“ครู” ที่อยากเชื่อมโยงทรัพยากรเข้ากับชีวิตผู้เรียน
มีคนกล่าวว่า “กาฬสินธุ์นี้ดินดำน้ำซุ่ม” ออกเสียงสำเนียงอีสาน สื่อถึงชื่อเสียงเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งยึดเกี่ยวไว้กับอาชีพเกษตรกรรมและการประมงพื้นบ้านของผู้คนที่มีมานาน
ถึงแม้ในบริบทความเป็นชุมชน “ดินดำ น้ำซุ่ม” จะมีเรื่องราวของความร่มเย็น แต่หากมองไปยังความภาคภูมิใจของคนแถบนี้ อาจจัดได้ว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยมองเห็นศักยภาพ และความง่ายงามของทรัพยากรที่พวกเขามี สำหรับ ครูสราวุฒิ พลตื้อ หรือ ครูตู้ ผู้มีบุคลิกไม่ยอมหยุดนิ่งกับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ย่อมอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านเครื่องมือที่เขาถนัด นั่นคือ “การศึกษา”
ก้าวครูกล้าเปลี่ยน
หากเจอนอกรั้วโรงเรียนก็อาจจะแยกได้ยากว่าชายคนนี้มีอาชีพอะไร ในบรรยากาศทั่วไปเขามักสวมเสื้อยืดธรรมดา ไม่ก็เสื้อเชิ้ตแขนยาวเรียบง่ายในกิจกรรมที่ต้องพบปะผู้คน เป็นคนพูดคุยด้วยคำที่มีแง่คิดราวกับเคยเป็นนักบวช เราอาจทายว่าเขาคือศิลปิน แต่จริง ๆ เขาเป็น “ครู” อยู่ที่โรงเรียนหัวหินวัฒนาลัย โรงเรียนมัธยมประจำตำบลที่เด็กส่วนใหญ่โตมากับเขื่อนลำปาว ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์
การได้เป็นครูอยู่ในจังหวัดบ้านเกิด ทำให้ ครูตู้ รู้ดีว่าเทคโนโลยีสำหรับเด็กที่นี่ยังไม่เสถียรพอ เมื่อประกอบเข้ากับโครงสร้างในระบบการศึกษาที่ยังสนับสนุนเด็ก ๆ ได้ไม่เต็มที่ วิชาเอกคอมพิวเตอร์ที่เขาเรียนมา จึงถ่ายทอดได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ วิธีการที่ใช้สอนเป็นประจำ เลยเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงชีวิตผู้เรียนเข้ากับชุมชน และทรัพยากร ซึ่งทำมานานมากกว่า 10 ปี
“กาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่ดินดำน้ำชุ่ม คือมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องภูมิประเทศ และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นจังหวัดที่มีวิถีเกษตรกรรมและวิถีการประมงซึ่งอยู่ริมเขื่อน ผมมองว่าบริบทของเรามีวีถีชนบทกึ่งเมือง เลยคิดว่าการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทชุมชน น่าจะตอบโจทย์ที่สุดเรื่องการศึกษา”
ครูผู้มีความรักในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเป็นครูย้อนไปช่วง 3 ปีก่อนว่าได้ออกเดินทางไปกับเพื่อนครูคู่ชีวิตผู้มีนามว่า ครูตุ๋ม – วิภาวี พลตื้อ จากโรงเรียนห้วยเม็กวิทยาคมที่อยู่ไม่ไกลกัน นำปลายทางฝันพร้อมแรงบันดาลใจ ไปเติมความรู้และหาแนวร่วมจากกระบวนการพัฒนาครูรูปแบบใหม่ที่มีชื่อว่า “ก่อการครู” รุ่นแรก ที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับเครือข่ายองค์กรภาคีที่ทำงานด้านการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ได้ปลุกปั้นขึ้น
