สังคมยังมองว่าศิลปะเป็นเรื่องไกลตัว เพราะขาดระบบการพัฒนาคนด้านศิลปะตั้งแต่วัยเด็ก
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประมวลผลจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 เปิดเผยจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ปี 2563 ระบุว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์จ้างแรงงานกว่า 1 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 2.7 ของแรงงานทั่วประเทศ โดยแรงงานที่ถูกจ้างกว่าล้านคนแบ่งออกเป็นแรงงานสร้างสรรค์ 4.9 แสนคน และแรงงานอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์อีก 5.5 แสนคน
ขณะที่รายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า มูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยในปี 2563 มีมูลค่าอยู่ที่ 1,190,467 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 7.5 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์รวม ณ ราคาปัจจุบันทั้งหมด ในขณะที่ธุรกิจสร้างสรรค์กว่าร้อยละ 95 เป็นกิจการขนาดเล็ก (SME) แต่กลับสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมากเมื่อเทียบกับจำนวนแรงงาน
ผลการสำรวจและงานวิจัยของ CEA หรือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ชี้ว่าระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยเติบโตได้อย่างแข็งแรงเพราะส่วนหนึ่งเมืองไทยมีปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม (Cultural Asset) ที่โดดเด่นและอุดมสมบูรณ์ ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบในการพัฒนาสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากกว่าประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้เรายังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะภูมิภาค เรายังมีทุนมนุษย์หรือปราชญ์ชาวบ้านที่คอยสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นจนได้รับการยอมรับในระดับสากล
การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยจึงมิใช่แค่เพียงการสร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจระดับมหภาค แต่ยังเป็นการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมที่มีโอกาสสูญหายให้คงอยู่
ขณะเดียวกันมันยังเป็นการต่อยอดและพัฒนาศิลปะแบบดั้งเดิมให้ออกมาในรูปแบบใหม่ที่ทันต่อปัจจุบันมากขึ้น เช่น การยกระดับผ้าไหมท้องถิ่นให้เป็นเครื่องนุ่งห่มร่วมสมัย การสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนปัจจุบัน เป็นต้น การต่อยอดทุนวัฒนธรรมเหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นรายได้ในครัวเรือนและช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ดี การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้องอาศัยความเข้าใจที่ละเอียดอ่อนเพราะทั้ง 15 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่างมีสภาพปัญหาและความต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะแรงงานสาย ‘ทัศนศิลป์’ ในกลุ่มอุตสาหกรรมรากฐานทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Originals) ผู้เน้นการถ่ายทอดคุณค่าทางวิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์ที่ละเอียดอ่อน รวมถึงนักวาดภาพ นักวาดการ์ตูน พวกเขายังคงเผชิญหน้ากับปัญหาค่าครอง ‘อาชีพ’ แสนแพง ค่าแรงแสนถูก ขาดพื้นที่ผลิตและจัดแสดงผลงาน ตลอดจนขาดตลาดในการซื้อขายผลงานอย่างทั่วถึง ซึ่งภาครัฐยังไม่อาจส่งเสริมศักยภาพของศิลปินได้อย่างเต็มที่
