ส่อง”ข้อจำกัด แก้น้ำท่วมกรุงเทพฯ”

ดูข้อจำกัด มองหาทางออก น้ำท่วม กทม.

มีการคาดการณ์ว่าในช่วง 10 ปีจากนี้ จะมีอย่างน้อย 1 ครั้ง ที่พื้นที่กรุงเทพมหานครจะถูกน้ำท่วมทั้งหมด จากหลายปัจจัย ทั้งข้อจำกัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ที่มีแนวโน้มเกิดภัยพิบัติถี่และรุนแรงขึ้น

ปัจจัยสำคัญ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นมาก ซึ่งอาจมีผลทำให้กรุงเทพมหานครต้องเสี่ยงจากปัจจัย 3 น้ำ คือ น้ำหนุน น้ำหลาก และน้ำท่วมขังเพิ่มขึ้น จากฝนที่ตกหนักกว่าในอดีต นี่คือปรากฎการณ์ที่ ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตถึงสถานการณ์น้ำท่วมของกรุงเทพฯ ขณะที่ข้อมูลแนวโน้มภัยพิบัติด้านภูมิอากาศในเอเชีย ปี ค.ศ. 1900- 2020 ที่ผ่านมา พบความถี่ของภัยพิบัติ ที่เกิดขึ้นในโลกถี่ขึ้นต่อเนื่อง ถ้านับเฉพาะในปี 2000 ถึงปี 2009 มีภัยพิบัติเกิดขึ้นในโลก กว่า 3,500 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นมากกว่า ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อน ถึง 5 เท่า

หากย้อนไป ตั้งแต่ปีที่แล้วถึงปีนี้ ในหลายประเทศทั่วโลกก็เกิดภัยพิบัติต่อเนื่อง จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี เบลเยียม รวมถึง ที่เคนทักกี สหรัฐฯ ล่าสุดเกิดน้ำท่วมฉับพลันมีผู้เสียชีวิตกว่า 20 คน ขณะที่ประเทศไทย สภาพอากาศที่แปรปรวนก็ทำให้ปัญหาภัยพิบัติรุนแรงขึ้น ทั้งน้ำท่วม ลมพายุ และภัยแล้ง โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมล่าสุด ในช่วงวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2565 กรุงเทพมหานคร มีฝนตกหนักเกิน 100 มิลลิเมตรในพื้นที่มากกว่า 20 เขต ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณฝนที่เข้มข้นกว่าปกติ อันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และส่งผลให้หลายพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังข้ามวัน

สอดคล้องกับ ข้อมูลจาก คณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ก็พบว่า อนาคตจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีแนวโน้มปริมาณน้ำในปี 2633-2642 หรือ 80-90 ปีข้างหน้าเพิ่มมากขึ้น จากปริมาณฝนที่เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 10 -30 โดยแนวโน้มปริมาณฝนเฉลี่ยของโลกเทียบกับค่าเฉลี่ย มีแนวโน้มแปรปรวนระหว่างปีมากขึ้นกว่าเดิม

สำหรับปี 2564 และ 2565 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะเป็นปีที่มีปริมาณฝนสะสมมากกว่าค่าปกติ โดยปริมาณฝนสะสมของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ 1 มกราคม -24 กรกฎาคม 2565 พบว่า ค่าฝนตกของกรุงเทพมหานครมากกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งแนวโน้มที่กรุงเทพมหานครจะมีโอกาสสูงที่จะมีน้ำท่วมขัง ทำให้ กทม.ต้องเตรียมพร้อมรับมือ ภายใต้ข้อจำกัด

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

ผศ.สิตางศุ์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ มีงานวิจัย ของ NIKKEI Asia ที่ตีพิมพ์ ซึ่งสอดคล้องกับ (climate change)ที่มีการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ มีการวิเคราะห์ผลกระทบที่ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่ม เคยมีการคาดการณ์ว่า ในช่วง 10 ปีจากนี้ จะมีอย่างน้อย 1 ครั้ง ที่พื้นที่กรุงเทพฯ ถูกน้ำท่วม ทั้งหมด

