการเรียน ตั้งแต่ระดับชั้นปีที่ 1 ใช้ควบคู่กับหลักสูตรออนไลน์ ออฟไลน์ และอีกส่วนหนึ่งคือ การบรรจุเป็นนโยบายและมีผลต่อการประเมินผลงานและเลื่อนระดับของอาจารย์ ขณะที่มหาวิทยาลัยเองก็ต้องมีการจัดทำเรตติ้งการรับฟัง มีระบบในการดูแลสุขภาพจิตของเด็ก ๆ ในมหาวิทยาลัยและผลักดันต่อในระดับอาเซียน

2) นโยบายการส่งต่อไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, KU happy pace, สสส., กระทรวง อว. ฯลฯ เพิ่มศักยภาพระบบดูแล นักศึกษาและลดความเสี่ยงการเป็นโรคซึมเศร้าที่อาจส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจ คาดหวังว่าประเทศจะมีการรับฟังการมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าอาจจะยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย เพราะควรแก้ไขปัญหาตั้งแต่เยาวชนที่มีอายุน้อย รวมถึงการแก้ไขให้ถึงต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาซึมเศร้า รวมทั้งประเด็นจำนวนผู้ป่วย อาจไม่เท่ากับผู้รับฟัง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงนึงผลกระทบที่เกิดจากนโยบายในวงกว้าง แต่โดยสรุปแล้วเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดีและควรเดินหน้าต่อ

“SoulKru” การสร้างกลไกให้ครูสอนข้ามโรงเรียนได้ เพื่อแก้ไขปัญหาครูขาดแคลนในโรงเรียนรัฐขนาดเล็ก ตามจิตวิญญาณความเป็นครู

ทีมนี้ขึ้นต้นด้วยการตั้งคำถามว่า ถ้าการศึกษาคือ อาวุธที่มีอนุภาพ แสดงว่า โรงเรียนเป็นแหล่งผลิตอาวาวุธดีดีนี่เอง ครูที่ขาดแคลน ทำให้ครูเหนื่อยและท้อ ดังนั้นจึงมีความสนใจพัฒนาครูในโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยนิยามของโรงเรียนขนาดเล็กคือ ห้องเรียนละไม่เกิน 120 คน ส่วนใหญ่พบปัญหาคือ ครูทำงานหนัก ท้อเหนื่อยแบกรับภาระงานที่ล้นเกินไป

การแก้ปัญหาคือ การให้ครูเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนที่ได้หรือไม่ โดยโยกครูจากโรงเรียนที่ไม่มีปัญหาไปยังโรงเรียนขนาดเล็กที่มีปัญหา เช่น เชียงใหม่เขตการศึกษาที่ 4 โรงเรียนขนาดเล็ก 14 โรงเรียน การส่งครูไปเพียง 4 คนก็จะช่วยลดภาระหนักของครูในพื้นที่ลงได้ทันที ขณะที่ไอเดียนี้ยังมีความท้าทาย คือ ครูที่อยู่ในโรงเรียนที่ไม่มีปัญหาจะมาสอนให้หรือไม่ และผู้อำนวยการจะสนับสนุนให้ย้ายไปหรือไม่

ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเคลื่อนนโยบาย เช่น (1) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ก.ค.ศ. ที่ต้องคิดเรื่องบประมาณ การเดินทาง ประกันภัยของครู รวมถึงการพิจารณาขยับวิทยะฐานะให้กับ ผู้อำนวนการที่ร่วมโครงการ, (2) สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. และ (3) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. ที่จะมาช่วย ออกแบบการกำหนดการจัดสรรการสัญจรครู จัดสรรทรัพยากร และงบประมาณ แปรผันตรงกับ นักเรียน

นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการนำร่อง (Sandbox) 2 ปี เริ่มต้นทำในเขตการศึกษาที่ 4 ของ จ.เชียงใหม่ และติดตามประเมินผลจนไปสู่การปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งจะช่วยให้ครูสร้างความก้าวหน้า ในการปรับวิทยะฐานะ หากทำได้ดีอาจจะยกระดับการทำงานอาสา

“Single Data Map for City Management : Phase I Public Health Management in Bangkok”