The Active ขอชวนผู้อ่านเดินทางบนเส้นทางสายศิลป์ ตั้งแต่ก่อนที่ศิลปะชิ้นหนึ่งได้ถูกสรรสร้าง จนถึงวันที่งานถูกจัดแสดงต่อสาธารณชน ร่วมทำความเข้าใจและหาทางแก้ไขปัญหาของผู้คนสร้างศิลป์และพื้นที่สร้างสรรค์ไปกับแรงงานศิลป์ผู้สร้าง ภัณฑารักษ์ผู้รักษา และหน่วยงานภาครัฐผู้ส่งเสริม
เมื่อคนสร้างศิลป์ ไม่อาจหากินด้วยงานสร้างสรรค์
สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ (CUT) เป็นการรวมตัวของกลุ่มศิลปินและคนศิลปะจาก 15 กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งผลักดันประเด็นการเพิ่มค่าแรงและรัฐสวัสดิการเพื่อแรงงานสร้างสรรค์ ภายในสหภาพประกอบด้วยสมาชิกราว 500 คน หนึ่งในนั้นมี ไนล์ – เกศนคร พจนวรพงษ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานสร้างสรรค์และอีกบทบาทหนึ่งคือนักวาดการ์ตูนที่เชื่อว่าอาชีพนี้ไม่ควรที่จะ “ไส้แห้ง” อย่างที่ใครคิด
ในปี 2565 ผลสำรวจของสหภาพแรงงานสร้างสรรค์เปิดเผยว่า 4 ใน 10 ของนักวาดผู้ตอบแบบสำรวจ 400 คน ทำงานวาดเป็น “งานหลัก” แต่ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น (Commission) ซึ่งเป็นการรับค่าตอบแทนที่ไม่มั่นคง ยิ่งไปกว่านั้น เกินกึ่งหนึ่งของนักวาดได้รับค่าตอบแทนรายชิ้นไม่ถึง 1,000 บาท และมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 3,000 บาท ไนล์ชี้แจงว่า การไม่มีมาตรฐานราคากลางและปล่อยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดราคา ทำให้ศิลปินต้องยอมจำนนตกลงว่าจ้างในราคาถูก เป็นผลให้การเลี้ยงชีพด้วยการเป็น “ศิลปิน” เพียงลำพังจึงไม่เพียงพอ
“ถ้าทุกวันนี้เราต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ จะเอาเวลาไหนไปฝึกฝนฝีมือ สร้างชื่อเสียงของตัวเอง …การที่ศิลปินจะต้องมีงานเสริมเพื่อดำรงชีวิต เราคิดว่ามันโคตรไม่ปกติเลย อย่างน้อยที่สุดคนในอาชีพนี้จะต้องมีคุณภาพชีวิตที่เทียบเท่าได้กับสายอื่น แต่ว่าการคุ้มครองแรงงานหรือว่าการให้ค่าแก่กลุ่มอาชีพในศิลปอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มันต่ำมาก ๆ”
ในทางกลับกัน จากการสำรวจของ CUT พบว่ามีนักวาดเกือบ 1 ใน 10 ที่มีรายได้มากกว่า 25,000 ต่อเดือนด้วยเช่นกัน ไนล์ให้ความเห็นว่า 25,000 บาทต่อเดือนก็ไม่ได้เป็นจำนวนเงินที่มากถ้าเทียบกับรายได้ของศิลปินต่างประเทศ และชวนมองไปถึงต้นตอของความเหลื่อมล้ำที่มีมาก่อนเข้าสู่วงการศิลปะ
เราต้องยอมรับว่าวงการนี้ต้องมีต้นทุนจึงจะอยู่รอดได้ ทั้งค่าใช้จ่ายโรงเรียนศิลปะ ค่าอุปกรณ์ที่มีราคาแพง ต้นทุนครอบครัวต้องแข็งแรงพอจะช่วยเหลือศิลปินในวิกฤติหรือฤดูกาลที่ไม่อาจสร้างเงินได้ (เช่น ช่วงล็อกดาวน์โควิด-19 ที่ผ่านมา) รวมไปถึงตลาดศิลปะและพื้นที่นำเสนอผลงานของศิลปินที่จะช่วยสร้างชื่อเสียงและรายได้กลับมีน้อยมากและกระจุกอยู่ที่ส่วนกลางอย่างกรุงเทพฯ
