กทม.เดินหน้า Sandbox กรุงเทพฯฝั่งตะวันออก ยกระดับบริการสาธารณสุขคนเมือง

ดึงร้านขายยา เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ รักษาพยาบาลใกล้บ้าน ลดภาระของโรงพยาบาลใหญ่ พัฒนาระบบส่งต่อ เสริมการป้องกันโรค สร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชนออกแบบระบบสาธารณสุขในพื้นที่ของตัวเอง 

วันนี้ (17 ม.ค. 2566) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานในพิธีเปิดประชุมการขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสาธารณสุข Sandbox กรุงเทพฯฝั่งตะวันออก พื้นที่ 13 เขต (หนองจอก บางกะปิ พระโขนง มีนบุรี ลาดกระบัง บึงกุ่ม ประเวศ สวนหลวงคันนายาว สะพานสูง วังทองหลาง คลองสามวา และบางนา) ณ ห้องประชุมแก้วเจ้าจอม ชั้น 3 อาคารบริการ โรงพยาบาลสิรินธร เขตประเวศ 

“เราให้ประชาชนเป็นตัวตั้ง ทำอย่างไรให้ประชาชนทุกคนได้รับการดูแล ดังนั้นรูปแบบ Sandbox ต้องเริ่มขึ้น และมีการพิจารณาทุก 3 เดือน ว่าเรามาถูกทางหรือไม่ เพื่อออกแบบให้มีความรอบคอบที่สุดและใช้ข้อมูลให้ถี่ถ้วนที่สุด บริการให้เกิดรอยต่อน้อยที่สุด ใช้บริบทของพื้นที่และฟังคนในพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อพัฒนาปรับปรุงต่อไป” 

กทม.เดินหน้า Sandbox กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก 13 เขต เพื่อแก้ปัญหาระบบบริการด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดภาระประชาชน สู่การยกระดับบริการสาธารณสุขคนเมืองครบวงจร ทุกคนเข้ารับบริการพื้นฐานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ ลดภาระประชาชน ชุมชน และโรงพยาบาลใหญ่ ๆ สร้างความเชื่อมั่นประชาชน 

โดย Sandbox กรุงเทพฯ ตะวันออกจะดำเนินงานส่งต่อการดูแลผู้ป่วยในระยะเฉียบพลัน ผู้ป่วยระยะกึ่งเฉียบพลัน การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง รวมไปถึงผู้ป่วยระยะท้าย โดยประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลด้านบริการการส่งต่อและการดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นระบบในพื้นที่พิเศษเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลนพรัตน์ โรงพยาบาลลาดกระบัง และโรงพยาบาลคลองสามวา เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงง่าย ทั่วถึง และครอบคลุมอย่างเป็นองค์รวม ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรค การดูแลรักษา ฟื้นฟู และดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ จากภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงช่องว่างของการบริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่ระบบริการขาดการประสานงานและการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอจนกลายเป็นภาระของประชาชนที่ไม่สามารถพึ่งพิงหน่วยบริการพื้นฐานได้ส่งผลต่อเนื่องต่อโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในพื้นที่เกิดความแออัด  ผู้รับบริการขาดความเชื่อมั่นต่อหน่วยบริการพื้นฐาน

ซึ่งหน่วยบริการพื้นฐานหรือสาธารณสุขแบบปฐมภูมิของกรุงเทพมหานครที่กล่าวถึง คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชน เมื่อระบบบริการขาดการเชื่อมโยงกันอย่างแท้จริงระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิและโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อผู้รับบริการ การเข้าถึงบริการเป็นไปได้ยาก ระบบบริการที่มีอยู่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบระบบและกลไกขึ้นมาใหม่

โมเดล Sandbox จึงเกิดขึ้นจากการถอดบทเรียนจากปัญหาเหล่านั้นเพื่อหาทางออกแก้ปัญหา อุดช่องว่างการรักษาพยาบาลที่ไม่เป็นระบบ แนวคิด Sandbox คือการใช้ระบบปฐมภูมิที่เป็นหน่วยบริการพื้นฐานหรือสาธารณสุขแบบปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งคลินิกอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชน และในอนาคตอาจรวมถึงร้านขายยา โดยจะต้องทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการหรือได้รับการรักษาพยาบาลใกล้บ้านได้ ต้องพัฒนาหรือนำเอาระบบและกลไกต่าง ๆ มาเสริมการบริการและทำให้เป็นมาตรฐานทั้งหมดเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพ ลดภาระของโรงพยาบาลใหญ่ ๆ และเมื่อจำเป็นหน่วยบริการสามารถที่จะช่วยในการประสานงานในการส่งต่อผู้ป่วยไปสู่โรงพยาบาลได้อย่างเป็นระบบ หากแนวคิดนี้ทำได้สำเร็จจะนำไปสู่ระบบสาธารณสุขที่ดี เกิดการเชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบปฐมภูมิเข้มแข็ง ประชาชนไว้ใจได้พึ่งพาพึ่งพิงได้ ซึ่งได้มีการดำเนินการนำร่องมาแล้วในส่วนของราชพิพัฒน์โมเดล และดุสิตโมเดล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active