โควิด-19 ผ่านไป ความทุกข์ของประชาชนยังอยู่ ความทุกข์ระบบสาธารณสุขจะแก้ด้วยอะไร ? คือ คำถามเริ่มต้นในการนำเสนอ Single Data Map for City Management ซึ่งทางทีมงานย้ำว่า โควิด-19 เป็นเพียงการเปิดบาดแผลของปัญหาสาธารณสุขเท่านั้น สิ่งที่จะแก้ได้คือการสร้างส่วนร่วม และความโปร่งใสในทุกมิติให้เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุข โดยจะเริ่มนำร่องที่ กทม. เพราะเวลานี้ข้อมูลสาธารณสุขกระจัดกระจาย ไม่มีข้อมูลเพียงที่จะทำให้ กทม.จัดการระบบสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยการทำ Single Data Map จะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลระบบสาธารณสุขที่จำเป็น และฐานข้อมูลสำคัญที่เกิดประโยชน์กับส่วนที่เกี่ยวข้อง 3 กลุ่มด้วยกัน คือ ประชาชน, สถานบริการสาธารณสุขใน กทม. , และกทม. ในฐานะผู้ตัดสินใจในฐานะฝ่ายบริหาร โดยตั้งใจจะนำร่องใน กทม. แล้วอาจจะพัฒนาต่อไปในระดับประเทศต่อไป โดย ประกอบด้วย ระบบข้อมูล, AI ประมวลผลและตัดสินใจ, โดยจะแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระบบ คือ

(1) ระบบบริการปฐมภูมิดูแลประชาชน กลุ่มเปราะบางติดเตียง
(2) เครื่องมือบริหารจัดการข้ามเขต สอดคล้องกับทิศทาง กทม. 2 Sandbox
(3) การมีแผนและผังแม่บททรัพยากรสาธารณสุขของ กทม.

แต่ปัญหาสำคัญ คือ ยังไม่สามารถแชร์ข้อมูลระหว่างกันได้เพราะหน่วยงานภาครัฐไม่แชร์ข้อมูล หรือ มีข้อมูลแต่ไม่มีการจัดลำดับชั้นของข้อมูล หรือโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่เปิดเผยข้อมูล เพราะกังวลจะผิดกฎหมาย PDPA จึงควรมีทางออกคือ การจูงใจให้สามารถเปิดข้อมูล เช่น การได้รับระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้น การสร้าง KPI ของหน่วยงาน และจำเป็นต้องมีนโยบายจากรัฐบาล ขณะเดียวกัน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสส. ควรจะเป็นคนเก็บข้อมูลในทางกายภาพ แต่ปัจจุบัน อสส.มีน้อย อาจจะต้องให้ อสส.เข้ามาเก็บข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น ย้ำว่า หากไทยต้องการจะสร้าง Soft power ควรจะเริ่มต้นด้วยการแชร์ข้อมูล และลดความกลัวเรื่องของ PDPA โดยเสนอให้ออกกฎหมายใหม่ให้ข้อมูลสามารถแชร์ได้ และควรจะมีกฎหมาย กับ ยุทธศาสตร์ ที่สำคัญในการเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์ของประเทศต่อไป

ผศ.ทวิดา ย้ำ นวัตกรรมสำคัญต้องสร้าง นวัตกร ขณะที่ ข้าราชการ กทม. ต้องคิดใหม่ทำใหม่ เดินตามนโยบายผู้ว่าฯ กทม. สอดแทรกเทคโนโลยี

ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการ กทม. ในฐานะคณะกรรมการ และเป็นผู้ที่สนับสนุนแนวคิดการสร้างนวัตกร ของประเทศไทย ได้พูดถึงความสำคัญของการใช้นวัตกรรมที่ควรเกิดขึ้นในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมยกตัวอย่าง ทราฟฟี ฟองดูว์ : แพลตฟอร์มรับแจ้งปัญหาสำหรับคนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นวัตกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว และนำไปทดลองใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นจากการที่หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปใช้ต่อ รวมถึง Telemedicine หรือ โทรเวชกรรม ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของการปรับวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น ไม่ได้อยู่แตาหน้างานที่เป็นเอกสารเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีส่วนของข้อมูลเปิด ที่ไม่ใช่นวัตกรรม แต่เป็นการเปิดเพื่อสื่อสารนโยบาย สื่อสารกับภาคประชาชน โดย กทม. พร้อมจะรับฟัง และปรับการทำงานของตัวเองเสมอ

ขณะที่แนวคิดการทำ Sandbox สำคัญสะท้อนการกระจายอำนาจทั้ง งาน เงิน คน จากส่วนกลางไปที่สำนักงานเขตเพื่อปรับโครงสร้างของ กทม. โดยงานเร่งด่วนคือ การแก้ปัญหาคุณภาพชีวิต ปากท้อง สาธารณสุข ในพื้นที่ แต่โจทย์ยาก คือ การจัดทำข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้น รวมทั้งประเด็นที่สำคัญกว่าคือขั้นตอนการทำ Map ซึ่งการได้ข้อมูลที่มีคุณภาพตั้งแต่เบื้องต้น เช่น การสำรวจว่ากลุ่มเปราะบางใน กทม. อยู่ที่ไหน เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด

อ.ทวิดา ทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญ คือ การทำงานภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องมีนวัตกรรมที่ไม่ยุ่งยากจนเกินไป ซึ่งอาจจะขัดกับวัฒนธรรมเดิม อย่างงานเอกสาร ช่วงแรงอาจมีแรงหนืด แต่จะทำให้การทำงานต่อเนื่องได้ในอนาคต

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active