ไนล์ ชี้แจงว่า 3 – 4 ปีที่ผ่านมาแรงงานสร้างสรรค์ดิ้นรนมามากพอแล้วเพื่อเอาชีวิตรอด ตั้งแต่การล็อกดาวน์โควิด-19 การเข้ามาของธุรกิจ NFT และล่าสุดศักยภาพ AI ก็ได้รับการพัฒนาจนสามารถสร้างงานออกแบบตามการป้อนข้อมูลของ User ได้แล้ว ซึ่งสามารถลอกลายเส้นของนักวาดชื่อดังบางรายได้ด้วยซ้ำ แต่เรื่องที่พื้นฐานที่สุดอย่างการมองเห็นศิลปินเป็น “แรงงานอาชีพ” ตามสิทธิประกันสังคมมาตรา 33 เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองโดยสวัสดิการของรัฐยังไม่ถูกทำให้เกิดขึ้นจริง แรงงานสร้างสรรค์ส่วนหนึ่งจำต้องใช้สิทธิประกันสังคมมาตรา 40 ที่ได้ผลประโยชน์ที่ต่ำกว่ามาก
นอกจากนี้ ค่านิยมในสังคมไทยก็ยังไม่ยอมรับศิลปินเป็นอาชีพหนึ่ง การจะทำธุรกรรมกู้ยืมก็มีเงื่อนไขที่ยากกว่าอาชีพอื่น ๆ
“พอเราไม่มีการคุ้มครองพวกนี้ (ประกันสังคม) ทุกวันนี้เราต้องพึ่งการจ้างงานอย่างลำพังของตัวเอง เราไม่มีรายได้ประจำ เราก็ต้องพยายามรับงานให้มากที่สุดจนกว่าเราจะตาย เพราะว่าทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับเงิน การสนับสนุนภาครัฐอื่น ๆ เราคิดว่าน้อยมาก ๆ”
“ไม่รู้ว่ารู้กันไหม ถ้าคุณเป็นแรงงานในโรงงานถูกนายจ้างกระทำไม่เป็นธรรม คุณยังมีศาลแรงงาน มีกฎหมายแรงงาน …แต่ถ้าคุณเป็นแรงงานอิสระ ที่เดียวที่คุณจะไปเรียกร้องได้คือศาลแพ่ง คุณเรียกร้องได้แค่เงินอย่างเดียวเลย”
รายงานล่าสุดของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในปี 2560 พบว่ารายได้เฉลี่ยของแรงงานสร้างสรรค์กลุ่มทัศนศิลป์ ดนตรีและศิลปะการแสดงอยู่ที่ 12,873 บาท นับว่าต่ำมากเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมด รองลงจากแรงงานกลุ่มงานฝีมือและหัตถกรรมที่มีรายได้เพียง 8,619 บาทต่อเดือน
ไนล์เสนอว่า ปากท้องของแรงงานต้องมาก่อน หน้าที่หนึ่งของสหภาพแรงงานจึงเป็นการผลักดันให้แรงงานรวมตัวกัน และตกลงมาตรฐานราคากลาง เพื่อช่วยกันดึงค่าเฉลี่ยรายได้ให้สูงขึ้นมากกว่านี้ แต่ประเทศไทยยังไม่มีองค์กรแรงงานที่เข้มแข็งมากพอหรือสัดส่วนสมาชิกนสหภาพยังน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนแรงงาน ตนจึงอยากให้แรงงานจากกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ มาร่วมสหภาพด้วยเพราะต่างกลุ่มอาชีพต่างมีปัญหาด้านสวัสดิการที่แตกต่างกัน และร่วมกันผลักดันให้ภาครัฐลงมือแก้ไขปัญหา
ข้อมูลจากสำนักแรงงานสัมพันธ์และกระทรวงแรงงานเมื่อปลายปี 2565 เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและเอกชนทั้งสิ้น 643,009 คน หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 1.6 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด ซึ่งนับว่าน้อยมากหากเทียบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจากกลุ่มสแกนดิเวียที่เป็นต้นแบบรัฐสวัสดิการอย่างเดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ต่างมีสัดส่วนแรงงานที่เป็นสมาชิกอยู่ในสหภาพเกินกึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด (ร้อยละ 67.0, 65.2, 58.8, และ 50.4 ตามลำดับ; ข้อมูลเมื่อปี 2562) โดยสัดส่วนสหภาพแรงงานที่มากจะนำมาซึ่งอำนาจในการต่อรองนายจ้างและรัฐสวัสดิการที่แรงงานพึงมี
