ยิ่งใกล้เข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง 2566 หลายพรรคต่างก็ชูนโยบายสำคัญๆ เพื่อเรียกคะแนนเสียง ขณะที่เกษตรกรไทย 9,200,000 คน ซึ่งคิดเป็นเกือบร้อยละ 18 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งรอบนี้ ถือเป็นฐานเสียงสำคัญ แต่นโยบายจะช่วยพัฒนาอนาคตเกษตรกรไทยจริงหรือไม่
ไม่น่าแปลกที่เราจะเห็นนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรเป็นนโยบายแรก ๆ ของการหาเสียงที่ถูกปล่อยออกมา ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ปัญหาที่ดินทำกิน หรือแม้แต่การลดต้นทุน ว่าแต่จะตรงใจเกษตรกรหรือไม่
แต่หนึ่งในปัญหาหลัก ที่เกษตรกรต้องเผชิญและอยากให้แก้มากที่สุดก็คือ แหล่งน้ำเพราะน้ำเป็นเหมือนต้นทุนชีวิตที่สำคัญของการทำเกษตร เมื่อไม่มีน้ำ ก็แทบจะไร้อาชีพ
พื้นที่เกษตรในประเทศไทย
ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรทั้งหมด 154 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทาน 32.75 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 22 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมดทั่วประเทศ แต่ยังมีพื้นที่อีก 121.25 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 78 ที่อยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งยังต้องอาศัยน้ำฝนในการทำเกษตร
จะเห็นว่า พื้นที่เกษตรส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 70 อยู่นอกเขตชลประทาน นั่นหมายถึงการทำเกษตรแบบรอฟ้าฝนเป็นหลัก ทำให้เกษตรกรจำนวนมาก ต้องขวนขวายหาน้ำเพื่อทำเกษตรอย่างยากลำบาก บางคนถึงขั้นกลายเป็นภาระหนี้สินอย่างเลือกไม่ได้
ผลกระทบพื้นที่ขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทาน
ตัวอย่าง เกษตรกรมีที่ดินแต่ขาดแคลนน้ำ
สุพรรณ บูรณากาญจน์ เกษตรกรตำบลบ้านสระ หมู่ที่ 9 อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า เธออาศัยอยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทานมานานหลาย 10 ปี ก่อนหน้านี้ทำนาปีเพียง 1 รอบเฉพาะฤดูฝน ส่วนฤดูแล้งทำไม่ได้ เพราะไม่มีแหล่งน้ำ ช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจึงตัดสินใจไปกู้เงินจากธนาคาร ธกส.กว่า 100,000 บาท เพื่อขุดเจาะบ่อบาดาลและจัดทำระบบน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้ในการปลูกผักบนเนื้อที่ 5-6 ไร่ สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ลดการต้องออกไปทำมาหากินนอกพื้นที่ หรือ ขายแรงงานในเมือง
“ปัญหาการขาดแคลนน้ำเกิดขึ้นมานานแล้ว และพยายามร้องขอความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน จึงตัดสินใจกู้เงินจาก ธนาคาร ธกส.เพื่อมาเจาะบ่อบาดาลลึกกว่า 100 เมตร รวมทั้งลงทุนจัดทำระบบน้ำหยด หมดเงินไปหลายแสนบาท ทุกวันนี้หนี้สินที่มี ยังใช้ไม่หมด แถมผลผลิตที่ได้ ก็ถูกกดราคา ปัญหานี้ทำให้มีหนี้สินพอกพูนเพิ่มมากขึ้น”