ส่องข้อจำกัด แก้น้ำท่วมกรุงเทพฯ

เพราะปัจจุบันกรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองแออัดและมีการขยายพื้นที่ทางเศษฐกิจ ค่อนข้างมาก จนทำให้พื้นที่ซับน้ำเปลี่ยนไป และน้ำท่วมขังบ่อยและมากขึ้น ซึ่งเป็นผลของการพัฒนาเมืองที่อาจลืมนึกถึงข้อจำกัดด้านภัยพิบัติน้ำ แม้ปัจจุบัน กทม.จะพยายามทำเต็มที่ทั้งกำจัดขยะ ขุดลอก อุโมงค์ระบายน้ำ แต่ก็ยังมีหลายปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ และหลายปัจจัย ที่ยากจะรับมือ

  • ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง เพราะตั้งแต่มีผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 มาจนถึงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ถึงปัจจุบัน พอไม่มีการบังคับใชัผังเมือง ส่งผลให้สภาพพื้นที่เปลี่ยนไปมาก พื้นที่ซับน้ำลดลง เพราะความเป็นเมืองเพิ่มขึ้นจากการพัฒนา
  • ความเสี่ยงจากระบบการระบายน้ำ ที่ทำงานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะ เก่า ชำรุด งบฯน้อย ขาดการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง ฯลฯ
  • ความเสี่ยงจากระบบป้องกันน้ำท่วมยังไม่สมบูรณ์ เช่นคันป้องกันน้ำท่วมยังมีช่องโหว่
  • ความเสี่ยงจากการบริหารจัดการน้ำ และการสั่งการที่ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ
  • ข้อจำกัดของระบบระบายน้ำ เช่น สภาพภูมิประเทศที่จุดระบายน้ำเป็นที่ราบลุ่มตอนปลายของแม่น้ำเจ้าพระยา อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง
  • ข้อจำกัดของการพัฒนาระบบระบายน้ำ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และอาจมีเงื่อนไขของการขยายตัวของชุมชน และการแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชนในการเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ
  • ข้อจำกัดของคลองเชื่อมกับอุโมงค์ระบายน้ำยังไม่ครอบคลุมพอ ขณะที่อุโมงค์ระบายน้ำที่ก่อสร้างเสร็จแล้วและใช้งานได้มีเพียง 4 แห่ง คือ ที่ประชาราษฎร์สาย 2 บึงมักกะสัน คลองแสนแสบ และคลองบางซื่อ ส่วนอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน อยู่ระหว่างก่อสร้าง ส่วน อุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร คลองแสนแสบต่อขยาย คลองทวีวัฒนา คลองพระยาราชมนตรี คลองบางซื่อต่อขยายเป็นแผนในอนาคต

ปัญหาคอขวดของระบบระบายน้ำ เช่น
ถนน : ท่อระบายน้ำแบบรามมีตะกอน ขยะ ไขมันอุดตัน
คลอง : มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำ ทิ้งขยะกีดขวางการไหล
สถานีสูบน้ำประตูระบายน้ำ :ไม่ได้พร่องน้ำ เครื่องสูบน้ำเสียใช้การไม่ได้
แม่น้ำ : ระดับน้ำทะเลหนุนสูง


การบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพมหานคร เป็นแบบ Polder คือเป็นคัน มีลักษณะการจัดการน้ำด้วยการสูบผ่านปั๊ม เวลาฝนตกลงสู่พื้นถนน จะไหลลงสู่ท่อระบายน้ำที่อยู่ข้างถนน จากท่อระบายน้ำจะรวบรวมลงสู่คลอง จากคลองก็จะรวมลงสู่เจ้าพระยาและออกทะเล แต่การบริหารจัดการตอนนี้ทุกระดับติดขัดไปหมด เช่น น้ำที่ระบายลงท่อ อาจมีขยะปิดกั้นระบายไม่ได้ เพราะไม่เหลือพื้นที่ให้น้ำออก จากฝีมือมนุษย์

ก่อนหน้านี้ ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เคยประเมินความเสี่ยงน้ำท่วมเชิงพื้นที่ ของกรุงเทพฯ มีความล่อแหลม มีความอ่อนไหวต่อการเกิดน้ำท่วม เมื่อปี 2016 ประสิทธิภาพการระบายน้ำของ กทม. อยู่ที่ร้อยละ 43.5 แปลว่ามีประสิทธิภาพมากสุดแค่ครึ่งเดียวซึ่งสะท้อนว่า ถ้าฝนมามาก อาจต้องใช้เวลากว่าครึ่งที่ประชาชนต้องแบกรับความไม่สะดวกนี้