“CUT พยายามทำให้เกิดการรวมกลุ่มแรงงาน ถ้ารวมกันได้ไม่ว่าจะผลักดันเรื่องอะไร เราก็จะมีพลังในการต่อรองมากขึ้น เราค่อนข้างคาดหวังมากกับการเลือกตั้งรอบนี้ เพราะสิ่งหนึ่งที่ทำให้แรงงานรวมตัวกันไม่ได้คือกฎหมายที่ไม่สนับสนุนการรวมตัว เราอยากเห็นพรรคการเมืองที่ส่งเสริมสหภาพแรงงาน และมันเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะมี ‘ประชาธิปไตยในที่ทำงาน’”
อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เริ่มต้นที่พื้นที่สร้างศิลป์
รายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดย CEA เมื่อปี 2563 ระบุว่า แกลเลอรี่ศิลปะ พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์มีหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งในมิติของการตัวกลางในการซื้อขายผลงานของศิลปิน และมิติของการส่งเสริมองค์ความรู้ทางศิลปะแก่ประชาชน แต่จากการศึกษาพบว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงมีพื้นที่สร้างสรรค์ จัดแสดง และรักษางานศิลปะไม่เพียงพอ ตลอดจนการสนับสนุนพื้นที่ทางการตลาดอย่าง Art Fair หรืองานประมูลศิลปะ
ให้แสง ชวนะลิขิกร อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือในอีกบทบาทหนึ่งคือภัณฑารักษ์อิสระ ให้ความเห็นว่า ในประเทศไทยมีกลุ่มศิลปินที่รวมตัวกันเพื่อร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ พวกเขาจะรวมตัวกันเช่าสตูดิโอหรือโกดังเพื่อใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในนั้น คล้ายกับโมเดลบางประเทศที่รัฐเป็นผู้จัดหาสตูดิโอให้ศิลปินเช่าโดยเฉพาะ และถึงแม้ว่าพื้นที่สร้างสรรค์งานศิลปะในไทยยังคงมีไม่เพียงพอ ให้แสงมองว่าศิลปินส่วนมากสามารถปรับตัวได้แม้อยู่ในสภาวะที่จำกัดการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ แต่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ศิลปินหลายคนล้มเลิกอาชีพนี้ไปคือตลาดศิลปะในไทยยังคงเล็กและแคบเกินไป
“ส่วนตัวคิดว่าศิลปินเขาหาวิธีของเขาอยู่แล้ว เหตุผลที่ไม่ไปต่อส่วนใหญ่น่าจะเป็นที่เรื่องของการตลาดที่มันไม่พร้อมมากกว่า จริง ๆ แล้วแกลเลอรีมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศศิลปะ เพราะว่าศิลปินบางคนเกิดขึ้นได้พร้อมกับการผลักดันของแกลเลอรี เพราะฉะนั้นมันก็จะมีการแสดงงานด้วยกันไปเรื่อย ๆ”
ถึงแม้จะมีการพยายามเพิ่มจำนวนแกลเลอรี หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ให้มีมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ส่วนใหญ่พื้นที่ศิลปะเหล่านี้ไม่สามารถยืนด้วยลำแข้งของตนเองได้ ให้แสงระบุว่าตัวกลางเหล่านี้จำเป็นต้องพึ่งพาการระดมทุน หรือการอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรดาแกลเลอรียังไม่มีการสร้างโมเดลธุรกิจให้แข็งแรงพอ เช่น การสร้างพื้นที่มิวเซียมช็อปที่ดึงดูดคน ตลอดจนขาดนโยบายของรัฐที่กระตุ้นให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่ศิลปะได้สะดวกและมีราคาย่อมเยาเหมือนที่ต่างประเทศทำกัน
อ้างอิงจากรายงานของ CEA ระบุว่า สหราชอาณาจักร มีการจัดทำระบบบัตรสมาชิกเข้าชมพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ เรียกว่า “National Art Pass” เป็นบัตรสมาชิกที่มีค่าสมาชิกรายปีหรือสมาชิกตลอดชีวิต โดยบัตรดังกล่าวสามารถใช้ผ่านเข้าไปชมงานในพิพิธภัณฑ์กว่า 240 แห่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และใช้รับส่วนลดค่าเข้าร่วมกิจกรรมด้านศิลปะได้กว่าร้อยละ 50 ได้อีกด้วย นโยบายเหล่านี้จะกระตุ้นให้ประชาชนใกล้ชิดกับศิลปะและส่งเสริมธุรกิจตัวกลางงานศิลปะให้มีผู้เข้าชมไหลเวียนมากขึ้น