สุพรรณ บอกว่า ปีนี้ตัดสินใจปลูกฟักทองเพิ่ม เพื่อสร้างรายได้ในช่วงฤดูแล้ง โดยใช้น้ำจากการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อมาพักที่สระ หากไม่สูบขึ้นมาเก็บที่สระเพิ่ม น้ำจะระเหยออกจากสระจนหมดภายใน 1-2 เดือน ขณะที่ฟักทองและพืชผักอื่นๆจะมีการให้น้ำวันละ 2 รอบ ที่ผ่านมาอากาศไม่เป็นใจ ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เมื่อการเลือกตั้งวนกลับมาอีกครั้ง เธอก็มีความหวังว่า พื้นที่นอกเขตชลประทานจะได้รับความสนใจจากนักการเมืองเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เกษตรกรจะได้หลุดพ้นจากความยากจน
ตัวอย่างเกษตรกรไม่มีพื้นที่เกษตรและขาดแคลนน้ำ
ฉลวย ระวีวงษ์ เป็นเกษตรกรชาวบ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ในอดีตเคยมีนาข้าว แต่พอเจอกับภาวะภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ สุดท้ายก็ตัดสินใจขายนาข้าวเพื่อนำเงินไปส่งลูกเรียน จึงทำให้วันนี้เธอเหลือที่ดิน เพียงแค่ 2 งาน ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ หารายได้ไปแต่ละวัน ขณะที่ปัจจุบันลูกทั้ง 2 คน ก็แยกย้ายไปทำงานต่างถิ่น เธอจึงช่วยดูแลเลี้ยงหลานคนเล็กที่บ้าน
ปัญหาน้ำไม่พอ ทำให้เธอหันมาเลี้ยงไก่ไข่ 73 ตัว เป็นอาชีพเสริม หวังเพิ่มรายได้และเป็นแหล่งอาหารสำหรับเด็ก และบางวันก็เหลือพอเป็นค่าใช้จ่าย ส่งหลานคนโตให้มีเงินติดกระเป๋า ไปโรงเรียน ขณะที่ก่อนหน้านี้ เกษตรอำเภอสามชุก เคยให้ความรู้เรื่องการผสมเทียมหมู จึงหันมาเลี้ยงหมูเพื่อสร้างรายได้ไว้จุนเจือครอบครัว
ครอบครัวของฉลวย คือตัวอย่างปัญหาความยากจนที่ซ้ำซ้อนมาจากการขาดแคลนต้นทุนทำเกษตร อย่างน้ำ และที่ดิน แต่ต้องถือว่า การเติมความรู้เพื่อสร้างอาชีพเสริมเป็นตัวอย่างที่ดีของการแก้ปัญหาความยากจน แต่สิ่งที่เห็น ปัญหาครอบครัวแหว่งกลางเด็กอาศัยกับผู้สูงอายุ และแรงงานลูกหลานไปทำงานต่างถิ่นจากปัญหาความขาดแคลนน้ำ
สำหรับตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี มีกว่า 3,000 ครัวเรือน และประชากรมากกว่า 6,000 คน ทำอาชีพเกษตรเกือบทั้งหมด ขณะเดียวกันพื้นที่นอกเขตชลประทาน ในตำบลบ้านสระที่ขาดแคลนการเข้าถึงน้ำรวมแล้วมีกว่า 5 หมู่บ้าน ที่รอการช่วยเหลือ
ปัจจุบันข้อมูลเกษตรกรไทยกว่าร้อยละ 80 มีหนี้สิน จากปัญหาทางการเกษตร รวมถึงจากการขาดแคลนน้ำ ปัญหานี้ฝังรากลึกมานานกรมชลประทานเพิ่งก่อตั้งครบ 120 ปี เราพบว่า มีการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรซึ่งมีทั้งหมด 154 ล้านไร่ ไปได้เพียง 32.75 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 22 ทำให้มีพื้นที่อีกกว่า 120 ล้านไร่ หรือ ประมาณร้อยละ 78 ที่อยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งยังต้องอาศัยน้ำฝนในการทำเกษตร
เกษตรกรเป็นฐานเสียงที่มีผลต่อการเลือกตั้งแค่ไหน ?
