“ขวาจัด” เป็นคำนิยามที่มักได้ยินเมื่อพูดถึง “สถาบันทิศทางไทย” ที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งเมื่อปลายปี 2562 โดยเฉพาะเมื่อมองเห็นตัวบุคคลผู้ก่อตั้งหลายคน ที่มีความคิดในแนวทาง “อนุรักษ์นิยม” ไม่ว่าจะ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม หรือ รศ.สุวินัย ภรณวลัย ที่แสดงความเห็นผ่านสาธารณะอย่างต่อเนื่อง
ช่วงเวลาที่เห็นความขัดแย้งชัดเจน ระหว่าง “คนรุ่นใหม่” กับ “คนรุ่นเก่า” สถาบันทิศทางไทย ถูกมองว่าพยายามปกป้องคนรุ่นเก่า มากกว่าทำความเข้าใจความคิดของคนรุ่นใหม่
The Active คุยความคิดกับ “เวทิน ชาติกุล” ผู้อำนวยการสถาบันทิศทางไทย เพื่อฟังคำตอบว่า อะไรคือแนวคิดที่แท้จริงของสถาบันทิศทางไทย และมุมมองที่มีต่อ “ข้อเรียกร้อง” ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน
เน้นเสนอชุดความคิดและสื่อสารทุกช่วงวัย
เวทิน บอกว่า สถาบันทิศทางไทย ก่อกำเนิดขึ้นมาจากความคิดที่ว่าสังคมไทยควรจะมีหลักคิด หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองที่พลิกผันไป จากการก้าวขึ้นมามีบทบาทอย่างชัดเจนของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งชูธงทางด้านความคิดและอุดมการณ์ชุดหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วสังคมยังมีความคิดอีกหลายด้าน จึงเป็นที่มาของการตั้งสถาบันทิศทางไทยขึ้น เพื่อเสนอชุดความคิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปในทิศทางที่คิดว่าถูกต้อง
“ตอนที่เปิดตัวสถาบันครั้งแรก ก็ถูกโจมตีว่าเป็นขวาจัด จะมาปลุกให้เกิดการปะทะกัน แต่ต้องบอกว่า สถาบันไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังหรือการปะทะกัน แต่ถ้าเป็นการสู้กันทางความคิด อันนี้คิดว่าต้องทำกันให้เต็มที่”
แต่การจะเปลี่ยนประเทศไทยไปในทิศทางที่ถูกต้อง ต้องรู้ก่อนว่าอะไรคือปัจจัยที่คุมได้และคุมไม่ได้ เช่น ปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อม สถานการณ์โควิด-19 บทบาทของสหรัฐอเมริกาในเวทีการเมืองโลก ไปจนถึงการปล่อยให้ทุนข้ามชาติเข้ามาครอบกลืนสังคม
“เราคิดว่า คนที่จะนำพาประเทศไทย เช่น คนที่อายุ 35 อีก 30 ปีก็อายุ 60 อยู่ในวัยที่กำลังจะมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของสังคมจำเป็นต้องรู้เรื่องนี้ เช่น คุณจำเป็นต้องรู้ว่าอีก 30 ปี ประชากรโลกเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเรื่องที่ดินทำกิน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร”
ผู้อำนวยการสถาบันทิศทางไทย อธิบายว่า กลุ่มที่ต้องการจะสื่อสารด้วย กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่คิดว่าประเทศไทยควรจะเดินไปในลักษณะที่เราควรจะกำหนดทิศทางของเราเอง โดยไม่ได้มีจุดสนใจว่าต้องอายุเท่าไหร่ ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นมายาคติอย่างหนึ่งว่าถ้าจะสื่อเรื่องอนาคตก็ต้องสื่อไปที่คนรุ่นใหม่ เช่น อายุ 35 ลงไป เท่านั้น
“เราไม่ได้รังเกียจ จริง ๆ แล้วมีคนอายุน้อยหลายคนเข้ามาคุยที่สถาบัน อาจจะมีจำนวนน้อยกว่าฝั่งที่กำลังเคลื่อนไหว แต่ก็มี ไม่ใช่ไม่มี ดังนั้น เรื่องอายุมากหรือน้อยจึงไม่ใช่ประเด็น แต่เป็นเรื่องที่ว่าต่อไปประเทศจะอยู่ในมือของเขา จะเอาอาวุธทางความคิดอะไรที่จะผลักดันประเทศให้ไปด้วยสัมมาทิฐิ”
โลกกำลังเปลี่ยน จะอยู่กันอย่างไร คนรุ่นใหม่ต้องมีคำตอบ
เขาบอกว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะที่โลกต้อง Reset ตัวเองใหม่เกือบทั้งระบบ ภาวะที่เรียกว่า Globalization จะถูกลดทอนลง เพราะแม้โควิด-19 จะคลี่คลายลงแล้ว แต่คนก็ยังรู้สึกว่ามีอะไรที่ต้องระวังอยู่ จะ Connect หรือเดินทางเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว โดยทิศทางของประเทศไทยหลังจากนี้ ก็จะถูกกำหนดให้เติบโตภายใต้ข้อกำจัดของภูมิรัฐศาสตร์ในพื้นถิ่น
“ต้องคิดใหม่ เมื่อก่อน GDP ประเทศเราต้องพึ่งการส่งออก มันต้องเปลี่ยนหรือเปล่า หรือจริง ๆ แล้วควรหันมาทำให้เรื่องภาคอาหารหรือภาคการเกษตรแข็งแรงก่อนไหม เพื่อให้แข็งแรงเลี้ยงดูคนในภูมิภาคตัวเองได้หากเกิดภัยพิบัติหรือโควิด ซึ่งเป็นแนวทางที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พูดมาตลอด”