แม้ปัจจุบันนี้กรุงเทพมหานครจะเร่งเพิ่มประสิทธิภาพของการระบายน้ำด้วยการขุดลอก ซึ่งก็จะพบว่าประสิทธิภาพการระบายน้ำของ กทม. อยู่ที่ร้อยละ 50 เพราะเป็นเรื่องยากที่จะปรับแก้ระบบระบายน้ำท่ามกลางการขยายตัวของเมืองเวลานี้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุวัฒนา จิตตลดากร ศาสตราจารย์เกียรติคุณของภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

MINDSET ความเสี่ยงสูงสุด จัดการน้ำท่วม กทม.

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุวัฒนา จิตตลดากร ศาสตราจารย์เกียรติคุณของภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่ประชาชน สามารถทำได้เพื่อให้อยู่กับภาวะเสี่ยงภัยน้ำท่วมเมืองเช่นนี้ คือการไม่เอาตัวไปอยู่ และ ไม่ตั้งถิ่นฐานในที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วม หลีกเลี่ยงการเข้าสู่พื้นที่จราจรหนาแน่น เมื่อมีโอกาสเกิดฝนตกหนัก และ น้ำท่วม โดยติดตามข่าว การแจ้งเตือนจากหน่วยงาน กลับบ้านเร็วขึ้น อีกทั้งในเรื่องการช่วยกันเก็บน้ำฝนที่ตกลงในบริเวณบ้าน หรือ ตกบนหลังคาอาคาร ต้องมีส่วนช่วยให้มีการร่วมเก็บร่วมชะลอ ก่อนน้ำออกเส้นเลือดฝอย อาจมีภาชนะที่หาได้ เช่น โอ่ง ถังน้ำ เก็บน้ำใต้ดินสำรอง ก็ทำได้

ส่วนหน่วยงานปฏิบัติควรมีระบบคาดการณ์ที่แม่นยำ เพื่อการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์แจ้งเตือนอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงกับสื่อในช่องทางที่กว้างขวาง เลิกทำโครงการใหญ่ เน้นเชื่อมโยงการระบายน้ำจากจุดวิกฤตมาลงคลองและ อุโมงค์ให้ได้ทุกจุดหน่วยงานปฏิบัติส่วนกลางและระดับเขตต้องเชื่อมโยงอย่างแท้จริง เลิกโยนงาน เกี่ยงความรับผิดชอบ

ขณะเดียวกันในระยะสั้นและระยะยาว ต้องมีการผลักดันให้โครงการแก้ปัญหาด้านน้ำของ กทม. เข้าสู่แผนงานบูรณาการด้านน้ำของประเทศ เพราะปัจจุบัน แปลกแยกแตกต่าง อยู่ตรงกลางแต่ไม่เชื่อมโยงกับระบบลุ่มน้ำ เพราะหากเชื่อมโยงกับจังหวัดข้างเคียงได้ และร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำร่วมบริหารจัดการโดยภาพรวม จะมีการบริหารจัดการน้ำได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับ งบประมาณ และการทำโครงการตาม Priority ตามหลักคิดทางวิศวกรรม ที่สำคัญต้องไม่ใช่เน้นสร้างอุโมงค์โดยให้เป็นความหวังของการแก้น้ำท่วมทั้งหมด แต่ต้องให้ระบบลำเลียงน้ำรอบด้านลำเลียงน้ำให้ดีควบคู่ไปด้วย

ขณะที่ “ความเสี่ยงสูงสุด” ของการจัดการน้ำท่วมกรุงเทพฯ คือ MINDSET ของผู้บริหาร!! โดยยก กรณีวาทกรรมของผู้บริหาร กทม.ชุดก่อนๆ ที่เคยระบุว่า “ขออย่าเรียกว่าน้ำท่วม ขอให้เรียกน้ำรอระบายเพราะถ้าน้ำท่วมต้องเป็นเหมือน ปี 2554 “

“ผมไม่เห็นด้วยกับวาทกรรมนี้ เพราะมันเหมือนเป็นการโยนภาระไปให้ประชาชน ว่าคุณต้องรอไป แต่สิ่งที่ กทม.ควรพูด คือ ต้องระบายน้ำเพื่อให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด ประเด็นสำคัญ ความเสี่ยงสูงสุดของการจัดการน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่ผมมอง คือ MINDSET ของผู้บริหาร ที่ต้องบูรณาการให้แต่ละเขตเร่งร่วมบริหารจัดการ”