สำหรับการเลือกตั้งแต่ละครั้ง เกษตรกรถือเป็นฐานเสียงสำคัญ เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้ ณ เดือนสิงหาคม 2565 มีประมาณ 9 ล้านคน นี่คิดเป็นร้อยละ 17.59 ของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด แต่ที่ผ่านมาของทุกการเลือกตั้ง กลับพบว่า เกษตรกรจำนวนมากยังอยู่ในวังวนหนี้สิน
ขณะที่การเลือกตั้งรอบนี้ เท่าที่ผ่านมานโยบายหลัก ๆ ด้านนโยบายเกษตรในการเลือกตั้ง 2566 หลายพรรคมักมีนโยบายให้ความสำคัญที่เน้นเรื่องการแก้ปัญหาระยะสั้น เพราะส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เรื่องการประกันราคา การชดเชยรายได้ แบบไม่ได้มีเงื่อนไขให้เกษตรกรเขาปรับตัว หรือ พัฒนาศักยภาพมากนัก รวมไปถึงชดเชยให้กับเกษตรกร ขณะที่นโยบายด้านการเกษตรในการเลือกตั้ง 2566 นอกจากจะยังเน้นเรื่องการประกันราคาพืชผล เริ่มเห็นนโยบายที่พยายามแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่โจทย์สำคัญคือ สามารถทำได้จริงหรือไม่
นโยบายด้านเกษตรของพรรคการเมือง 2566
พรรคเพื่อไทย ใช้ตลาดนำนวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้ ด้วยการใช้
– เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ
– ใช้ AI เป็นผู้ช่วยเกษตรกร
– แปลงสินทรัพย์ดิจิทัล (NFT) เพื่อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า
– ทลายการผูกขาดสุรา เบียร์ ไวน์
พรรคภูมิใจไทย
– Contract Farming เน้นพืช 4 ชนิด ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน
– กำหนดราคารับซื้อล่วงหน้าในตลาดโลก
– พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอก คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท
พรรคประชาธิปัตย์
– ต่อยอดโครงการประกันรายได้ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด
– ชาวนารับ 30,000 บาท/ ครัวเรือน
– ฟรีนมโรงเรียน 365 วัน เพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม
– ให้เงินอุดหนุนกลุ่มประมง 2,800 กลุ่มกลุ่มละ 100,000บาท/ปี
– ปลดล็อกประมงพาณิชย์ ภายใต้กติกา IUU Fishing
– ออกโฉนด 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี
– ออกกรรมสิทธิที่ดินทำกินให้เกษตรกรกลุ่มต่างๆ
– ธนาคารหมู่บ้านและชุมชน แห่งละ 2 ล้านทั่วประเทศ
พรรคก้าวไกล
(กระดุม 5 เม็ดเปลี่ยนชีวิตเกษตรกรไทย)
– เม็ด 1 ที่ดิน : ปฏิรูปที่ดิน คืนประชาชน 10 ล้านไร่
– เม็ด 2 หนี้สิน : ปลดหนี้เกษตรกร
– เม็ด 3 ต้นทุน :ลดต้นทุน น้ำ ปุ๋ย เครื่องจักร
– เม็ด 4 นวัตกรรม : สร้างนวัตกรรม เพิ่มมูลค่า
– เม็ด 5 ต่อยอด: หารายได้ต่อยอดเกษตรกร
พรรคพลังประชารัฐ
– ยกระดับ Smart SMEs, Smart Farmers, Startups, Makers และค้าปลีกชุมชน
– เกษตรประชารัฐ 4.0 ด้วยนโยบาย 3 เพิ่ม 3 ลด คือ เพิ่มรายได้ ,เพิ่มนวัตกรรม, เพิ่มทางเลือก, และลดภาระหนี้, ลดความเสี่ยง, ลดต้นทุน
– ท่องเที่ยวชุมชนผ่านโคงการ ‘บัตรประชารัฐ’ เพิ่มวงเงิน 700 บาท/เดือน
– เศรษฐกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมหมุนเวียน นวัตกรรมสีเขียว (BCG Model)
– พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล 5G
พรรคชาติไทยพัฒนา
– ผลักดันเกษตรกรสมัยใหม่ขายคาร์บอนเครดิต
– แจกพันธุ์ข้าวฟรี 60 ล้านไร่
– สนับสนุนเงินทุนเพาะปลูกไร่ละ 1,000บาท (ข้าวและพืชเศรษฐกิจ)
– ขยายเขตไฟฟ้าการเกษตรทั่วประเทศ ค่าไฟหน่วยละ 2 บาท
– บาดาลทุกตำบล น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน
– งบฯท้องถิ่น 10 ล้านบาท พัฒนาระบบกำจัดขยะ ระบบไฟฟ้าธรรมชาติ แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
– สร้างงาน สร้างรายได้ แก่ผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ 3,000 บาท
พรรคชาติพัฒนากล้า
– พัฒนาสินค้าเกษตรพรีเมียม เพิ่มคุณภาพการผลิต จำหน่ายในราคาสูง
– เทคโนโลยีเกษตรแปรรูป ด้วยระบบ Cloud Factory
– เกษตรกรคือผู้ประกอบการออนไลน์ ตลาดไร้พรมแดน
– ปรับโครงสร้างสหกรณ์เกษตร รวมกลุ่มบริษัทสินค้าเกษตรสู่ตลาดหลักทรัพย์
พรรคไทยสร้างไทย
– สินค้าเกษตรราคาดี เปิดตลาดทุกช่องทางสร้างศูนย์แปรรูปและขนส่งประจำจังหวัด
– ปรับโครงสร้างการผลิต สร้างสมดุลอุปสงค์-อุปทาน
– แก้นาแล้ง-น้ำท่วม ขุดลอกคลอง ขุดบ่อนา 1 ล้านบ่อ ขุดบ่อบาดาล 1 แสนบ่อ
– เกษตรลดโลกร้อน BCG Model
– แก้ปัญหาที่ดินทำกิน ปฏิวัติที่ดิน สปก.
