เมื่อคนพิการรับหน้าที่ดูแลประชาชน

จ้างงานคนพิการ = ให้โอกาส ข้ามข้อจำกัด

“สวัสดีครับ ที่นี่สำนักงานเขตภาษีเจริญครับ”

ถ้าคุณโทรมาที่สำนักงานเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ก็จะได้ยินเสียงนี้ แต่เพียงแค่การฟังจากปลายทาง ก็คงจินตนาการไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการเป็นคนพิการทางสายตา…

The Active ชวนอ่านบทสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่อาสาสมัครคนพิการ เขตภาษีเจริญ กับบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ทั้งเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่รับเรื่อง และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร ซึ่งเป็นหนึ่งในผลสำเร็จจากนโยบายจ้างงานสร้างอาชีพให้คนพิการ ลดความเหลื่อมล้ำ ข้ามข้อจำกัดทางสังคม ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ

คอลเซ็นเตอร์ รับเรื่องร้องเรียน

“วันนี้มีคนโทรเข้ามาสอบถามเรื่องการติดต่อจดทะเบียนสมรส การย้ายทะเบียนบ้าน การจองคิวออนไลน์เพื่อทำธุรกรรมต่างๆ มีการสอบถามการลงทะเบียนรับเบี้ยคนพิการ เบี้ยผู้สูงอายุ ผมจะให้ข้อมูลในเบื้องต้น แต่หากเป็นรายละเอียดมากๆ จะให้วิธีการโอนสายไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรง”

วสิษฐ์พล เจิมเฮงเจริญ หรือ เก่ง อาสาสมัครผู้พิการ ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตภาษีเจริญ เขามีภาวะสายตาเลือนลาง แต่ยังมองเห็นอยู่บ้าง หน้าที่ของเขาคือรับโทรศัพท์เบอร์กลางของสำนักงานเขตภาษีเจริญ เรียกว่าประชาชนทั้งเขตที่โทรเข้ามาจะได้ยินเสียงของเขาเป็นคนแรก เหมือนเป็นด่านหน้าที่จะคัดกรองข้อร้องเรียนหรือคำถามต่างๆ

“สำหรับหมายเลขของฝ่ายต่างๆ ที่จะต้องกดเบอร์ประสานไป ต้องใช้วิธีการจดจำ โดยผมจะถ่ายรูปเบอร์ต่างๆ จากที่ทำงาน ไปท่องที่บ้าน ใช้เวลา ความพยายาม ความอดทน เพื่อให้จดจำได้ และกดคล่อง ที่ผ่านมาเคยได้เรียนเรื่องเรียนรู้การสัมผัสสิ่งของ ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ และที่โทรศัพท์ก็มีปุ่มจับสังเกตได้ ทำให้มีทักษะในการทำงานได้ แต่ในช่วงแรกยังต้องอาศัยเพื่อนร่วมงานตาดีคอยบอกว่าจุดไหนคืออะไร เพื่อให้เกิดความคุ้นชินสภาพแวดล้อม เดินสะดวก ไปถูกจุด”

การทำงานบนข้อจำกัดทางร่างกายไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อต้องประสานงานร่วมกับผู้อื่นก็ยังต้องมีแรงเสียดทานทางอารมณ์ แต่เขาก็สามารถที่จะจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ พร้อมที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อรับความเปลี่ยนแปลง และยกระดับประสิทธิภาพในการทำงาน

“บางครั้งต้องการจะต่อสายไปยังฝ่ายอื่น แต่กดตัวเลขผิดไปบ้าง สายก็จะเด้งกลับมา ผมก็ขอโทษประชาชนที่ติดต่อมา และกดโอนสายใหม่อีกครั้ง หรือบางครั้งการสื่อสารอาจจะมีความเข้าใจผิดไปบ้าง ก็มีคนใส่อารมณ์โทรมาบ้าง เราก็รอฟังว่าสุดท้ายแล้วเขาต้องการอะไร พยายามเป็นผู้ฟังที่ดี แต่ไปในอนาคตก็จะมีการเปลี่ยนมาเป็นโทรศัพท์ออนไลน์ ถือเป็นความท้าทาย ที่ต้องเรียนรู้ใหม่ เพราะการรับผ่านคอมพิวเตอร์ไม่เหมือนกับการรับผ่านโทรศัพท์ แต่ก็พร้อมที่จะทำงาน และพัฒนาศักยภาพของตัวเอง”

ผู้ตรวจคัดกรองเอกสารขอรับเบี้ยยังชีพ

ทศพล พื้นแสน หรือ พล อาสาสมัครผู้พิการ ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตภาษีเจริญ เขามีหน้าที่ตรวจเอกสารคำร้องขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นหลัก ตั้งแต่เช้ามาก็จะรวบรวมเอกสารที่มีผู้นำมายื่น มาตรวจสอบความเรียบร้อย อาจจะใช้เวลาช้าเนื่องจากเขามีภาวะการมองเห็นแคบ มองเห็นได้เพียงเฉพาะจุด แต่ไม่เป็นอุปสรรคเพราะงานไม่ต้องใช้ความรวดเร็วมาก เท่ากับความละเอียดของความถูกต้อง

