เปิดแบบสุดเจ๋ง ไอเดียสวน 15 นาที ยอดเยี่ยมแห่งปี

ติดเครื่องมือความรู้แบบมีส่วนร่วม เพื่อกรุงเทพฯ สีเขียว เมืองน่าอยู่ของทุกคน

เปิดผลรางวัลการออกแบบพื้นที่สวน 15 นาที ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อการพัฒนาสวน 15 นาที ผ่านการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม 50 สวน 50 เขตทั่วกรุง โดยที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และ we!park ร่วมกันจัดอบรมในพื้นที่ 6 กลุ่มเขตของกรุงเทพมหานคร ครอบคลุมทั้ง 50 เขต โดยมีการจัดแสดงและนำเสนอผลงานผ่านคณะกรรมการจากตัวแทนวิชาชีพนักออกแบบ จนได้ 7 รางวัลสวนดีเด่น ดังนี้

รางวัล Best Proposal for Space Selection ได้แก่ สวนหย่อมข้างตลาดแสงจันทร์ สำนักงานเขตสาทร 39 Pocket Park โดยสำนักงานเขตวัฒนา และลานปฏิบัติธรรมสุวรรณสุทธารมย์ โดยสำนักงานเขตบางซื่อ

รางวัล Best Proposal for Creative Program ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้การจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และลานชุมชนบริเวณท่าเรือวัดทองธรรมชาติ โดยสำนักงานเขตคลองสาน

รางวัล Best Design Proposal for Management Plan ได้แก่ สวนป่า โดยสำนักงานเขตจอมทอง

รางวัล Best Design Proposal for Health and Well-being ได้แก่ พื้นที่วงแหวนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า โดยสำนักงานเขตบางกะปิ และสวนซอยเสรีไทย 38 โดยสำนักงานคันนายาว พื้นที่ Bangkok Len-Yai โดยสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ และพื้นที่ริมถนนกำแพงเพชร 6 โดยสำนักงานเขตดอนเมือง

รางวัล Best Design Proposal of Ecological Responses ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา โดยสำนักงานเขตบางบอน

รางวัล Best Design Proposal for Mobility & Connectivity ได้แก่ สวนใต้สะพานยกระดับถนนราชพฤกษ์ โดยสำนักงานเขตธนบุรี และสวนเชิงสะพานเชิงพิบูลสงคราม โดยสำนักงานเขตดุสิต

รางวัล Best 15-minute park Design Proposal of The Year ได้แก่ สวนขนาดเล็ก แขวงศิริราช เป็นแนวคิดการสร้างพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านสำหรับทุกคน ประกอบด้วยพื้นที่กิจกรรม พื้นที่ออกกำลังกายทั่วไป รองรับผู้สูงอายุและเด็ก แบ่งพื้นที่สำหรับพบปะพูดคุยของคนกลุ่มต่าง ๆ มีมุมนั่งทำงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ ทั้งป้ายสื่อความ ไฟฟ้าส่องสว่าง กล้องวงจรปิด จุดทิ้งขยะ ออกแบบโดยสำนักงานเขตบางกอกน้อย และ พื้นที่รกร้างใต้สะพานข้ามแยก ออกแบบทางเดินยกระดับแยกพื้นที่คนและต้นไม้ พร้อมทางลาดชันสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ ผสมผสานความต้องการใช้งานทางลาดและทางเดินเชื่อมพื้นที่กิจกรรมต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ออกแบบโดยสำนักงานเขตหนองแขม

ถกมุมคิด : บทบาทวิชาชีพ กับการสร้างเมืองของทุกคน

ผศ.คมกริช ธนะแพทย์ ประธานหลักสูตรสถาปัตยกรรมผังเมือง สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย กล่าวว่า เรื่องผังเมืองเฉพาะนั้นสำคัญ สิ่งที่กรุงเทพมหานครกำลังทำอยู่ตอนนี้คือผังเมืองรวมฯ แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะวันนี้มีโพรเจกที่ถูกพัฒนาโดยภาคประชาสังคมมากมาย เป็นพื้นที่เดี่ยว ๆ หลายจุด ซึ่งควรจะมีการเชื่อมโยง เป็นผังเขต ผังย่าน กำหนดวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์การพัฒนาที่ชัดเจน น่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งตอนนี้การทำผังในส่วนพื้นที่และภูมิภาคยังแยกกันอยู่