พรรครวมไทยสร้างชาติ
– ตั้งกองทุนพยุงราคาสินค้าเกษตร ราคาข้าว ราคายาง เพิ่มรายได้
– เพิ่มเงินสนับสนุนต้นทุนปลูกข้าว เป็นไร่ละ 2,000บาท ครอบครัวละ 5 ไร่
– แก้กฎหมายที่ดิน เพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ หรือมีที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของรัฐ ได้มีสิทธิครอบครอง มีสิทธิทำกิน
เงินอุดหนุนทำไมเป็นวงจรปัญหา
ก่อนหน้านี้ ทางเครือข่ายนักวิชาการ ด้านอาหารและเกษตร ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเวทีเสวนา วิเคราะห์นโยบายพรรคการเมืองและข้อเสนอสำหรับการเลือกตั้ง 66
วรดร เลิศรัตน์ นักวิจัยจาก 101 HUB เปิดเผยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรในพืช 7 ชนิด คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด ลำไย
ซึ่งถ้านับเฉพาะตั้งแต่ปี 2562 จนถึงเวลานี้ ใช้งบประมาณอุดหนุนไปแล้วทั้งสิ้น 450,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 150,000 ล้านบาท/ปี เงินอุดหนุนจำนวนมหาศาลนี้ จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า ประสบความสำเร็จหรือไม่ เมื่อเกษตรกรยังคงมีชีวิตที่ยากลำบากอยู่ในวังวนหนี้สิน
ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขเกษตรกรที่จดทะเบียนเวลานี้ 9.2 ล้านคน มีครัวรือนเกษตรกร 8 ล้านครัวเรือน พบว่า ร้อยละ 11.4 ของเกษตรกรจดทะเบียนเป็น”คนยากจน”
ขณะที่ผลสำรวจของสถาบันวิจัยเศษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในปี 2560-2562 ครัวเรือนเกษตรกรมีกำไรจากการทำเกษตรเฉลี่ยเพียง 73,974 บาท/ปี หรือ 202.7 บาท/วัน ซึ่งน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ 328-354 บาท/วัน หมายความว่า ถ้านำอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นต้นทุนค่าแรงเกษตรกร พวกเขาจะขาดทุนในการประกอบอาชีพ เกษตรกร ในช่วงปีดังกล่าว การทำเกษตรจึงทำให้คนชนบทยากจนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.3
ทำไมเงินอุดหนุนจึง ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นตัวหมุนวงจรปัญหา ก็เพราะถ้าเน้นแค่ให้เงินอุดหนุนโดยยึดโยงกับการผลิตแบบเดิม โดยไม่มีเงื่อนไขให้เกษตรกรได้พัฒนาศักยภาพการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนหวังพึ่งเงินอุดหนุน และผลิตแบบเดิม ทำให้ผลิตสินค้าที่ไม่เหมาะสม ประสิทธิภาพต่ำ หรือ ลงทุนลงแรงมาก สุดท้ายก็ทำให้ได้ผลผลิตน้อย กำไรน้อย นำไปสู่การขาดทุน ไม่มีทุนสำหรับการปรับตัว เพราะยังไงสุดท้ายก็จะได้รับเงินอุดหนุนแบบเดิม
เวทีนี้จึงมีข้อเสนอบางส่วนว่า ควรเลิกเงินอุดหนุนแบบเดิมและเปลี่ยนวิธีเติมรายได้เกษตรกรโดยเติมรายได้ผ่านสวัสดิการพลเมืองและเติมทุนหรือสร้างแรงจูงใจให้ปรับตัวซึ่งต้องอาศัยการปรับปรุงนโยบายอื่นๆไปพร้อมกันด้วย การวิจัย แรงงาน อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม
นโยบายเกษตรไทยตอบโจทย์อนาคตเกษตรกรไทยจริงหรือ ?
