ขณะที่ เครือข่าย We fair เดินสายถึง 7 พรรคการเมือง ที่รับลูกนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ผลักดันการสร้างคะแนนนิยมด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
เวลานี้ต้องยอมรับว่า มีหลายพรรคการเมืองที่ออกมาชูนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้น และแทบไม่มีพรรคไหนที่ไม่พูดถึงการให้สวัสดิการทางสังคม ขณะที่ภาคประชาชนก็เตรียมผลักดันให้ บำนาญถ้วนหน้า เป็นวาระเร่งด่วนที่ควรมีอยู่ในนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองนับจากนี้
ข้อมูลเบื้องต้นจาก“โครงการวิจัยระบบบำนาญแห่งชาติ” ทีมวิจัย อ.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย, ผศ. ดวงมณี เลาวกุล และคณะ (2565) การวิเคราะห์ช่องว่าง ทางการคลังแหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตรก์ารเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบโควิด-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ พบว่า ลักษณะทางเศรษฐกิจ ของประชากรผู้สูงอายุ และกลุ่มวัย 40-59 ปี เป็นประชากรรุ่นเกิดปีละหนึ่งล้านคน หรือ กลุ่มสึนามิ สะท้อนความเปราะบางของคนสูงวัยต่อความยากจนสูง นอกจากนี้ยังพบว่าปีแรกของโควิด-19 หรือในปี 2563 มีผู้สูงอายุยากจนเพิ่มขึ้นหลายจังหวัด และกลุ่มยากจนที่สุดที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุด ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
The Active รวบรวมนโยบายการหาเสียง และแนวคิดของแต่ละพรรคการเมือง ที่พูดถึงเรื่องสวัสดิการ และบำนาญ ตัวอย่างเช่น
- พรรคพลังประชารัฐ ที่เคยทำนโยบายบัตรคนจน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ล่าสุด มีบัตรประชารัฐ ที่เพิ่มวงเงินสวัสดิการเป็น 700 บาท เพิ่มสภาพคล่องในการซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค เป็น 2-3 เท่าจากปัจจุบัน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการปรับทักษะให้ผู้สูงอายุทำงาน และดำรงชีวิตส่วนตัวได้, เน้นสังคมเอื้ออาทร, สังคมการออม, และปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาท
- พรรคไทยสร้างไทย นำเสนอ นโยบายตั้งแต่แรกเกิด จนถึงสูงวัย ชูจ่ายเบี้ยฯ 3,000 บาท เฟสแรก เฉพาะคนมีรายได้ไม่เพียงพอ โดย รศ.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ ระบุ ในปีงบ 2565 มีการจัดสรรงบเพื่อจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600-1,000 บาท อยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท และหากมีการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพเป็น 3,000 บาท จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 แสนล้านบาท ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เคยพูดถึง บำนาญประชาชน 3,000 บาท เป้าหมาย 5 ล้านคน (มีสมัครเป็นเครือข่ายบำนาญประชาชนแล้วกว่า 1,100,000 คน
- พรรคประชาชาติ เปิดนโยบายแก้เหลื่อมล้ำผลักดันบำนาญ 3,000 บาท มาตั้งแต่ปี 2562 มั่นใจว่า จะมีงบประมาณเพียงพอสำหรับใช้จ่ายตามนโยบาย แต่สำหรับในปี 2566 ยังไม่พบการออกมาประกาศเรื่องนี้ชัดเจน
- พรรคชาติไทยพัฒนา เปิดตัว นโยบาย “WOW THAILAND” Wealth Opportunity and Welfare For All “การสร้างความมั่งคั่ง สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อประชาชน” โดยหนึ่งในนั้น คือนโยบาย สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ และจัดเบี้ยให้คนพิการเดือนละ 3,000 บาท
- พรรคก้าวไกล เสนอเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท ภายในปี 2570 เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกลระบุ กลุ่มที่กังวลมากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงวัยแล้ว มีราว 12 ล้านคน แต่มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีการออม ส่วนคนที่เหลือจะให้ออมตอนนี้คงช้าไป สิ่งที่พรรคก้าวไกลคิดคือต้องเติมสวัสดิการผู้สูงอายุในทันที โดยเสนอให้อยู่ที่ 1% ของเส้นความยากจนคือ ตกเดือนละ 3,000 บาท ไม่นับผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องดูแลระยะยาว ที่อาจตกเดือนละ 9,000 บาท