“ยกตัวอย่างว่าตอนนี้เริ่มมีการยกเคสพื้นที่เลี่ยงภาษีที่ดินสิ่งก่อสร้าง โดยการพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงเกษตรกรรม เข้าไปปลูกกล้วยกันหมด แต่ถ้ารู้ว่าในพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่น้ำท่วม ขาดพื้นที่ซับน้ำ หรือควรจะมีพื้นที่ชุ่มน้ำ แปลว่าก็ควรที่จะรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำเอาไว้ก่อน ดังนั้นมันจะเกิดการกำกับควบคุมดูแลที่มีความเฉพาะตัวที่เหมาะสม เช่น ถ้าพื้นที่นี้เทคอนกรีต ค่าใช้จ่ายเชิงภาษีจะต้องไม่คำนึงถึงแค่เรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องคำนึงถึงแผนระยะยาวว่าเมืองย่านนั้นจะต้องรักษาพื้นที่เพื่อตอบวิสัยทัศน์อื่น ๆ ดังนั้นหากมีการทำผังเฉพาะแต่ละพื้นที่มันจะสร้างเวทีการต่อรอง ในการที่จะทำให้ข้อมูลของเมืองอยู่ในระดับผังที่ชัดเจนขึ้น และหากในอนาคตมีปัญหากายภาพของเมืองเกิดขึ้น ก็จะย้อนกลับมาพิจารณาได้”

กระบวนการ park coaching and matching ทำให้คนระดับปฏิบัติการได้รับการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ ไม่ได้แค่ดีกับคนทำงาน แต่พวกเขาจะมีความก้าวหน้าทางความคิดเรื่องการพัฒนาเมือง ที่จะย้อนกลับมาสร้างความท้าทายให้กับนักออกแบบอีกต่อหนึ่ง โดยจะสร้างความต้องการใหม่ ๆ ซึ่งปัญหาของนักออกแบบนอกจากเรื่องการออกแบบให้ตรงใจ อีกอย่างคือความคิดเห็นความต้องการ ที่จะต้องให้มีความสร้างสรรค์แตกต่างให้นักออกแบบมีโจทย์ที่ดีก้าวหน้าขึ้น เรียกว่าเป็นการประชันกันระหว่างแนวคิดของคนทำงานหน้างาน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในอนาคตได้

“การเรียนรู้ทางวิชาชีพบางทีจึงไม่ได้อยู่แค่มหาวิทยาลัย แต่ถ้าพูดเรื่องบัญชี ตัวเงินอาจจะไม่ได้สำคัญที่สุดเพียงแค่ต้องรู้วิธีที่ได้มา อย่างวันนี้เรารู้วิธีการออกแบบแล้ว เราจะทำอย่างไรให้เอกชน ผู้ประกอบการอย่างจะร่วมกันพัฒนาเมืองด้วยกัน อีกอย่างคือเราเจอปัญหาประชากรลดลง ในการสร้างพื้นที่สาธารณะแต่ละแห่งอาจจะต่างกัน แทนที่จะเป็นสวนเพื่อทำกิจกรรมไปทั้งหมด บางจุดอาจทำหน้าที่เป็นสวนป่าในเมืองเพื่อระบบนิเวศ เรื่องนี้ต้องการทั้งข้อมูลฐานเมือง เรื่องความท้าทายเมือง วิสัยทัศน์ของเมือง เป้าหมายการลดโลกร้อน เอามาวิเคราะห์กันไม่งั้นเราจะได้สวนที่เหมือน ๆ กันและอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 9 ด้าน 9 ดี ถูกใช้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการบริหารจัดการ ในมิติเรื่องของรองผู้ว่าฯ ที่ดูแลรับผิดชอบก็จะต่างกันไป สำหรับเรื่องการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวสร้างสรรค์จะอยู่ในหมวดสิ่งแวดล้อมดี สร้างสรรค์ดี เราเห็นว่าหลาย ๆ ครั้ง กทม. ท้องถิ่น หรือ รัฐบาล มักใช้สรรพกำลังลงทุนไปที่การจัดกิจกรรมเสียเยอะ แต่หากดูจุดแข็งของกรุงเทพฯ หรือรัฐบาล จะพบว่าเรามีภาคประชาชน ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งมาก ๆ อย่างในงานนี้เกิดขึ้นจากภาคประชาสังคมทั้งหมดเลย