ความมุ่งหวังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการศึกษา ซึ่งมองเหมือนกันว่า “ครู” น่าจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agents) เพราะอยู่ในระบบการศึกษานานที่สุด ครูตู้ เลยพาตัวเองเข้าไปอยู่ในกระบวนการพัฒนาที่หวังให้ครูเป็นกระบวนกรจัดการเรียนรู้ที่มีส่วนร่วมให้กับนักเรียนในการเป็นผู้นำการเรียนรู้ด้วยตนเอง พร้อมสนับสนุนลูกศิษย์ให้มีทั้งความรู้และทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็น ซึ่งโครงการ “ก่อการครู” ตั้งใจสนับสนุนครูอย่างน้อย 5,000 คน คิดเป็นร้อยละ 1 ของระบบการศึกษา ให้เป็นหน่วยตั้งต้นนำการเปลี่ยนแปลงในระยะ 5 ปี
และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ครูตู้ กับ ครูตุ๋ม ได้พบกับเพื่อนครูร่วมปลายฝันกว่า 100 คนในตอนนั้น ก่อนมาแนะนำ ครูฝน – สายฝน จันบุตราช ครูรุ่นน้องจากโรงเรียนบ้านหนองแวงบ่อแก้ว อ.ยางตลาด จังหวัดเดียวกันให้มาร่วมเป็นครูแกนนำ “ก่อการครู” ด้วยกันในรุ่นต่อไป
“เราทำงานเกี่ยวกับการศึกษาตั้งแต่เริ่มต้น ก็เห็นว่าหลาย ๆ อย่างยังอยู่ในกรอบหลักสูตรของตัวชี้วัด เราอยากผลักดันกิจกรรมนอกห้องเรียนให้มากกว่านี้ เพราะเห็นแล้วว่าเด็ก ๆ มีความสุขที่ได้ลงมือทำกิจกรรมที่เราพยายามเน้นให้พวกเขาเป็นเจ้าของการเรียนรู้ หลังจากเราได้รู้จักกับก่อการครู เราก็ได้เห็นว่ามีเพื่อนที่มองการศึกษาด้วยเป้าหมายเดียวกัน”
กระบวนการเรียนรู้ในระบบนิเวศแห่งชีวิต
“ครู” ผู้ไม่หยุดนิ่งเรื่องการเรียนรู้ และไม่จำยอมต่อข้อจำกัดจากระบบและโครงสร้างทางการศึกษา คือบุคลิกที่ปล่อยแสงออกมาเด่นชัดไม่เฉพาะ ครูตู้ ถ้าวัดค่าแสงเรื่องความมุ่งมั่น ครูตุ๋ม และ ครูฝน ก็เปร่งออร่าไม่แพ้กัน ผ่านมาไม่กี่ปี กลุ่มครูผู้สวมหมวกแห่งความกระตือรือร้นกลุ่มนี้ ก็ได้ทำให้ทุกที่กลายเป็นโรงเรียนจริง ๆ
ต้นปี 2563 ในช่วงที่โรงเรียนเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยจากการระบาดโควิด-19 สามเกลอทางอุดมการณ์พยายามสร้างชุมชนการเรียนรู้ใหม่ด้วยโครงการ “รถพุ่มพวงชวนเรียนรู้” คู่ขนานไปพร้อม ๆ กับเพื่อนครูอีกหลายจังหวัด พวกเขาใช้จักรยานเป็นสื่อกลางพาเด็ก ๆ จาก 3 โรงเรียน ทำกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา ผลัดกันเป็นเจ้าภาพพาสำรวจภูมินิเวศในชุมชนให้มีการเรียนรู้ต่อเนื่องในสถานการณ์ที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ สิ่งนี้มาจากการมีพื้นที่แบ่งปันไอเดียของเครือข่ายครูที่มีชื่อว่า “ก่อการครู” นั่นเอง
“ที่ผ่านมาอาจจะยังยืนยันไม่ได้ว่าผลลัพธ์การเรียนรู้เป็นอย่างไร แต่หลังจากที่เราทำกันไปก็ได้กลับมาแลกเปลี่ยนกันว่าแบบไหนเวิร์ก พื้นที่ไหนทำแล้วไม่เวิร์ก แล้วก่อการครูกาฬสินธุ์เราหน้าตาจะเป็นอย่างไรต่อไป คงจะเปิดหัวใจเพื่อน้อมฟังความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อเป็นไอเดียในการขยายเครือข่าย สำคัญก็คือเราจะสร้างพื้นที่ให้ครูรู้สึกปลอดภัย ให้เพื่อนครูอยากไปต่อ ให้มองเห็นว่าพื้นที่อย่างนี้มันสำคัญต่อการสร้างการเรียนรู้”