“เท่าที่ได้ยินมารัฐบาลไม่จำเป็นต้องอุดหนุนเองทั้งหมด ทางพิพิธภัณฑ์ก็สามารถหา Sponsorship ได้เพื่อมาอุปถัมป์ตรงนี้ โดยอาจจะให้สิทธิพิเศษเพิ่มเติม จ่ายเป็นรายเดือน-รายปีเท่าไหร่ก็ว่าไป …แต่ถ้าเราไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หรือหอศิลป์แห่งชาติมันไม่มีมิวเซียมช็อปที่น่าสนใจ ถ้าเป็นไปได้พิพิธภัณฑ์ควรอยู่ได้ด้วยตัวเอง”
สาเหตุหนึ่งที่อุตสาหกรรมศิลปะในไทยยังไม่เติบโตได้ดีเท่าที่ควร เนื่องจากมีจำนวนคนบริโภคงานศิลปะน้อย ให้แสงระบุว่า ปัญหาดังกล่าวต้องแก้ไขที่ระดับวัฒนธรรม การที่สังคมยังมองว่าศิลปะเป็นเพียงเรื่องของคนบางกลุ่มและเป็นเรื่องไกลตัว เพราะรัฐยังขาดระบบการพัฒนาคนด้านศิลปะตั้งแต่วัยเด็ก เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน พื้นที่มีส่วนร่วมทางศิลปะ หอศิลป์ใกล้บ้านที่เข้าถึงได้ง่าย พอเด็กไม่มีโอกาสได้ใกล้ชิดศิลปะ พอโตขึ้นเป็นวัยผู้ใหญ่ ทัศนคติที่มีต่อศิลปะยิ่งเหินห่างและยากที่จะพัฒนาจากคนดูเป็นผู้ซื้องานศิลปะ ทำให้ตลาดงานศิลปะไทยไม่เติบโตเท่าต่างประเทศ
“คนไทยรู้สึกว่าศิลปะไม่ใช่สิ่งรอบตัว มันเข้าใจยาก มันแพง มันเป็นของชนชั้นสูงเท่านั้น จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ เด็ก ๆ ในชาติที่พัฒนาแล้ว เขาไปมิวเซียม ไปนั่งวาดรูป แต่เราไม่มีวัฒนธรรมแบบนั้น กลายเป็นว่าสิ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ก็อยู่ในพิพิธภัณฑ์ไป ไม่มีการซื้อกลับมาสู่ตนเอง”
“ถ้าเกิดเราสร้างความเข้าใจตั้งแต่เด็ก ถึงโตมาไม่ได้เป็นนักสะสมแต่เราก็สามารถชื่นชมกับคุณค่างานศิลปะได้”
อย่างไรก็ดี วงการศิลปะและการศึกษาด้านศิลปะในไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ให้แสงเผยว่าแกลเลอรีหรือหอศิลป์เชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่ไม่ได้เน้นแต่การขายงานอย่างเดียว แต่ยังจัดหากระบวนการให้ความรู้แก่สังคมมากกว่าเมื่อก่อน ผ่านการจัดเสวนาวิชาการ Artist’s talk เทศกาลศิลปะ ตลอดจนการให้ความรู้จากภัณฑารักษ์ที่ช่วยเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้ประชาชนที่สนใจในคุณค่างานศิลป์ ดังนั้น อาชีพสายสนับสนุนศิลปินอย่างภัณฑารักษ์มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการช่วยจัดวางและนำเสนอผลงานของศิลปินให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ตลอดจนช่วยส่งเสริมและเรียนรู้ไปกับศิลปินในการพัฒนาประเด็นต่อไป นอกจากนี้ การส่งเสริมพื้นที่การเรียนรู้ศิลปะให้กระจายตัวทุกพื้นที่ จะช่วยให้ศิลปินมีพื้นที่สร้างสรรค์ และศิลปะจะใกล้ชิดผู้คนได้มากขึ้น
“ถ้ามีพื้นที่ให้ศิลปิน มีสตูดิโอ คนที่เป็นศิลปินก็จะมีพื้นที่มากขึ้น หรือว่าสมมติว่ามีโรงเรียนชานเมืองที่อาจไม่มีสตูดิโอ ไม่มีหอศิลป์เลย จัดวิชาศิลปะให้เด็กมาทำงานกับศิลปิน ให้เขารู้สึกว่าศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเขา มันก็อาจจะมีความสุขและมันจะช่วยสร้างการตระหนักรู้ทางศิลปะได้ตั้งแต่เด็ก”