สำหรับนโยบายหาเสียงที่ผ่านมาว่า นักวิชาการหลายคน สะท้อนว่า ยังเน้นหวังผลระยะสั้นอย่างการเพิ่มรายได้ ลดค่าครองชีพ ให้ความสำคัญเฉพาะกับพืชเศรษฐกิจไม่กี่ตัว /แต่ละเลยการแก้ระยะยาว อย่าง ปัญหาการถือครองที่ดิน ปัญหาครอบครัวแหว่งกลางเด็กอาศัยกับผู้สูงอายุ วิฤตสภาพภูมิอากาศ ขาดการเชื่อมโยงความรู้ท้องถิ่น
นักวิชาการมองว่า ถ้าดูจากนโยบายที่หาเสียงกันเวลานี้ ยังมุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ ต่อยอดเรื่องการประกันราคาพืชผลต่าง ๆ แต่เริ่มเห็นนโยบายที่จะแก้ปัญหาต้นทุนของเกษตรกร อย่างเรื่องที่ดินที่จะให้มีสิทธิครอบครอง มีสิทธิทำกิน หรือ เรื่องน้ำ เช่นการจะขุดลอกคลอง การทำบ่อบาดาล รวมถึงการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน การจะทำเกษตรสมัยใหม่ เพิ่มนวัตกรรม
รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านบริหารจัดการน้ำการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ บอกว่า ที่ผ่านมา แม้รัฐพยายามช่วยเหลือทางด้านสวัสดิการเพิ่มขึ้น แต่จะดีกว่ามาก ถ้าวางนโยบายของพรรคการเมืองโดยนึกถึงผลลัพท์ต่อการ กระตุ้นให้ทุกคนได้ประโยชน์ เกิดการพัฒนา ควบคู่ไปกับการจัดสรรที่ดินและน้ำ การพัฒนาอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ที่ทุกภาคส่วนต้องรวมมือกันซึ่งต้องคิดถึงแผนระยะยาวที่ยั่งยืน เพิ่มองค์ความรู้ในท้องถิ่น ไม่ใช่เพียงนโยบายอุดหนุนแบบไม่มีที่สิ้นสุด
“สำหรับข้อเสนอในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายโดยเฉพาะในประเด็นน้ำ เราต้องแยกเรื่องน้ำและที่ดิน แยกคนไม่มีที่ดินไม่มีน้ำที่ส่วนใหญ่พวกเขามักจะไปรับจ้าง ควรช่วยแบบพัฒนาให้เกิดอาชีพที่มั่นคง แต่บางกลุ่มมีที่ดิน มีน้ำไม่พอ ระยะสั้นก็ต้องเอาแหล่งน้ำขนาเล็ก สุดท้ายเรื่องของความรู้สถาบันการศึกษาก็ต้องมาช่วยให้องค์ความรู้ เพราะสิ่งเหล่านี้ จะทำให้วัฐจักรความจนมันหมดไป”
การเพิ่มบทบาทให้ท้องถิ่นคือหัวใจสำคัญของการพัฒนาระดับฐานรากของไทยโดยเฉพาะเรื่องการเกษตรที่ต้องมีน้ำให้เพียงพอต่อการเกษตร เพราะยังมีพื้นที่ส่วนใหญ่นอกเขตชลประทานที่ยังไม่ได้รับการเหลียวแลอีกมาก ถ้าระดับนโยบายปลดล็อกเรื่องนี้ได้สำเร็จเชื่อแน่ว่าประเทศไทย จะมีน้ำอุดมสมบูรณ์ และจะเป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้หลุดพ้นความยากจนได้ในที่สุด ซึ่งทุกสิ่งขึ้นอยู่กับที่เราเลือกคนดีๆและมีวิสัยทัศน์เข้ามาบริหารประเทศด้วย