“หน้าที่ของ กทม. อาจจะไม่ใช่การเป็นคนจัดงาน แต่เป็นคนที่สนับสนุนให้เกิดงานดี ๆ สนับสนุนให้คนอยากลุกขึ้นมาทำอะไรสร้างสรรค์ เราควรจะเป็นพื้นที่รองรับความต้องการเหล่านั้น ว่าใครอยากจะทำอะไร อยากจะใช้พื้นที่ไหน อยากที่จะเปลี่ยนถนนบ้านคุณเป็นอะไร ซึ่งจริง ๆ แล้วคนที่รู้ดีที่สุดว่า ในพื้นที่มีปัญหาอะไร ตรงไหนฝนตกน้ำท่วม ก็คือคนในพื้นที่ ดังนั้นบทบาทวันนี้จึงต้องเป็นการช่วย ๆ กันดูแลเมือง ช่วยกันหาแนวทางการปรับระบบการทำงาน ตอนนี้เรามีงบประมานจัดกิจกรรมค่อนข้างเยอะแต่เราจะเปลี่ยนให้เป็นงบฯ ที่ปรับปรุงกายภาพรองรับการจัดกิจกรรมของเมืองในรูปแบบต่าง ๆ อย่างทุกวันนี้อะไร ๆ ก็จัดที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ดังนั้นหน้าที่เราจึงต้องเป็นคนจัดให้มีพื้นที่ใหม่ ๆ ให้ตรงตามธีม คือสวน ลานกีฬา หรือพื้นที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์มากขึ้น”

ศานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามนโยบายตอนนี้ก็มีพื้นที่ ที่เป็นหมุดหมายการพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ก็มีนโยบายที่จะย้ายสำนักงานไปรวมกันที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) และปรับพื้นที่เดิมให้เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์หลากหลาย ตอนนี้กำลังจ้างศึกษาอยู่ อีกส่วนคือพื้นที่สวนลุมพินี ซึ่งมีตึกร้างเยอะ หนึ่งในนั้นคือลุมพินีสถาน ซึ่งเราก็ได้ทำประชาพิจารณ์สร้างการรับรู้ระดมความคิดเห็นของผู้ใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อทำโปรแกรมกิจกรรมหลังจากนี้ว่าเราจะพัฒนาเป็นอะไรอีกได้บ้าง นอกจากนี้เรายังมีศูนย์เยาวชนจำนวนมาก ก็มีแนวทางที่จะปรับปรุงต่อเนื่อง ซึ่งหลายส่วนเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว แค่ต้องพัฒนาเพิ่มเติม

“เรามีความท้าทายเรื่องระเบียบมากมาย ที่ไม่สามารถทำให้การลงทุนเชิงพื้นที่เกิดขึ้นได้เร็วดังใจที่เราอยากทำ หลายที่เอาแค่ลานกีฬา บางแห่งอยู่กรรมสิทธิ์ของหน่วยงานอื่น ที่เราต้องคุยกับเจ้าของหลายคน การพัฒนาต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องประสานสิบทิศ อย่างที่สองคือเรื่องการทำงานระยะยาว เราไม่ได้มาสร้างสวนแค่วันนี้พรุ่งนี้ แต่คือการทำให้เมืองมีความสามารถที่จะรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย และสามคือความต้องการของเมือง อะไรที่เป็นสมบัติสาธารณะจะเป็นโศกนาฏกรรมเสมอ เพราะมันไม่มีเจ้าภาพ อย่างเมื่อกี้ในสภาฯ พูดถึงเรื่องศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งเรามี 200-300 ที่แต่สำนักพัฒฯ มีคนดูเรื่องนี้ไม่เกิน 10 คน ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้มีเจ้าของ ข้อดีของระบบทราฟฟีฟองดูว์ คือมันบอกว่ามีใครกำลังทำอะไรอยู่ ทำให้เห็นชัดเจนว่ามันติดขัดตรงไหน สำนักไหนเป็นแรงกระตุ้นให้คนต้องเร่งหาแนวทางแก้ปัญหา และสุดท้ายคือเรื่องงบประมาณ เราจะหางบฯ เพิ่มเติมได้อย่างไร ในระยะสั้นหากเราร่วมมือกับเอกชนได้ เราก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง”