เศรษฐกิจจะก้าวหน้า รัฐต้องรู้จัก ‘สร้างสรรค์’
ไม่เพียงแต่แรงงานสร้างสรรค์สายทัศนศิลป์ ยังมีแรงงานในอุตสาหกรรมนี้อีก 14 กลุ่มที่มีบริบทการสร้างสรรค์งานและสภาพของปัญหาแตกต่างกันไป จึงเป็นคำถามที่ว่ารัฐไทยจะสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมแต่ละอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
ในปี 2565 งบประมาณรวม 3.1 ล้านล้านบาท ถูกจัดสรรเป็นงบด้านสร้างสรรค์เกือบ 3.6 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.15 ของงบประมาณทั้งหมด โดย 1 ใน 5 ของงบสร้างสรรค์ถูกนำไปลงที่กระทรวงวัฒนธรรม รองลงมาคือกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ กรมการพัฒนาชุมชนของกระทรวงมหาดไทยตามลำดับ เบื้องต้น การอัดฉีดงบประมาณลงไปในแต่ละกระทรวงอาจสร้างผลลัพธ์ที่เห็นผลได้บางประการ เช่น อัตราการจ้างงานของแรงงานสร้างสรรค์หรือสายงานที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
ทางด้าน มนฑิณี ยงวิกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ให้ความเห็นว่า การอัดฉีดงบประมาณลงไปในแต่ละกระทรวงอาจสร้างผลลัพธ์ที่เห็นผลได้บางประการ เช่น อัตราการจ้างงานของแรงงานสร้างสรรค์หรือสายงานที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น ในขณะที่การเพิ่มพูนทักษะ องค์ความรู้ และการสร้างรายได้ของแรงงานจะขึ้นอยู่กับพันธกิจของแต่ละกระทรวง ว่ามีส่วนรับผิดชอบในโครงสร้างพื้นฐานใดหรือไม่ ตามยุทธศาสตร์ของ CEA เล็งเห็นถึงการพัฒนาทักษะแรงงานสร้างสรรค์ 3 ประการคือ
- ส่งเสริมให้แรงงานเข้าถึงแหล่งความรู้สร้างสรรค์ได้สะดวก
- เพิ่มพูนความรู้ด้านการบริหารและจัดการธุรกิจ
- กระตุ้นให้มีการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมเพื่อสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
มนฑิณี เห็นพ้องไปในทำนองเดียวกับ อ.ให้แสง ว่าแกลเลอรีมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางจัดแสดงงานศิลปะและเป็นพื้นที่ให้ผู้บริโภคและศิลปินได้มีโอกาสซื้อ-ขายผลงานกัน เพียงแต่ตลาดงานศิลป์ที่มีผู้ซื้อไหลเวียนอยู่มาก มักจะเป็นสินค้าตลาด (mass) ที่คนทั่วไปพอจะเข้าถึงและจับจ่ายได้ เช่น สินค้าที่ระลึก เสื้อผ้า ฟิกเกอร์เป็นต้น ในขณะที่สินค้าศิลปะอย่างทัศนศิลป์ ประติมากรรมขนาดใหญ่ เข้าถึงยาก จะมีตลาดการซื้อขายที่ไม่ถี่นักและเฉพาะตัว (niche)
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่างานศิลปะเป็นสิ่งที่นอกเหนือไปจากการดำรงชีวิตพื้นฐาน รายได้ต่อหัวของประชากรโดยรวมจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดว่าคนจะมีกำลังซื้อสินค้าเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน หากเศรษฐกิจไทยยังคงซบเซา ตลาดงานศิลป์ก็ยากที่จะมีการบริโภคเพิ่มขึ้น
“ถ้าสังคมมีรายได้มากขึ้น มีส่วนเกินของรายได้(หลังหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็น)มากเท่าไหร่ แน่นอนว่าสินค้าฟุ่มเฟือย (Superior Goods) อย่างงานศิลปะ เราก็จะมีโอกาสซื้อมากขึ้น …แต่ขณะเดียวกัน เราต้องส่งเสริมให้เกิดการชื่นชมในคุณค่าศิลปะอยู่แล้ว ท้ายที่สุด ต่อให้คุณมีรายได้น้อยคุณก็อยากจะซื้อมากขึ้นด้วย”