อย่างที่สังคมเคยบอกกันมาว่า “ความรู้คืออำนาจ” เมื่อครูคือคนที่วางตัวตนว่ามีความรู้มากที่สุดในห้องเรียน ครูก็อาจกลายเป็นผู้กุมอำนาจ มีบทบาทชี้ขาดในห้องเรียนทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ และมันก็กลายเป็นวัฒนธรรมที่สร้างเส้นขั้นระหว่างครูกับเด็ก แต่สำหรับ ครูตู้ พยายามมองให้ต่าง
“ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าครูเปลี่ยนอำนาจในมือมันอาจเปลี่ยนห้องเรียนได้เลย ถ้าเราพลิกให้ครูเปลี่ยนบทบาทจากผู้กุมอำนาจเป็นคนที่แบ่งปันอำนาจ และเป็นคนเปิดประตูการเรียนรู้ให้พวกเขาได้ฝึกทักษะการเรียนรู้ ทักษะกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ ผมคิดว่าพื้นที่ตรงนี้จะเป็นพื้นที่ปลอดภัย ถ้าเราเปลี่ยนแปลงส่วนนี้ได้ ห้องเรียนก็จะเปลี่ยนจากการเปลี่ยนแปลงของเรา”
เราเห็นแววตาอันมุ่งมั่นแบบเดียวกับ ครูตู้ ในตัว ครูตุ๋ม – วิภาวี พลตื้อ ที่รับไม้ผลัดในการบอกเล่าเรื่องราว หลังจากสัมผัสได้ว่าเด็ก ๆ ในชุมชน มองไม่เห็นศักยภาพและความงดงามของทรัพยากรธรรมชาติ ภูเขา แหล่งน้ำ การเพาะปลูก และการประมงในถิ่นที่อยู่เท่าไร หน้าที่ครูจึงพยายามนำเอาสิ่งเหล่านี้มาเชื่อมติดกับการศึกษา และสร้างคุณค่าด้านการเรียนรู้ด้วยหวังให้เด็ก ๆ มองเห็นชุมชนที่พวกเขาเกิดและเติบโตมา
“เราใช้ธีมสิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นกระบวนการที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ถึงภูมินิเวศในชุมชนของตนเองอย่างอิสระ พร้อมกับบูรณาการเอารายวิชาต่าง ๆ มาเชื่อมโยงกับความรู้ที่มี มาต่อยอดทำให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและตนเอง เริ่มจากให้เด็ก ๆ สำรวจตัวเองผ่านกระบวนการที่ออกแบบไว้ เช่น ชวนคิดว่าพวกเขามองเห็นอะไรในชุมชนของตัวเอง แล้วให้อิสระพวกเขาได้เลือกเรียนรู้สิ่งที่สนใจ ก่อนพาออกแบบการพัฒนาผ่านกระบวนการคิดของแต่ละคน”
ครูตุ๋ม ของเด็ก ๆ แห่งโรงเรียนห้วยเม็กวิทยาคม ยกตัวอย่างให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น จากกิจกรรมที่เธอนำวิชาสารสนเทศบูรณาการเข้ากับวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ที่มีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้องค์ความรู้ถูกเชื่อมโยงไปสู่การหล่อเลี้ยงชีวิตผู้เรียนได้อย่างแท้จริง เพื่อแสดงให้เห็นว่าการศึกษาไม่ได้ทำให้ตัวผู้เรียนพลัดพรากออกจากท้องถิ่น แต่ทำให้เด็กได้รู้จักตนเอง รู้ถึงศักยภาพชุมชน แล้วกลับไปพัฒนาถิ่นที่อยู่ที่พวกเขาเติบโตมา
“เราสอนวิชาเคมี ก็พยายามคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็ก ๆ ทำปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี เลยให้เด็ก ๆ เทียบธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ของปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 แต่เราจะทำปุ๋ยอินทรีย์ ก็เริ่มจากตรงนี้ก่อนว่าจะเชื่อมโยงความรู้กับชีวิตพวกเขาอย่างไร แม้ว่าวันนี้พวกเขาจะยังไม่ใช่เกษตรกร แต่ผู้ปกครองของพวกเขาเป็น