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับโจทย์พื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร จริง ๆ แล้วโดยจำนวนนั้นมี แต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ แม้ในพื้นที่ประชากรหนาแน่นมีตึกสูง แต่พื้นที่สีเขียวในแง่ของสวน 15 นาที หรือพื้นที่สีเขียวที่เข้าถึงได้ใน 15 นาที นั้นเพียงพอ แต่เมื่อกลับมาดูในเขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตพระนคร จริง ๆ ก็มีสวนครบแล้ว แต่ความเหลื่อมล้ำไปอยู่ในพื้นที่เขตรอบนอกถึงไป แต่ยังไม่ใช่นอกเมือง เช่น เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม พื้นที่สีเขียวอาจจะไม่มากนัก เป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น ผู้สูงอายุเยอะ แต่พื้นที่สีเขียวยังน้อยอยู่ เราจึงต้องกระจายพื้นที่สีเขียวให้อยู่ทั่วเมืองไม่ใช่แค่ในพื้นที่เขตเมืองชั้นในเท่านั้น นี่คือโจทย์ของนโยบายสวน 15 นาที คือทำยังไงก็ได้ให้คนในเขตพื้นที่ต่างๆ สามารถออกจากบ้านมาแค่ 15 นาทีแล้วถึงสวนได้ไม่ต้องขับรถไปไกล ๆ อย่างสวนลุมพินี สวนเบญจกิติ ไม่อย่างนั้นก็จะทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มขึ้นอีก

“กรุงเทพฯ มีพื้นที่ที่จะพัฒนาเป็นสวนเยอะมาก แต่ต้องหาช่องทางที่จะทำให้เกิดขึ้น บางสำนักงานเขตเราเสาะหาพื้นที่ของวัดมาพัฒนา ซึ่งเดิมเราอาจจะไม่คิดถึงตรงนี้มาก่อน อย่างเขตบางซื่อ หรืออีกพื้นที่ราชการก็น่าสนใจ อย่างเขตหลักสี่ ก็จะพบว่ามีพื้นที่สีเขียวเยอะ แต่ใช้ได้จริงไม่เยอะเพราะอาจจะเป็นพื้นที่ของหน่วยงานองค์กร หากเปิดพื้นที่ตรงนี้ได้ก็จะเป็นโอกาสที่จะทำให้คนได้เข้าถึงพื้นที่สีเขียวมากขึ้นด้วย จึงจำเป็นต้องมีความสร้างสรรค์ในการเฟ้นหาพื้นที่สีเขียว อย่างสวนกล้วยอะไรต่าง ๆ ก็ต้องเปลี่ยนเป็นสวนที่ใช้งานได้ การที่มีสวน 15 นาที ก็เป็นกลไกนหนึ่งที่กระตุ้นให้ประชาชน ภาคประชาสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วม”

พรพรหม กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม. ทำคนเดียวไม่ได้ อย่างโครงการ park coaching and matching ที่ทำร่วมกับ we!park สสส. และองค์กรภาคี ก็เป็นการช่วยพัฒนาบุคลากรให้เข้ามาทำงานเรื่องนี้ได้ดีขึ้น จากแต่ก่อนสำนักงานเขตก็ดูแลแค่สวนที่มีอยู่ แต่ตอนนี้เรามีตัวชี้วัดเรื่องของการเฟ้นหาพื้นที่สวนให้มากขึ้น และเปิดโอกาสให้ข้าราชการสามารถออกแบบสวนได้ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในที่สุดแล้วก็อาจจะมีภาคเอกชนที่จะช่วยสนับสนุนให้แผนเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง ๆ