ถึงแม้ว่าการกระตุ้นตลาดศิลป์ยังคงเป็นโจทย์ที่ต้องแก้ไขอยู่ แต่เรื่องหนึ่งที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์เห็นความสำคัญคือการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ (Creative City) ซึ่งไม่ได้มีเพียงกรุงเทพฯ แต่กระจายอยู่ตามต่างจังหวัดด้วย มนฑินีระบุว่าช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้สังคมตระหนักถึงเรื่องพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เมืองสร้างสรรค์เหล่านี้จะจัดให้ศิลปินมีพื้นที่ในการจัดแสดงผลงาน และให้สังคมได้รับความรู้และความบันเทิงจากงานศิลปะให้มากกว่าที่เป็นอยู่
มนฑินีชี้ให้เห็นข้อดีว่า ยุคนี้มีเทคโนโลยีและช่องทางสื่อสารออนไลน์ ช่วยให้ผู้คนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มีความตระหนักรู้เรื่องศิลปะมากขึ้น ธุรกิจเกี่ยวกับศิลปะก็สามารถหารายได้และเป็นที่รู้จักได้ง่ายขึ้นเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดีการสนับสนุนให้ผู้คนได้ออกมาสัมผัสสุนทรียะของงานศิลปะ ได้มีพื้นที่พบปะกับผู้เสพงานศิลป์ตลอดจนได้พูดคุยกับศิลปินก็เป็นอีกหนึ่งภาพที่อยากให้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทย
“สำนักงานพยายามจะส่งเสริมการพัฒนาเมืองที่คำนึงถึงผู้คน คำนึงถึงการอยู่อาศัย ยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าคนหันมาสนใจในเรื่องการพัฒนาเมือง อย่างเช่น พื้นที่สาธารณะ หลายที่พยายามที่จะปรับปรุงพื้นที่สาธารณะและนโยบาย เพื่อเปิดให้เป็นพื้นที่ที่ไม่ว่าจะศิลปินหรือใครก็ตามสามารถมาแสดงได้”
ท้ายที่สุด การสนับสนุน Soft Power จากรัฐอย่างกระทรวงวัฒนธรรมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยเติบโตได้ เนื่องจากไทยมีวัตถุดิบและมรดกทางวัฒนธรรมจำนวนมากที่แรงงานสร้างสรรค์สามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดได้ มนฑินีเห็นด้วยว่าการส่งเสริม Soft Power หรือ 5F (Food, Fashion, Film, Fighting และ Fastival) ของไทยยังอยู่ในโหมดของการอนุรักษ์มากเกินไป หากส่งเสริมให้มีการตีความ ดัดแปลง หรือนำเสนอในรูปแบบใหม่ จะช่วยสร้างบรรยากาศของการสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ และไม่จำกัดให้ศิลปะติดอยู่ในกรอบจนเกินไป
“Soft Power ของไทยมันอยู่ในกรอบของการอนุรักษ์ แต่ถ้ามันสามารถที่จะเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถที่จะตีความใหม่ ในเรื่องของอาหาร แฟชั่นหรืองานศิลปะ ฯลฯ มันก็จะทำให้งานศิลปะขยายออกไปมากกว่างานในเชิงอนุรักษ์ ซึ่งตอนนี้ก็ทุกคนก็พยายามช่วยกันให้มันเกิดตีความใหม่ได้มากขึ้น”
อ้างอิง
- สถิติแรงงานรายเดือน พฤศจิกายน 2565, กระทรวงแรงงาน
- รายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (ทัศนศิลป์), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
- อัปเดตธุรกิจสร้างสรรค์ไทย 2564, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์
- จำนวนองค์การแรงงานทั่วราชอาณาจักร ณ เดือนพฤศจิกายน 2565, สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
- https://tdri.or.th/2022/02/creative-labour-book/
- https://www.cea.or.th/th/statistics
- https://data.cea.or.th/
- https://ilostat.ilo.org/topics/union-membership/