โดย พ.ร.บ.น้ำ ฉบับปี 2561 ก็ได้ให้นิยามคำว่า “ภาวะน้ำท่วม” หมายความว่า “สภาวะที่ปริมาณน้ำ ปริมาณการไหลของน้ำหรือระดับน้ำเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง หรือไหลหลาก หรือฉับพลันจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคน สัตว์และพืชที่อยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่ไม่รวมถึงภาวะน้ำขึ้นและน้ำลงซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปกติตามธรรมชาติ ซึ่งไม่มีการพูดถึงน้ำรอระบาย ” ซึ่งต่อจากนี้ไป เมืองหลวง มีโอกาสเผชิญกับภาวะความเสี่ยงน้ำท่วมเพิ่มขึ้นแน่นอน หากทุกภาคส่วนไม่เร่งแก้ปัญหาเชิงระบบ กรุงเทพมหานครอาจเป็นเมืองที่จัดการยากขึ้นเรื่อยๆ และเสี่ยงน้ำท่วมหนักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  

รศ.บัญชา ขวัญยืน ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน ม.เกษตรศาสตร์ และรองประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ทางออก? แก้น้ำท่วมกรุงเทพฯ

ด้าน รศ.บัญชา ขวัญยืน ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน ม.เกษตรศาสตร์ และรองประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีขีดความสามารถของระบบระบายน้้าสามารถรองรับปริมาณฝนตกสะสมรวมได้ประมาณ 90 มิลลิเมตร ดังนั้นเพื่อเร่งระบายน้้าท่วมขังในพื้นที่ออกสู่แม่น้้าเจ้าพระยาโดยเร็ว มันมีทางออกได้หลายทาง แต่ก็ต้องทำจริงๆ