“ในเรื่องของงบประมาณทำยังไงให้การพัฒนาพื้นที่สีเขียวมีความยั่งยืน อย่างแรกคือทำมาแล้วมีคนใช้ ไม่ใช่ทำมาแล้วไม่มีใครใช้ กลายเป็นพื้นที่ของคนไร้บ้าน เรื่องการดูแลรักษาก็สำคัญมาก เรามักจะพูดถึงงบประมาณ การสร้างสวน การจัดการให้ยั่งยืนคือเรื่องใหญ่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพื้นที่สีเขียวที่ใช้ได้ กับพื้นที่สีเขียวที่ใช้ไม่ได้ แต่ก็ยังเป็นประโยชน์ของเมือง อย่างพื้นที่รกร้างแต่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง อีกเรื่องคือ มันมีสวนหรือพื้นที่สีเขียวแห่งใหญ่ของตะวันออกของ กทม. และมันมีเกาะกลางอยู่ 10 ไร่ สวยมาก มันเป็นที่ที่คนมาดูนก พอคุยไปคุยมา เขาขอใช้พื้นที่เกาะ เจ้าของตอบมาว่าไม่ให้ และต่อมาเขาก็ตัดต้นไม้ที่สวย ๆ ออกหมด ทำเป็นสวนกล้วย เป็นอะไรที่เศร้า จริง ๆ ไม่ต้องทำอะไรกับมันเก็บไว้อย่างนั้นก็น่าจะดีเสียกว่า ก็เป็นอุปสรรคของพื้นที่สีเขียวที่แม้ไม่มีใครมาใช้แต่เป็นประโยชน์เชิงสิ่งแวดล้อม”

นำชัย แสนสุภา นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย กล่าวว่า คำถามสำคัญคือทำอย่างไร พื้นที่ตรงนี้ถึงจะเกิดขึ้นมาเป็นกายภาพที่มีคุณภาพ และมีความยั่งยืน ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบจึงเข้ามามีส่วนร่วมด้วย แต่ไม่ใช่แค่การออกแบบในเชิงกายภาพ ออกแบบแปลนให้ได้โครงสร้างเท่านั้น แต่เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการและกลไก ในการทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม เกิดโปรแกรมต่าง ๆ ซึ่งมันจะนำมาสู่ความต้องการที่แท้จริง เราจะออกแบบให้มันถูกต้อง ตรงกับการใช้งาน และการดูแลรักษา ทำให้เกิดความยั่งยืน เป็นลำดับถัดไป สวน 15 นาที เป็นส่วนหนึ่งที่เราเข้าไปช่วย และมีอีกหลายโครงการที่ทางสมาคมฯ ได้เข้าไปอีกส่วนร่วม ไม่ใช่แค่สวน 15 นาที โครงการตัวอย่างที่เราทำมีทั้งเรื่องของการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน ทางเท้าที่จะนำไปสู่สวน 15 นาที การพัฒนาพื้นที่คูน้ำ ข้างวัดพระแก้ว เชื่อมถนนข้าวสาร ราชดำเนิน กะดีจีน ถ้าทำได้จริงจะเป็นการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และภูมิทัศน์ของเมือง

“มองว่าเป็นความท้าทายและโอกาสในขณะเดียวกัน เรากำลังทดสอบกลไกบางอย่าง ถ้ามันดีสำหรับกรุงเทพฯ แต่มันยังมีพื้นที่อีกมากที่ต้องกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ที่ยังขาดแคลนทั้งองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ วิชาชีพ ทรัพยากร นโยบาย ดังนั้นจะทำยังไงให้กระบวนการที่ดีมันถูกต่อยอดไปยังที่อื่นบ้าง ทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองอื่น ๆ ต่อไป”

ปุยฝ้าย คุณาวัฒน์ ประธานการจัดงานสถาปนิก’66 กล่าวว่า หลายคนอาจจะสงสัยว่าในแง่ของสถาปนิก ไม่ว่าจะเป็นสมาคมหรือสมาชิกของสมาคม จะมีบทบาทในการเข้ามาร่วมพัฒนาเมืองอย่างไร จริง ๆ แล้วเราสามารถช่วยได้ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบผังเมือง ออกแบบภูมิทัศน์ การที่เราออกแบบซึ่งคำนึงถึงพื้นที่ทั้งภายนอกและภายใจ เราทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาพื้นที่ เป็นนโยบายที่เราตั้งใจจะชวนภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาเมือง เช่น มีพื้นที่ส่วนกลางอยู่ก็เปิดให้สาธารณะได้ใช้ด้วย ในแง่ของการออกแบบไม่ใช่ออกแบบให้สวยงามเท่านั้น แต่ต้องคำนึงเรื่องของงบประมานการก่อสร้างต่อด้วย และเราก็หวังว่า กทม. จะสามารถช่วยสนับสนุนในเรื่อง งบประมาณและการดูแลรักษาโครงการต่อไปด้วย อย่างไรก็ตามมีโอกาสที่เอกชนจะเข้ามาร่วมได้เช่นกัน

“ทางสมาคมมีความพยายามช่วยเหลือ ออกแบบพื้นที่ต้นแบบพื้นที่ให้สามารถประยุกต์ใช้กับพื้นที่ต่าง ๆ ได้เพื่อให้การปรับปรุงประหยัดและมีประสิทธิภาพ สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือความปลอดภัย และการเข้าถึง ในแง่ของการเป็นสถาปนิก เราคิดว่าถ้าผลักดันให้เป็น urban zoning พื้นที่การพัฒนาที่เหมาะสม การใช้พื้นที่ของเมือง และประกาศใช้ได้ในเวลาที่เหมาะสมกับแนวทางการพัฒนาและ การเปลี่ยนไปของอาคารที่ดิน การใช้ชีวิตของคนเมือง ก็จะช่วยผลักดันให้เรามีแนวทางที่จะพัฒนาและทำงานร่วมกับภาคเอกชนได้ชัดเจน”

ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม we!park กล่าวว่า โครงการที่ผ่านมาเหมือนการทดลองระบบที่ทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาวิชาชีพทำอะไร ฝั่งนโยบายทำอะไร ภาคเอกชนทำอะไร แต่ตอนนี้ต้องการการสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบแล้วทำให้เป็นเหมือนกลไกถาวร สมมติว่าปีหน้าถ้า KPI ตัวชี้วัดการทำงานมาแล้ว เขตต้องลงมือมาอบรมแล้ว วิชาชีพต้องมาให้องค์ความรู้ ทุกคนรู้ว่าจะต้องทำอะไร ถ้าระบบนี้มันต้องรันต่อ มันจะทำให้เห็นว่า ขับเคลื่อนไปได้เข้มแข็งและยั่งยืนแค่ไหน ถ้าติดอุปสรรคก็ต้องกลับมาทบทวนว่านโยบายอาจจะต้องปรับแก้ ปลดล็อกบางอย่าง เช่น ค่าบริการวิชาชีพ งบประมาณ ถ้า สสส. ไม่ให้ทุนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเอกชนจะเข้ามาร่วมด้วยเขาจะได้อะไรกลับไป วันนี้ทุกคนตื่นเต้นเห็นโอกาสที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้าจะทำให้ยั่งยืนถาวรมันจะต้องมีกลไกที่ชัดเจนกว่านี้ ผมคิดว่าโพรเจกทดลองมันพูดถึง togetherness เพราะคนเดียวทำไม่ได้จริง ถึงต้องอาศัยภาคีเครือข่ายทำงานร่วมกัน ต้องทำให้กระบวนการนี้เติบโตมีสมการที่ทำให้ไปต่อไปยาว ๆ

นพ.ไพโจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สำหรับ สสส. แล้วดูแลเรื่องสุขภาพเป็นหลักแต่ไม่ได้จำกัดแค่ในมิติของกายภาพเท่านั้น แต่ต้องการให้พื้นที่ต่าง ๆ มันเอื้อต่อการเกิดสุขภาวะ ครบทุกมิติ ประกอบกับเราอยู่ในสังคมที่มีความท้าทายหลายด้าน จึงต้องคำนึงทั้งเรื่องมิติสิ่งแวดล้อม หรือแนวคิดของทางสถาปัตย์เอง คนที่มองภาพรวมของเมืองกำลังมาแรง ก็ต้องพิจารณาประกอบด้วย การที่รัฐเปิดโอกาสให้การพัฒนาที่หลากหลาย สสส. ก็ได้เข้ามาร่วมด้วย ทั้งการสนับสนุนหลักวิชา ความรู้ เครือข่าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้