“ชื่อผู้ลงทะเบียน บัตรประชาชน ถูกต้องตรงกันหรือไม่ ต้องตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวว่าเป็นผู้ที่มีสิทธิ์จะได้รับเบี้ยหรือไม่ เช่น วันเดือนปีเกิดจะต้องเกิดก่อนเดือนพฤศจิกายน ปี 2507 ถึงจะสามารถยื่นลงทะเบียนขอรับได้ และเมื่อดำเนินเอกสารแล้ว จะได้รับเงินในเดือนถัดไป หรือพูดอีกอย่างคืออายุ 60 ปีขึ้นไป โดยที่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมด้วยว่า ไม่ได้เป็นรับบำนาญ ถ้าเกิดมีการรับบำเหน็จก็ต้องดูว่าเข้าข่ายที่จะรับได้หรือไม่ เป็นประชาชนที่อยู่ในเขตเดียวกันกับที่อยู่ใน ทะเบียนบ้านหากพบข้อผิดพลาดก็จะต้องประสานผู้ร่วมงานให้ติดตามแจ้งประชาชนให้เข้ามาแก้ไขในส่วนนั้น เพราะหากเอกสารไม่สมบูรณ์จะไม่สามารถดำเนินการอนุมัติได้”

พลมองว่า กฎหมายกำหนดให้มีการจ้างงานคนพิการอยู่แล้ว (ม.33 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) คือ ต้องมีการจ้างงานคนพิการ 1 คน ต่อแรงงานทั่วไป 100 คน แต่นอกเหนือจากนั้น คนพิการควรจะมีรายได้ที่สมควรกับวุฒิการศึกษา และบทบาทหน้าที่ในการทำงานที่เหมาะสมกับความสามารถของคนพิการด้วย

“เช่น ถ้าพิการทางสายตา แต่ให้ไปรับโทรศัพท์ก็อาจจะมองไม่เห็น ส่วนคนพิการทางการได้ยิน ก็อาจจะผิดเพี้ยนไปในเรื่องการสื่อความหมาย จึงจำเป็นที่หน่วยงานจะต้องเข้าใจและให้งานที่เหมาะสมกับบริบทของคนพิการ  สำหรับการทำงานที่สำนักงานเขตภาษีเจริญ มีความสะดวกในการเดินทางเนื่องจากอยู่ใกล้บ้าน กระบวนการทำงานช่วยฝึกทักษะของตัวเองให้มากขึ้น แต่เรื่องความมั่นคงยังเป็นสัญญาจ้างรายปี ส่วนสวัสดิการ มีเรื่องการหักเงินเข้าประกันสังคมให้ ทำงานจันทร์ถึงศุกร์ หยุดเสาร์อาทิตย์และวันนักขัตฤษ์ หากต้องการหยุดในวันทำงาน ก็จะถูกหักเงิน ดังนั้นจึงต้องพยายามรักษามาตรฐานของตัวเองและทำงานให้ดี เพื่อที่ให้เขาจ้างต่อ”

เจ้าหน้าที่รับลงทะเบียนทั่วไป

ประภาวัลย์ เมฆประสาท หรือ ดา อาสาสมัครผู้พิการ ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตภาษีเจริญ เล่าว่า บทบาทหน้าที่คือ รับผิดชอบการลงทะเบียนคนพิการ และให้บริการประชาชนเมื่อมาติดต่อสำนักงานเขตภาษีเจริญ และเป็นรุ่นพี่ที่คอยช่วยสนับสนุนการทำงานของน้องๆ ผู้พิการทางสายตาคนอื่นๆ เธอเล่าว่าเจ้าหน้าที่เพื่อนร่วมงานที่สำนักงานเขตภาษีเจริญดีกับเธอมาก ทำให้มีความสบายใจในการทำงาน ดังนั้นจึงไม่อยากย้ายที่ทำงาน แม้ว่าต้องเดินทางไกล จากที่พักในเขตลาดกระบังก็ตาม 

“การเดินทางมาทำงานในแต่ละวัน ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตีห้ามาขึ้นรถไฟฟ้าต่อสองสาย เพื่อให้มาถึงทันแปดโมงเช้า บนรถไฟฟ้าจะมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้วีลแชร์ และมีทางลาดเหมาะสม ส่วนถนนหนทางจากสถานีมายังสำนักงานเขตก็ไม่มีอุปสรรคอะไรมาก อาจจะมีบางจุดที่ทางเท้าขรุขระ แต่เห็นว่าเขาพยายมจะปรับปรุงอยู่ ส่วนพื้นที่ของสำนักงานเขตก็ปรับให้มีทางลาดเพื่อให้วีลแชร์เดินทางโดยสะดวก บางจุดจะชันไปนิดนึง แต่เนื่องจากวีลแชร์เราเป็นระบบไฟฟ้าก็ไม่ได้มีปัญหา และเข้าใจว่าเนื้อที่มีจำกัด สำหรับตัวเองไม่ลำบาก”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้