  1. กรุงเทพมหานครต้องร่วมมือในการพัฒนาระบบจัดการน้ำฝน-น้้าท่า-การระบายน้ำ (สำหรับน้ำท่วม
    ขัง) ร่วมกับพื้นที่จังหวัดข้างเคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมุทรปราการและนนทบุรี เพื่อระบายน้ำตามทิศทาง
    ธรรมชาติคือ การระบายน้ำส่วนหนึ่งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และการระบายน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯลงสู่
    อ่าวไทยผ่านจังหวัดสมุทรปราการ นั่นคือควรจัดทำเกณฑ์บริหารจัดการอุทกภัยในพื้นที่เฉพาะกรุงเทพฯและ
    ปริมณฑล โดยให้สอดรับกับแผนบริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้้าเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ
    สำหรับอุทกภัยขนาดใหญ่ กรุงเทพฯ ต้องผสานความร่วมมือในการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมร่วมกับ จ.
    นนทบุรี จ.ปทุมธานี และ จ.สมุทรปราการ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สทนช. และกรมชลประทาน
  1. การเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำชั่วคราว (แก้มลิง) จากข้อมูลพบว่าพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร
    ปัจจุบันมีพื้นที่แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมประมาณ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งกรุงเทพมหานครควร
    จัดหาพื้นที่สาธารณะเพื่อพักน้ำเพิ่มเติม นอกจากนี้ควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อบัญญัติควบคุมอาคารกรุงเทพมหานคร
    ก้าหนดให้มีบ่อพักน้ำในพื้นที่หมู่บ้านสร้างใหม่ รวมทั้งอาคารสาธารณะขนาดใหญ่ โดยอาจก่อสร้างเป็นพื้นที่พักน้ำ
    ผิวดินหรือบ่อพักน้ำใต้อาคารก็ได้
  2. การหาสถานที่ติดตั้งระบบสูบน้ำเฉพาะที่ (booster pump) การสร้างความร่วมมือกับเจ้าของพื้นที่
    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถนนแยกหรือซอยที่มีความยาวมาก ซึ่งหลายแห่งมีปัญหาระบบท่อระบายน้ำมีขนาดเล็กเกินไป
    เนื่องจากการเติบโตของชุมชน รวมทั้งอาจมีปัญหาระดับท่อระบายน้ำที่อาจต่ำในช่วงท้ายซอย ทำให้การระบายน้ำ
    เป็นไปอย่างช้า จนเกิดน้ำท่วมขัง แนวทางหนึ่งคือการติดตั้งสถานีสูบน้ำเฉพาะที่ โดยความร่วมมือกับชุมชน
    โดยชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและการใช้งาน เมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ อาจไม่
    สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง
  3. เพิ่มประสิทธิภาพระบบท่อระบายน้ำ ปัญหาของระบบท่อระบายในถนนสายหลักมี 2 ส่วน คือ
    ขนาดของท่อที่อาจเล็กเกินไป ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ ซึ่ง
    กลายเป็นที่พักอาศัย พื้นที่พาณิชยกรรม ทำให้มีพื้นที่ทึบน้ำเพิ่มขึ้น และการทรุดตัวของแผ่นดินที่ไม่เท่ากันทำให้
    ระดับของท่อระบายน้ำมีความไม่ต่อเนื่องในทางชลศาสตร์โดยอาจมีการทรุดตัวมากในบางพื้นที่ ทำให้น้ำท่วมขัง
    ในบริเวณเหล่านั้น การแก้ไขคือ ปรับปรุงขยายท่อระบายน้ำ ร่วมกับการปรับปรุง
    ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ไปในคราวเดียวกัน
  4. เพิ่มประสิทธิภาพระบบคลองระบายน้ำ มี 2 ส่วนคือ การจัดการปรับปรุงคลองส่งน้ำสายหลักให้
    สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งความกว้างและความลึกของคลอง ซึ่งจะเกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขปัญหาการบุก
    รุกพื้นที่คลองระบายน้ำด้วย โดยเฉพาะคลอสายหลัก เช่น คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร
    ส่วนที่สอง คือ การบริหารจัดการน้ำในคลองระบายน้ำ โดยพยายามลดระดับน้ำก่อนและระหว่างเกิดพายุ
    ฝนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้คลองมีความสามารถในการรับน้ำท่าจากระบบท่อระบายน้ำได้ดีขี้น และเพิ่มระบบเรดาร์คาดการณ์ฝนของ กทม.จากเดิมให้ครอบคลุมมากขึ้น
  5. การรณรงค์การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ความตระหนักของประชาชน ผู้ประกอบการ และทุก
    คนที่อยู่อาศัยและใช้พื้นที่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่การงดทิ้งขยะและวัสดุลงบนถนนและท่อระบายน้ำ
    รวมถึงการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้้าลงในคลอง สุดท้ายต้องมีการ
    รณรงค์ให้ประชาชนการดูแลแม่น้ำและคูคลองร่วมกัน
  6. การพัฒนาระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียและระบายน้ำท่วม ผู้อยู่อาศัยต้องมีส่วนร่วม
    ในการดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต โดยระบบรวบรวมน้ำของกรุงเทพฯ เป็นระบบรวม คือน้ำท่าจากฝนและน้ำเสีย
    ถูกรวบรวมในระบบเดียวกัน ดังนั้นผู้อยู่อาศัยทุกคนต้องมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายเพื่อการบริหารจัดการ
    โดยเรื่องนี้อาจเป็นแนวทางระยะยาวสำหรับกรุงเทพมหานครต่อไป และอาจสร้างความร่วมมือจากภาคธุรกิจในการสร้างบ่อพักน้ำด้วยมาตรการลดหย่อนภาษี
นายเจษฎา จันทรประภา รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร

นายเจษฎา จันทรประภา รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ต้องยอมรับปีนี้ฝนค่อนข้างหนัก ก็มีความเสี่ยงที่คนกรุงเทพฯ อาจต้องเผชิญน้ำท่วมขังมากในช่วงเดือนกันยายน โดยนโยบายด้านการระบายน้ำ จากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เราให้ความสำคัญ ไปที่ ขุดลอกและทำความสะอาดท่อระบายน้ำ เพิ่มการขุดลอกคลองรองรับฝนทันที การลดจุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวังน้ำท่วม การเพิ่มแก้มลิงธรรมชาติ การทบทวนแผนการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ การเซนเซอร์สูบน้ำ ไม่ต้องรอกุญแจ การปรับปรุงซ่อมแซมแก้ฟันหลอคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองสายหลักแจ้งเตือนฝนล่วงหน้าแม่นยำ การรายงานปัญหาโดยประชาชน แก้ปัญหาโดย กทม. ผ่านแพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์