อย่างน้อยถ้าลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ หรือลดสารเคมีไหลสู่สิ่งแวดล้อม ไหลสู่เขื่อนลำปาวที่เรากินปลาในนั้นมันก็หล่อเลี้ยงไปด้วยกัน ไม่ได้แยกส่วนเรื่องการศึกษาหรือเรื่องสุขภาพ โจทย์ต่อไปก็คือ ทำอย่างไรก่อการครูกาฬสินธุ์ถึงจะเชื่อมโยงประเด็นเหล่านี้ให้หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน สำคัญคือทำอย่างไรให้เด็กเป็นเจ้าของกระบวนการเรียนรู้”
การจัดกระบวนการแนวประยุกต์ศาสตร์ศิลป์ อาจดูไม่ยากนักกับครูบางคน แต่มันก็ไม่ง่ายเกินไปสำหรับครูทุกคน ครูตุ๋ม เล่าผ่านประสบการณ์ตัวเองว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากการจัดวาง Mindset ให้ดี ถ้าหากครูมองเด็ก ๆ ด้วยแว่นกรองที่มีความสุข การเรียนรู้ของพวกเขาก็น่าจะมีความสุข และถ้าถามว่าการสร้างห้องเรียนเชิงบวกแบบนี้เป็นหน้าที่ใคร อำนาจหน้าก็คงไม่พ้นในคนเป็นครู
พื้นที่การเรียนรู้บนโจทย์ชุมชน “ดินดำ น้ำซุ่ม”
หากวัดประเมินเพียงความสุขระดับบุคคล การทำงานของครู 3 คน ก็ดูเสถียรแล้วในรูปกระบวนการ แต่พวกเขามีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า เมื่อโครงการ “ก่อการครู” อยากเห็น ครูก่อการคูณ หรือ X-Teachers เพื่อให้ครูแกนนำรับหน้าที่เป็น Downline ขยายเครือข่ายสร้าง “วัฒนธรรมการศึกษาที่มีความสุขและความหมาย” โดยชวนเพื่อนครูระดับพื้นที่มาทำ “การศึกษาที่เชื่อมโยงกับทรัพยากร ชุมชน และชีวิตผู้เรียน” สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ระดับจังหวัดที่เรียกแทนตัวเองว่า “ก่อการครูกาฬสินธุ์”
“เราอย่าเพิ่งไปเปลี่ยนแปลงโลกใบใหญ่ เราเปลี่ยนห้องเรียนเล็ก ๆ ให้ได้ก่อน” คำสะท้อนแบบผ่อนหนักผ่อนเบาจาก ครูตุ๋ม ที่ออกมาสร้างขบวนเครือข่ายนักขับเคลื่อนการศึกษาที่มีความสุขและมีความหมายบนพื้นที่กาฬสินธุ์ภายใต้กิจกรรม “ออกแบบหน้าตาการศึกษาบ้านเฮา” ที่งานนี้ ครูตุ๋ม กับ ครูตู้ ยกให้ ครูฝน – สายฝน จันบุตราช จากโรงเรียนบ้านหนองแวงบ่อแก้วมีบทบาทมากขึ้นอีก เธอเลยเป็นไม้ผลัด 3 ที่นั่งเล่าเรื่องกับเรา
บรรยากาศเย็นตาใน “สวนดอนธรรม” บ้านพักตากอากาศแนวเศรษฐกิจพอเพียงของคนวัยเกษียณชาวกาฬสินธุ์บนทางหลวงหมายเลข 12 เปิดต้อนรับนักออกแบบการเรียนรู้ช่วงบ่ายวันหนึ่งปลายกุมภาพันธุ์ ก่อนโควิด-19 ระลอกสามจะกีดกันไม่ให้รวมตัวยาวนานจนถึงปลายปี วันนั้นไม่ได้มีเพียงเพื่อนครู แต่ยังมีนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ ไปร่วมกระบวนการที่มีชื่อว่า “ออกแบบหน้าตา การศึกษาบ้านเฮากาฬสินธุ์ ดินดำ น้ำซุ่ม ED”
ครูฝน – สายฝน จันบุตราช หนึ่งในสมาชิก “ก่อการครูกาฬสินธุ์” เล่าถึงกิจกรรมนี้ว่า พวกเขากำลังชวนเครือข่ายหลายภาคส่วนมาช่วยกันระดมความคิดว่าอยากเห็นการศึกษาของกาฬสินธุ์เป็นอย่างไรใน 1 ปีต่อจากนี้ บนฐานวิธีคิดที่ว่าการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคนจึงต้องออกแบบร่วมกัน
“เราคาดหวังว่าตัวเองจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำดีมีคุณภาพเหนือคนอื่น ๆ แค่รู้สึกว่าอยากจะให้ตัวเองเป็นครูคนหนึ่งที่เริ่มทำ ถ้าคนอื่น ๆ เห็นแล้วอยากทำด้วยกัน น่าจะเกิดผลดีต่อนักเรียนและองค์กร”
รูปถ่ายที่แต่ละคนนำมาด้วย บ่งบอกถึงการเตรียมการไว้เป็นอย่างดีของทีมกระบวนกร มันคือสื่อกลางทางความคิดและวิธีการสอนที่ถูกนำมาใช้เป็นแม่สื่อในการเปิดวงแสดงความเห็นเพื่อตั้งต้นไปสู่การเปิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ด้วยวงคุยแบบธรรมชาติ ที่หวังนำพากาฬสินธุ์ไปสู่การเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัดในอนาคตอันใกล้
จักรกริช สบายใจ หรือ ครูคอขวด ของเด็ก ๆ โรงเรียนหัวหินวัฒนาลัย หนึ่งในเพื่อนร่วมงานของ ครูตู้ ที่มาเป็นผู้เข้าร่วมสะท้อนว่าต้องเริ่มจากการเปลี่ยน Mindset ของครูว่าเกรดไม่ใช่ทุกอย่าง ไม่ควรใช้สิ่งนี้ไว้เพื่อตัดสินว่าเด็กเก่งหรือไม่ ในข้อต่อไปก็คงต้องเปลี่ยนรูปแบบการสอนของครูให้เป็นแบบ Open approach คือการสอนที่ใช้สถานการณ์ หรือกำหนดปัญหาขึ้นมาให้นักเรียนออกแบบแก้ไข โดยที่ครูไม่ต้องคำนึงผลลัพธ์ว่าเด็กจะตอบถูกหรือไม่ แต่ให้สนใจว่าเด็กแต่ละคนได้วิธีคิดมาอย่างไร ครูต้องสนใจวิธีการมากกว่าผลลัพธ์ แต่สุดท้ายสิ่งที่ต้องมีก็คืองบประมาณซึ่งต้องยอมรับว่าก็เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาการศึกษาไทย
เหล่านี้เป็นก้าวแรกของจุดเริ่มต้นในการออกแบบหน้าตาการศึกษา โดยการขับเคลื่อนของทีมงาน “ก่อการครูกาฬสินธุ์” ที่กำลังขยายครอบครัวให้ใหญ่ขึ้นตามเป้าหมายการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงทรัพยากรกับชีวิตผู้เรียน ซึ่งใช้เวลานัดแรกคุยกันราว 3 ชั่วโมง สำหรับ ครูฝน สิ่งที่สนใจก็คือการได้มาออกแบบการศึกษาที่อยากเห็นร่วมกับคนอื่น ๆ ว่าเธอจะช่วยขยับเยื้อนแบบไหนได้บ้างตามกำลัง
“เราเองก็ได้ออกแบบไว้ประมาณหนึ่งว่าลำดับขั้นตอนต่อจากนี้จะทำงานกันประมาณไหน เป้าหมายสำคัญคือทำให้เกิดกาฬสินธุ์โมเดล หรือความโดดเด่นด้านการจัดกระบวนเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของ ส่วนทีมงานก่อการครูก็สนับสนุนการศึกษาให้มีความสุขและมีความหมาย นอกจากจะมีความหมายต่อชีวิตพวกเขาแล้ว ยังมีความหมายต่อชุมชนของเขาด้วย”
ปลุกพลังครู หล่อเลี้ยงใจ
ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดสำเร็จได้ง่ายแบบพลิกหน้ามือไปทันที เพียงแต่การมีจุดเริ่มก็เท่ากับมีจุดร่วมในการก่อร่างเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้ดีกว่าเดิม ซึ่ง “ก่อการครูกาฬสินธุ์” ที่ ครูตู้ กับ ครูตุ๋ม และ ครูฝน พร้อมกลุ่มคนที่มองกันเป็นกลุ่มเพื่อน ก็คงไม่ได้สำเร็จเร็วเหมือนมีทางลัด เพราะนี่คือการสร้างสังคมด้านการเรียนรู้ด้วยความเกื้อกูลที่ไม่ได้จำกัดวงการ แต่กำลังทำให้การศึกษาให้อยู่กับชุมชนและทรัพยากร ที่หวังจะได้แรงผลักดันจากทุกภาคส่วนจริง ๆ หลังจากนี้ เรื่องราวที่เกิดขึ้นใน “ก่อการครูกาฬสินธุ์” จะถูกเล่าเรื่องออกมาด้วยตัวคุณครูกันเอง ชวนติดตามกันต่อไป