ส่วนหนึ่งจากบทเพลง ‘ปกาเกอะญอก็มีหัวใจ’ ที่ขับร้องคลอกับเสียงเตหน่ากู เครื่องดนตรีชาติพันธุ์ โดย ‘อาจารย์ชิ – สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์’ ศิลปินชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ และนั่นก็ทำให้ผู้เขียน ได้ทักทายกับเรื่องราวเกี่ยวกับชาติพันธุ์ครั้งแรก
ก่อนได้ร่วมเดินทางลงพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ บ้านแม่ปอคี (ขุนแม่เหว่ย) อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่ The Active ร่วมกับ วิชาการผลิตข่าววิทยุและโทรทัศน์ (JC333) พานักศึกษาชั้นปีที่ 2 และ 3 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนรู้การสื่อสารประเด็นทางสังคม ภายใต้บทบาทของว่าที่สื่อมวลชน ในนาม The Active Juniors
ผู้เขียนจึงขอเป็นตัวแทนคนเมือง คนรุ่นใหม่ ถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้ ได้เห็นในมิติต่าง ๆ ด้วยตาของตัวเอง ให้แก่สังคมได้ทำความเข้าใจวิถีชุมชนชาติพันธุ์ไปพร้อม ๆ กัน
จนถึงวันนี้ บ้านแม่ปอคี คือ พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ แห่งที่ 22 ที่เพิ่งได้รับการสถาปนา ไปเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567
แม่ปอคี คือ ชุมชนชาติพันธุ์ หมู่บ้านเล็ก ๆ กลางผืนป่าตะวันตก สำหรับผู้เขียนแล้วไม่เคยรู้จักแม้แต่ชื่อของชุมชนแห่งนี้มาก่อน และแทบไม่รู้จักเรื่องราวของชุมชนชาติพันธุ์เลย
เมื่อประสบการณ์ในสายสื่อสารมวลชน มาถึงเร็วกว่าที่คิด… ในฐานะที่ผู้เขียน ได้เรียนรู้ทฤษฎีต่าง ๆ ของการทำข่าวในห้องเรียนมาแล้วเบื้องต้น โจทย์การลงพื้นที่บ้านแม่ปอคีที่ได้รับมา จึงถือเป็นการออกเดินทาง ลงพื้นที่ทำข่าวด้วยตัวเองครั้งแรก
ท่ามกลางข้อจำกัดที่ได้รับคือ บ้านแม่ปอคีแห่งนี้ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต นี่จึงเป็นความท้าทายที่ยังเดาไม่ออกว่า ประสบการณ์ครั้งนี้จะช่วยเติมไฟให้กับอนาคตการเป็น ‘นักข่าว’ หรือ จะยิ่งทำให้ผู้เขียนต้องกลับไปทบทวนอนาคตของตัวเองอีกครั้ง
ออกเดินทางไกล เพื่อตอบข้อสงสัย มีอะไร ? ในชุมชนชาติพันธุ์
แต่เอาล่ะ…มาถึงตรงนี้แล้ว ก็ต้องลองดูสักตั้ง แม้โจทย์ของการไปแม่ปอคี ทำให้ผู้เขียนและเพื่อน ๆ ต้องนั่งมองหน้ากันด้วยความสงสัย มันคือที่ไหน ? แต่หน้าที่ของพวกเราต่อจากนี้ คือการทำให้คนที่ยังไม่รู้เหมือนเรา ได้รู้จักมุมมองของชุมชนชาติพันธุ์ให้มากยิ่งขึ้น
เกือบ 12 ชั่วโมงเต็ม กับการเดินทางด้วยรถตู้จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปจนถึงด่านตรวจแม่ตะปู อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เพื่อเปลี่ยนจากรถตู้มานั่งรถกระบะโฟร์วิล แล้วเดินทางลัดเลาะขอบป่า ผ่านเส้นทางปูน และดินลูกรัง ขึ้นลงเนิน ผ่านโค้งนับไม่ถ้วน พวกเราก็ไปจนถึงบ้านแม่ปอคี
นี่คือระยะการเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึง แม่ปอคี ที่ไกลเกินกว่าที่ผู้เขียนและเพื่อน ๆ จินตนาการเอาไว้มาก นับจากนี้อีก 3 วัน พวกเราก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่แม่ปอคี
สิ่งแรกที่ผู้เขียนได้เริ่มเรียนรู้ทันทีที่มาถึง คือ ไม่แปลกใจเลยว่าการอยู่ในพื้นที่ห่างไกลแบบนี้ ทำให้ที่นี่ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนเริ่มสัมผัสได้ถึงความแตกต่างของผู้คนที่นี่ เมื่อเทียบกับชีวิตในเมืองที่เราเพิ่งจากมา
ผู้เขียนได้พักอาศัยอยู่กับชาวบ้านครอบครัวหนึ่ง ที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยถนัดนัก เราจึงกังวลว่า การอยู่ร่วมกับคนที่ต่างวัฒนธรรมกัน จะเป็นปัญหาหรือไม่ แต่เท่าที่ได้สัมผัสการสื่อสารกับชาวบ้านไม่ยากอย่างที่คิด ชาวบ้านให้ความช่วยเหลือเราอย่างเต็มที่ พวกเขาไม่มองว่าเราเป็นสิ่งแปลกประหลาด และยังสนใจกับคำถามต่าง ๆ ที่เราถาม
‘คน’ กับ ‘ป่า’ ชีวิตที่ไม่ต้องการอะไร มากไปกว่าธรรมชาติ
นั่นทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้อีกเรื่อง เพราะจากที่คิดเอาไว้ว่าชาวปกาเกอะญอ คือ ‘คนป่า’ น่ากลัว ไม่เปิดรับโลกภายนอก แต่พอได้พูดคุย ทุกคนล้วนเป็นมิตร และคนป่าในมุมมองของผู้เขียนก็เปลี่ยนไป โดยพวกเขาก็คือ ‘คน’ ที่อยู่อาศัย พึ่งพา ‘ป่า’ เท่านั้นเอง
ถ้ามองข้ามความยากลำบากไปได้ ก็คงต้องบอกว่าการได้มาถึงบ้านแม่ปอคี ทำให้ค้นพบ และรับรู้ว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ และอยู่ร่วมกับทรัพยากรที่พวกเขาดูแลรักษาได้อย่างสมดุล จนลืมไปเลยว่าชีวิตที่ขาดปัจจัยขั้นพื้นฐานของชาวปกาเกอะญอที่นี่ อาจไม่ใช่อุปสรรคสำหรับพวกเขาอย่างที่เราคิดเอาไว้
สำหรับชาวปกาเกอะญอ สิ่งจำเป็นที่พวกเขาต้องการอาจไม่มีอะไรมากไปกว่า น้ำ ข้าว และ ป่า ที่อุดมสมบูรณ์ เราจึงรับรู้ได้เลยว่า ขอเพียงพวกเขาได้รับโอกาส และการสนับสนุนอย่างเหมาะสม ก็น่าจะช่วยให้ผู้คนในชุมชนชาติพันธุ์แห่งนี้ ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ควรเป็น ตามวิถีที่พวกเขาต้องการ
วิถีชีวิตที่ชาวบ้านอยู่ร่วมกับป่า เป็นอีกเรื่องสำคัญที่เราได้เรียนรู้ สิ่งนี้น่าจะช่วยให้เราเข้าใจและลบล้าง ‘อคติ’ ที่คนเมืองเคยมองพวกเขา และเคยกล่าวหาว่า กะเหรี่ยงเผาป่า, ค้ายา, เป็นภัยต่อความมั่นคง
แต่แล้วความคิดที่คนเมืองมองชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ก็ต้องค่อย ๆ เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการที่ผู้เขียน ได้เข้ามาทำความรู้จักวิถีของผู้คนที่แม่ปอคี จนได้รับรู้ว่า ชาวปกาเกอะญอ เกิด เติบโต และตาย ไปพร้อมกับป่ามาแล้วหลายชั่วอายุคน ดังนั้นวิถีชีวิตของพวกเขา ย่อมเป็นหนึ่งเดียวกับป่า และสิ่งที่พวกเขากำลังทำคือการรักษาป่า ไม่ได้ทำลาย ตามที่สังคมเข้าใจ…
วิถีชีวิตภายใต้อ้อมกอดของธรรมชาติ
ไม่น้อยกว่า 400 ปี ที่ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่ปอคี ใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ และยังคงดำรงวิถีชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับป่าจากรุ่นสู่รุ่น ทุกการ ‘เกิดใหม่’ ของชาวปกาเกอะญอที่นี่ คือ การกำเนิดอีกหนึ่งชีวิตที่จะมาสานต่ออัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์
เมื่อมีทารกแรกเกิด ชาวปกาเกอะญอมีความเชื่อเรื่อง ‘การผูกสะดือ’ ไว้กับต้นไม้ใหญ่ในป่า หมายถึงการนำรกของเด็กมาใส่กระบอกไม้ไผ่ แล้วนำไปผูกกับต้นไม้ใน ‘ป่าสะดือ’ อันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ในป่าจิตวิญญาณ โดยชาวบ้านจะเลือกต้นไม้ใหญ่ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นไม้ยืนต้นที่มีดอก มีผล และแข็งแรง ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ลูกหลานของพวกเขาที่ถือกำเนิดขึ้นมานั้น จะสามารถเป็นหนึ่งเดียวกับป่า เติบโตงดงามและแข็งแรงเหมือนกับต้นไม้ที่ได้มาทำการผูกสะดือเอาไว้
นี่คือคำบอกเล่าที่ ‘พี่นู่โหย่ – ประหยัด เสือชูชีพ’ เยาวชนบ้านแม่ปอคี อธิบายที่มาที่ไป พร้อมพาผู้เขียน มาสัมผัสป่าสะดือ ทำให้เห็นต้นไม้ในอุดมคติที่เหมาะสมสำหรับการผูกสะดือในป่าจริง ๆ
ระหว่างสำรวจป่าสะดือ เราพบต้นไม้ใหญ่กลางป่าต้นหนึ่งที่สะดุดตา หากให้บรรยายถึงความใหญ่โตแข็งแรง ก็คงบอกได้ว่า เด็กที่ผูกสะดือกับต้นไม้ต้นนี้ ต้องโตมาแข็งแรงมาก ๆ แน่นอน พี่นู่โหย่ เล่าให้ฟังว่า ไม้ใหญ่ต้นนี้ คุณตาของเขา และชาวบ้านอีกกว่า 60 คน เคยมาผูกสะดือเอาไว้ด้วย
แต่เท่าที่สังเกต ต้นไม้ต้นนี้ไม่น่าจะออกดอก ออกผล แล้วทำไมชาวบ้านจึงเลือกมาผูกสะดือ นี่คือคำถามที่ผู้เขียนสงสัย ซึ่งพี่นู่โหย่ ก็ตอบได้อย่างเหนือความคาดหมาย
จากป่าสะดือ ระหว่างที่เราใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านแม่ปอคี ยังทำให้ได้เห็น ‘พิธีแต่งงาน’ ซึ่งผู้เขียน และเพื่อน ๆ ต่างตื่นเต้น เพราะการแต่งงานในชุมชนเป็นงานใหญ่ ใหญ่ขนาดที่ว่าชาวบ้านทั้งชุมชน ต้องหยุดงานเพื่อร่วมเฉลิมฉลองให้กับคู่บ่าวสาว โดยพิธีที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจ คือ ชาวปกาเกอะญอจะร้องเพลงในขบวนพิธี ไม่ใช่เพลงโห่ร้องอย่างการแห่ขันหมากตามวิถีคนไทย
พี่นู่โหย่ บอกกับเราว่า เนื้อหาของเพลงที่ร้องกันในขบวนพิธี ไม่ว่าจะแต่งงานกันระหว่างคนในชุมชนหรือคนนอกชุมชน ชาวปกาเกอะญอ จะใช้ ‘ธา’ หรือบทกวีขับร้องโต้ตอบกันระหว่างฝ่ายเจ้าบ่าว และเจ้าสาว ธาจึงมีหลายบท โดยบทสำคัญที่ใช้ในพิธีช่วงเช้า คือ การกล่าวธาเอ่ยถึงเทพ เทวดา เพื่อแสดงถึงความพร้อมในการ ท่อปกา อันหมายถึง คู่บ่าวสาวพร้อมที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นป่าผืนใหญ่ พร้อมที่จะเสียสละและมีลูกหลาน ขอให้เทพ เทวดา ปกปักษ์รักษาให้คู่บ่าวสาวใช้ชีวิตคู่อย่างมีความสุข
‘วาระสุดท้าย’ คืนชีวิตกลับสู่ธรรมชาติ
จากเกิด เติบโต มีครอบครัว จนกระทั่งช่วง ‘วาระสุดท้ายของชีวิต’ ชาวปกาเกอะญอ ก็มีความเชื่อเรื่องการจัดการศพ โดยการเผาในฤดูร้อน และฤดูหนาว หากเป็นฤดูฝนจะใช้วิธีการฝัง เนื่องจากฟืนเปียกชื้นเกินที่จะใช้เผาได้ โดยพิธีกรรมทั้งหมดจะใช้พื้นที่ใน ‘ป่าช้า’ ส่วนหนึ่งของพื้นที่ป่าจิตวิญญาณในการประกอบพิธี
อีกทั้งยังมีการนำอุปกรณ์ทำมาหากินที่ใช้ในการทำไร่ หากินในป่า และเสื้อผ้า เผาไปพร้อมกับผู้เสียชีวิตในป่าช้า ด้วย และในพิธีศพ คนวัยหนุ่มสาวที่มาร่วมพิธี ยังได้ขับร้องธา เพื่อสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ตามความเชื่อ “ตายหนึ่งเกิดสิบ” โดยใช้โอกาสนี้ขับร้องเกี้ยวกัน เพื่อให้เกิดชีวิตใหม่ขึ้นมารักษาป่าทดแทนอีกชีวิตที่สูญเสียไป
‘ไร่หมุนเวียน’ วิถีที่ไม่ควรถูกด้อยค่า
อีกพื้นที่สำคัญนอกจากป่าจิตวิญญาณ คือ พื้นที่ทำกินอย่าง ‘ไร่หมุนเวียน’ ที่เปรียบได้กับชีวิตของคนปกาเกอะญอ แต่กลับถูกให้คำนิยามในแง่ลบจากคนบางกลุ่มในสังคม ที่ด้อยค่าวิถีไร่หมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเรียกว่า ‘ไร่เลื่อนลอย’ ซึ่งตั้งแต่อดีตมาคำ ๆ นี้ก็ยังพบปรากฏอยู่ในแบบเรียน จึงไม่แปลกใจที่ความเชื่อเรื่องวิถีไร่หมุนเวียน ไม่เคยถูกทำความเข้าใจ
และในช่วงเวลาที่มลพิษทางอากาศกลายเป็นประเด็นร้อน ‘การเผาป่า’ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในไร่หมุนเวียน จึงถูกมองเป็นจำเลยตัวการสร้างปัญหา ทั้ง ๆ ที่เมื่อผู้เขียนได้มาเรียนรู้ ทำความเข้าใจจากในพื้นที่ ได้เห็นกับตา ก็สามารถรับรู้ได้ว่า กระบวนการเผา เป็นวิธีการรักษาหน้าดิน ตามภูมิปัญญาชาวปกาเกอะญอมานานหลายชั่วอายุคน
เราได้รู้ว่า ก่อนเผาป่าไร่หมุนเวียน จะต้องมีพิธีกรรมตามความเชื่อที่สะท้อนถึงการเคารพต่อธรรมชาติ การจัดทำแนวกันไฟ การเสี่ยงทายต่าง ๆ ซึ่งกลายเป็นกฎ กติกาตามวิถีชาติพันธุ์ที่ทุกคนยึดถือปฏิบัติ เมื่อใช้ประโยชน์จากไร่แปลงหนึ่ง พวกเขาก็จะย้ายไปอีกแปลง และปล่อยแปลงเดิมทิ้งให้ธรรมชาติฟื้นตัว ทำอย่างนี้เป็นวงจร 5-7 ปี ก่อนจะเวียนกลับมาถึงไร่แปลงแรก
เท่าที่สัมผัสจากองค์ความรู้ที่ถูกถ่ายทอด ก็พอรับรู้ได้เลยว่า จริง ๆ แล้ว แม้หมุนเวียนทำไร่ไปเรื่อย ๆ แต่ พื้นที่ป่าไม่ได้หายไปไหน ที่สำคัญคือไร่หมุนเวียน ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมี ซึ่งผลที่ตามมาเป็นสิ่งสะท้อนได้อย่างชัดเจนถึงความพยายามดูแลทรัพยากรป่าไม้ ถ้าต้องเทียบกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แน่นอนว่า เราเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า ไร่หมุนเวียน สร้างความยั่งยืนได้อย่างสมดุลมากกว่า
4 วัน 3 คืน ที่เราทิ้งวิถีคนเมือง แล้วมาใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติร่วมกับผู้คนที่บ้านแม่ปอคี อย่างน้อยก็ทำให้ผู้เขียน ได้รับคำตอบในใจถึงความหมายของชุมชนชาติพันธุ์ ได้รับรู้ว่า แท้จริงแล้วองค์ความรู้ ภูมิปัญญาชาติพันธุ์ที่ถูกซ่อนอยู่กลางป่า คือศักยภาพการพึ่งพาตัวเองของชุมชน ที่มีอยู่อย่างเข้มแข็ง
แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะอยู่คู่กับชุมชนได้ จะต้องไม่ถูกจำกัด จากหลักเกณฑ์ กฎหมาย ที่ภาครัฐนำมาใช้ตีกรอบจนทำให้ชาวบ้านที่กินอยู่ ใช้ชีวิตอยู่กับป่ามาตั้งแต่ดั้งเดิมในฐานะ ‘ผู้บุกเบิก’ กลายมาเป็น ‘ผู้บุกรุก’ ซึ่งก็ไม่ต่างจากที่สื่อสารอยู่ในบทเพลง ปกาเกอะญอก็มีหัวใจ
- เรื่องโดย : ปิยะวรรณ นาคะสิงห์
นักศึกษา ชั้นปีที่ 2 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์