ขณะที่บางพรรคการเมือง ไม่ได้ฟันธงจะมีนโยบายบำนาญแห่งชาติ แต่ได้กล่าวถึงความสำคัญจำเป็นของการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนสูงวัย และเตรียมที่จะวางแผนเดินหน้าทำนโยบายเหล่านี้ต่อไป และมั่นใจว่าคงจะมีอีกหลายพรรคการเมืองที่ออกมาแข่งขันกันเชิงนโยบายเรื่องนี้อย่างแน่นอน ตัวอย่าง เช่น
พรรคเพื่อไทย อัดกลับบางพรรคชูบำนาญ 3,000 บาท ไม่ใช่คำตอบ ควรเน้นเพิ่มรายได้คนสูงวัย
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หรือ “หมอมิ้ง” อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรียุครัฐบาลไทยรักไทย ในฐานะตัวแทนพรรคเพื่อไทย เคยพูดไว้ใน เวที 15 ปี “หมอสงวน” 5 พรรคประชันนโยบายบำนาญแห่งชาติ โดยมองว่า การแก้ปัญหาคงไม่ได้ดูแค่บำนาญอย่างเดียว เหมือนเช่นบางพรรค ที่เสนอเรื่องบำนาญคนละ 3,000 บาท แต่ความท้าทายคือจะมีเงินอย่างเดียวไม่ได้ สำหรับเรื่องบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค พรรคเพื่อไทยจะเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้น ดูแลกลุ่มเปราะบางให้ดีขึ้น รวมถึงผู้สูงอายุด้วย ทำให้พวกเขามีความสุข การเพิ่มรายได้ การเพิ่มคุณภาพชีวิต เป็นการแก้ปัญหา ลดภาระ
พรรคประชาธิปัตย์ สานต่อ “เบี้ยคนชรา” ที่มีมาตั้งแต่ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์
พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. ระบุ เคยเสนอนโยบายเรื่องการออมเพื่อคนชรา เป็นการบังคับการออม แต่ล้มเหลว เพราะรัฐบาลชุดต่อมาไม่ทำ และมีข้อเสนอให้มีการขยายอายุเกษียณจาก 60 ปีเพิ่มไปอีก เพราะบางคนยังไม่มีเงินออมเลี้ยงดูตัวเอง
พรรคภูมิใจไทย หนุนบำนาญฯ แต่นโยบายยังไม่ชัด
พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ระบุ พรรคภูมิใจไทยยังไม่มีนโยบายโดยเฉพาะเกี่ยวกับผู้สูงอายุ หรือบำนาญ แต่พรรคสนับสนุนระบบบำนาญแห่งชาติ สนับสนุนการสร้างหลักประกันรายได้ถ้วนหน้า เพื่อประชาชน ทำให้คนเท่าเทียม ที่ผ่านมาได้เสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเห็นด้วยในประเด็นต้องดูแลให้ครบวงจรตั้งแต่ในครรภ์ถึงสูงวัย และพรรคภูมิใจไทยเล็งเห็นความสำคัญเรื่องเด็กแรกเกิด ได้ทำหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เสนอให้รัฐบาลจัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า พร้อมกับตั้งคณะทำงานสนับสนุน ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตลอด
ภาคประชาชนจับตาบำนาญฯ ทำได้จริงหรือไม่ ขณะที่ เครือข่าย We Fair เดินสายเข้าพบพรรคการเมือง สานต่อรัฐสวัสดิการ
เครือข่าย We Fair เดินสายเข้าพบพรรคการเมือง รณรงค์ชุดข้อเสนอ 9 ด้าน รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า พรรคการเมือง 7 พรรค ประกอบด้วย พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคประชาชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อชาติ พรรคเพื่อไทย พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย ทุกพรรคยืนยัน “ข้อเสนอรัฐสวัสดิการเครือข่าย We Fair 9 ข้อ เป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับนโยบายพรรคหลายข้อ ที่เน้นให้คนไทยมีสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ปัจจัยความสำเร็จ ผลักดันบำนาญฯ เป็นวาระแห่งชาติ
“โครงการวิจัยระบบบำนาญแห่งชาติ” ยังมีข้อเสนอผลักดันให้ระบบบำนาญเกิดขึ้นเป็น วาระแห่งชาติ
- การแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ เช่น แก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ปี 2546 เป็น พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (รายงานเรื่องแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ โดยคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร,2564) เป็นต้น
- สร้างระบบฐานข้อมูล โดยกำหนดให้ผู้ที่ต้องการเบี้ยผู้สูงอายุส่วนเพิ่มเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ในวัยทำงาน
- ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ ให้เป็นรูปธรรม ทั้งในระบบ และนอกระบบเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทำงานนานขึ้น ขอรับบำนาญช้าลง และส่งเสริมการออม
- เสนอให้ทบทวนนิยามการเริ่มนับอายุของผู้สูงอายุ เพิ่มมากกว่า 60 ปี และขยายเวลาเกษียณอายุ จากการทำงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชนโดยจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายบางฉบับ