ดิไอคอน ภาพสะท้อน “ปัญหาคอร์รัปชัน” อุปสรรคใหญ่ที่รัฐไทยไม่ใส่ใจแก้ไข (?)

ประเด็นร้อนแรงในสังคมช่วงนี้ที่สั่นสะเทือนไปหลายวงการทั้ง วงการสื่อ วงการขายของออนไลน์ หรือแม้แต่วงการการเมือง ก็คงจะไม่พ้น “ดิไอคอนกรุ๊ป (The iCon GROUP)”ธุรกิจขายตรงที่ (อาจ) เป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่จากการเน้นหาคนมาร่วมลงทุนและขายคอร์สการตลาดออนไลน์ (ที่สามารถหาเรียนได้เอง) มากกว่าการขายและกระจายสินค้าตามที่องค์กรได้ขายฝันไว้ให้เหล่าพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย นับเป็นผู้เสียหายกว่า 5,649 ราย รวมมูลค่ากว่า 1,611 ล้านบาท (ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2567)

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (Department of Special Investigation) หรือ ดีเอสไอ (DSI) เคยจัดทำการวิจัยเกี่ยวกับกรณีแชร์ลูกโซ่ และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งพบว่าจำนวนผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ที่ปรากฏมีเพียง 1 ใน 5 ของความเป็นจริงเท่านั้น เช่น ถ้าผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความมี 10,000 คน ในความเป็นจริงอาจมีผู้เสียหายถึง 50,000 คน โดยเป็นผลมาจากความอาย กลัวเสียชื่อเสียง กลัวสังคมและครอบครัวจะรู้

โครงสร้างสังคมที่อ่อนแอ สู่การดำรงอยู่ของธุรกิจแชร์ลูกโซ่

เหตุการณ์ “ดิไอคอนกรุ๊ป (The iCon GROUP)” จึงกลายเป็นปัญหาที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนและระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพราะความเสียหายทั้งหมดเกิดขึ้นจากการหลอกลวงที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายผ่านสื่อต่าง ๆ ที่นำไปสู่การถูกหลอกให้ลงทุนในระบบที่ไม่มีความยั่งยืน จากความหวังของคนชั้นกลางและคนจนที่มองหาทางออกของการเติบโต ก็กลายเป็นเป็นเพียงการเสริมสร้างฐานะของผู้ที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจเท่านั้น และเมื่อมองย้อนกลับไปก็อาจเห็นได้ว่าดิไอคอนกรุ๊ป (The iCon GROUP) ไม่ใช่องค์กรแรกทำงานแบบนี้ แต่ทำไม “ธุรกิจขายตรงที่ (อาจ) เป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่” ยังคงเกิดขึ้นและหลอกคนได้อยู่เสมอ ?

คำตอบคงไม่พ้น “โครงสร้างทางสังคมที่อ่อนแอ” ทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เปิดโอกาสให้คนจนและคนชั้นกลางสามารถเติบโตได้ ทำให้พวกเขามองหาโอกาสที่ดูง่ายและรวดเร็วในการเติบโตเพื่อหลุดพ้นความยากจน และโครงสร้างทางการศึกษาของประเทศไทยที่ยังคงขาดหลักสูตรการศึกษาที่มุ่งเน้นให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์จึงส่งผลมาให้ประชาชนในปัจจุบันอาจไม่ได้ตระหนักถึงความเสี่ยงหรือพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนการลงทุน ทั้งนี้กฎหมายและระเบียบที่มีอยู่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมธุรกิจแชร์ลูกโซ่ยังไม่มีการนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่ “การดำรงอยู่ของธุรกิจแชร์ลูกโซ่” ที่ยังคงดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่อาจถูกมองข้ามไปคือ “กฎหมายที่มีอย่างครอบคลุมแต่ไม่ได้ใช้จริง” ที่ทำให้ผู้เสียหายจำนวนมากไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐแม้ว่าจะมีข้อร้องเรียนที่ชัดเจน เพราะกระบวนการทางการกฎหมายที่ส่อแววทุจริตและเอื้อผลประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับธุรกิจแชร์ลูกโซ่ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลในครั้งนี้ข้องเกี่ยวกับ “การทุจริตคอร์รัปชัน”

อย่างกรณี “จ่ายส่วยเทวดา ร่ายคาถาคุ้มครอง” ที่พบว่ามีการจ่ายส่วยและการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ตำรวจและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่ที่ใช้ตำแหน่งและอำนาจในทางที่ผิด และหน่วยงานรัฐที่ควรจะตรวจสอบและคุ้มครองประชาชนกลับเพิกเฉยจนกว่าปัญหาจะลุกลามเป็นข่าวโด่งดัง จึงเกิดเป็นการ “โกงยกกำลังสอง” ที่ผู้กระทำผิดได้เงินจากการโกงประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐเองอาจได้รับประโยชน์จากการรับส่วย จึงทำให้ขบวนการแชร์ลูกโซ่ขยายตัวและสร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางที่ถึงแม้ว่าจะถูกจับกุมแต่ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ

ช่องว่างของกฎหมายและอำนาจที่ทับซ้อน

ทั้งหมดนี้จะสามารถเห็นได้ว่า “ความเสียหายจาก ‘ดิไอคอนกรุ๊ป (The iCon GROUP)’” ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของกฎหมายและหน่วยงานรัฐ ที่ต่างหน่วยงานต่างก็กฎ ต่างระเบียบและนโยบาย แต่อยู่ภายใต้อำนาจที่ทับซ้อนซึ่งกันและกัน เพราะในครั้งนี้มีการกล่าวถึงหน่วยงานรัฐมากมาย เช่น (1) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) (2) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) (3) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) (4) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) (5) หน่วยงานอื่น ๆ เช่น กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงพาณิชย์ คณะกรรมาธิการในรัฐสภา กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.)

ทั้งนี้ยังมีการกล่าวถึงกฎหมายจำนวนมาก เช่น พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกฎหมายฉบับอื่นๆ อีก เช่น พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งล้วนแล้วแต่มีช่องโหว่ด้านบทลงโทษและการกำหนดโทษ ตลอดจนการใช้งาน อีกทั้งยังขาดความเชื่อมโยงกัน และหากต้องการจะร้องเรียนประชาชนก็จะต้องทำความเข้าใจเองก่อนเข้าไปขอความช่วยเหลือ จึงกลายเป็นว่าประชาชนต้องรู้หน้าที่และขอบเขตอำนาจของทุกหน่วยงานเสียเอง แต่เมื่อสิ้นไร้ไม้ตอกประชาชนก็จำเป็นต้องพึ่งพาสื่อมวลชนและผู้อาสา พร้อมสะท้อนภาพของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐที่ไม่สนใจใยดีในความทุกข์ร้อนของประชาชนจนกว่าปัญหาจะลุกลามเป็นข่าวดัง

ดิไอคอนกรุ๊ป (The iCon Group) จึงสะท้อนภาพของ “ปัญหาคอร์รัปชัน” ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ที่รัฐไทยไม่ใส่ใจแก้ไข (?) จากการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ดุลยพินิจอย่างฉ้อฉลและไร้ความรับผิดชอบ ภายใต้ระบบที่ไร้การตรวจสอบเพื่อถ่วงดุล พร้อมรับความร่วมมือจากนักการเมืองในการวางแผนงาน ที่ถึงแม้ว่าเรื่องจะถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ และมีการตรวจสอบจากสื่อมวลชนหรือหน่วยงานภายนอก แต่การสืบสวนมักจบลงด้วยการตั้งกรรมการที่ขาดความเป็นอิสระและมักที่ใช้คนกันเอง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดรอดพ้นจากการลงโทษหรือถูกลงโทษเบาบาง ซึ่งการบิดเบือนกฎเกณฑ์เหล่านี้ เรียกได้ว่าเป็น “วงจรอุบาทว์จากการบิดเบือนกติกาของกฎหมาย (Rule of Law)” ซึ่งทำให้ระบบยุติธรรมในสังคมอ่อนแอ จากการที่รัฐไม่สามารถจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างจริงจัง และทำให้ผู้ที่กระทำผิดมีโอกาสที่จะหลุดรอดจากความรับผิดชอบ ขณะเดียวกันประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อก็ไม่ได้รับการคุ้มครองหรือชดเชยอย่างเหมาะสม กลายเป็นการผลักภาระให้ผู้ที่ไม่มีทางต่อสู้ในระบบที่ไม่เท่าเทียม

 

สำรวจโมเดลต่างชาติ ลดโอกาสประชาชนตกเป็นเหยื่อฉ้อโกง

ดังนั้นรัฐไทยจึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างทันที ซึ่งอาจเริ่มจากการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกันที่มีอยู่ในต่างประเทศ อย่างการป้องกันการขายตรง การค้าผูกขาด และการเอาเปรียบผู้บริโภคในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ถูกควบคุมโดยหน่วยงานอิสระอย่างคณะกรรมการการค้าแห่งรัฐ (Fair Trade Commission) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำการละเมิดกฎหมายการค้าที่ไม่เป็นธรรม และต่อต้านการผูกขาดและการค้าทางอ้อมที่ไม่เป็นธรรม เช่น การใช้โครงสร้างธุรกิจในลักษณะแชร์ลูกโซ่

โดยหากรัฐไทยมีหน่วยงานคล้ายกับ Fair Trade Commission ที่มีอำนาจเป็นอิสระ การตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำผิดจะรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญคือการทำงานของหน่วยงานนี้จะรวมศูนย์การร้องเรียนไว้ในที่เดียว ทำให้ผู้บริโภคสามารถทราบได้อย่างชัดเจนว่าต้องไปที่ไหนเพื่อร้องเรียนและสามารถตรวจสอบความคืบหน้าได้อย่างโปร่งใส ทั้งนี้การปรับใช้แนวทางดังกล่าวในประเทศไทยควรเริ่มจากการจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบที่มีอำนาจอิสระและมีระบบการทำงานแบบรวมศูนย์ที่ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความซับซ้อนระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความซ้ำซ้อนในปัจจุบัน ซึ่งอาจช่วยให้ประชาชนสามารถพึ่งพากฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดโอกาสที่ประชาชนจะตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงหรือการค้าที่ไม่เป็นธรรม

ดังนั้น “เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน” ก็อาจต้องให้รัฐไทยเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการ “สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem)” หรือการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างทางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการทำงานแบบเป็นระบบจะช่วยสร้างความเชื่อมโยงที่ดีระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ และสร้างแรงกดดันให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานของรัฐ โดยภาครัฐจะต้องจริงจังในการทำงานและโปร่งใสในทุกกระบวนการ โดยจะต้องปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบให้เข้าถึงง่ายและสามารถตรวจสอบได้ เช่น การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การตรวจสอบมีความแม่นยำและโปร่งใสมากขึ้น อย่าง ACT Ai (actai.co) ที่ภาคประชาชนสามารถใช้เพื่อเข้าร่วมตรวจสอบการกระทำที่ส่อแววทุจริตได้ ทำให้การตรวจสอบเป็นกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อกัน

ตลอดจนการพัฒนากฎหมายที่ครอบคลุมและเข้มงวดขึ้นในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค การมีมาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวดจะช่วยลดปัญหาการค้าผูกขาด การหลอกลวง หรือการขายตรงที่เอาเปรียบประชาชน เนื่องจากกฎหมายจะเป็นเครื่องมือในการจัดการผู้กระทำผิดและปกป้องผู้บริโภคจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ ไปจนถึงภาคการศึกษาที่จะต้องพัฒนาหลักสูตรให้ครอบคลุมถึงการสร้างทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical Thinking) ให้ตั้งแต่เด็ก เพื่อเป็นการปลูกฝังให้ประชาชนมีความสามารถในการแยกแยะข้อมูลข่าวสารและมีทักษะในการตัดสินใจบนพื้นฐานของเหตุผล ดังนั้น การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนจะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน พร้อมทั้งการยกระดับโครงสร้างทางกฎหมาย การศึกษาและเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในสังคม เพราะถึงแม้ว่าเหล่าบอสในเครือดิไอคอนจะถูกจับกุมแล้ว แต่ความเสียหายของผู้เสียหายหลายพันรายที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาทก็ยังคงไม่ได้รับการเยียวยา ดังนั้นการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างควบคู่ไปกับการดำเนินการกับผู้กระทำผิดทางกฎหมายอาจเป็นแนวทางที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า 


อ้างอิง