เวทิน ยืนยันว่าไม่ว่าฝ่ายไหนก็ต้องคิดเรื่องนี้ โลกหลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร โลกของดิจิทัลที่กำลังจะผลิตคนลงไปอยู่ในระบบที่จะครอบงำการใช้ชีวิตของเราทุกมิติ จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตในโลกแบบนั้นในอีก 30 ปีข้างหน้าอย่างไร
“คนรุ่นพวกเขาต้องให้คำตอบกับตัวเอง ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสมการนั้นหรือไม่ แต่คุณก็ต้องมีคำตอบกับตัวเองให้ได้”
“แนวคิดทางการเมือง” ภายใต้ความสมดุลของข้อมูล
การที่คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาแสดงความเห็นหรือจุดยืนทางการเมืองต่อเรื่องที่ละเอียดอ่อนในสังคมไทยมากขนาดนี้ เขาเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการมีแนวคิดทางการเมืองไม่ว่าแบบใด เป็นเรื่องดีกว่าไม่มี แต่ต้องระวังอันตรายของมัน เพราะอาจลืมไปว่าคนเราจะถูกครอบงำความคิดได้
“ถ้าย้อนไปปี 2516-2519 ก็คือปรากฏการณ์เดียวกัน พอถึงปี 2523 เราก็พบว่าวิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นในพรรคคอมมิวนิสต์ เขาก็พบเจอด้วยตัวเขาเอง ว่าสิ่งที่เป็นความคิดทางการเมือง มันสามารถที่จะหักหลังเขาได้ แล้วนำไปสู่ความเจ็บปวดรวดร้าวอย่างรุนแรงในชีวิต เพราะสังคมที่เราฝัน มันกลับไม่ได้เป็นจริงอย่างที่เราฝัน”
เวทิน ย้ำว่า ไม่ว่าจะสมาทานความคิดแบบไหน ที่สำคัญคือต้องเท่าทัน และรู้ว่าความจริงคืออะไร สถาบันทิศทางไทย พยายามจะบอกว่า ให้มองชีวิต มองโลก อย่างที่มันเป็น แล้วค่อยสำรวจว่าโลกความคิดของเราจะผสมเข้ากันได้แบบไหน ที่จะทำให้สังคมพัฒนาไปได้แบบสร้างสรรค์ ไม่ใช่กลายเป็นการทำลายล้างสังคม แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องพยายามให้เกิดสมดุลข้อมูลจากทุกฝ่าย
ตอบไม่ได้ว่าจะจบอย่างไร แต่ต้อง “ช่วยกันประคับประคอง”
ส่วนสถานการณ์นี้จะจบอย่างไร เขาตอบไม่ได้ แต่สำคัญคืออยากให้จบแบบที่ไม่มีการสูญเสีย แม้ในระยะหลังมีความพยายามที่จะเปิดช่องเจรจา หรือการตั้งคณะกรรมการเพื่อการสมานฉันท์ แต่ถ้าประเมินจากความเป็นจริง คิดว่า ทั้งข้อเรียกร้องหรือจุดยืนของฝ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหว มันเกินไปกว่าที่จะใช้รัฐสภา หรือใช้วิธีการทางการเมืองมาแก้ได้ หรือถ้าแก้ได้ก็ไม่สะเด็ดน้ำ
“ส่วนฝั่งที่แสดงตนว่าไม่เอาด้วยกับการต่อต้าน พวกนี้ก็จะชัดเจน แล้วทั้งสองฝั่งก็ไม่ปรองดองกับข้อเสนอแบบการเมือง คือ สมการมันก็ยุ่ง ไม่รู้ว่าจะไปอย่างไร สมมตินายกฯ ลาออกแล้วจะจบไหม ก็คิดว่าไม่จบ เพราะข้อเรียกร้องไม่ได้จบที่นายกฯ หรือแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่จบ เพราะอีกฝั่งต้องดันไปที่จุดที่เขาต้องการ คือ หมวดพระมหากษัตริย์”
ส่วน สถาบันทิศทางไทย จะเข้าร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ด้วยหรือไม่ เวทิน มองว่ายังไม่ใช่ประเด็น โดยย้ำว่า ต้องตั้งโจทย์ให้ถูกต้องเสียก่อน ต้องเข้าใจว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคืออะไร ทำไมฝั่งที่ออกมาเรียกร้องถึงมีข้อเรียกร้องหรือแสดงจุดยืนแบบนี้ ไม่อย่างนั้นสมานฉันท์ไม่ได้
“ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า มีคนรุ่นใหม่ 2 ล้านคน ลุกขึ้นมาต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นได้ง่ายแค่วันสองวัน แต่ผ่านการอบรมบ่มเพาะสั่งสมความคิดและฐานมวลชนระดับหนึ่ง และเมื่อเกิดแบบนี้ขึ้นมาแล้ว จะทำให้จบในวันสองวันก็ไม่ได้เหมือนกัน ต้องค่อย ๆ ทำกันไป”
เขาเห็นว่า หากจะทำให้ข้อเสนอของฝั่งผู้ชุมนุมเป็นไปได้ ต้องยอมลดข้อ 3 ลง (ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์) เพราะเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ตอบรับกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยในขณะนี้ ซึ่งถ้าผู้ชุมนุมยังยืนกรานไม่ถอยข้อนี้ ก็จะมีคนอีกกลุ่มออกมาต้านมากขึ้นเรื่อย ๆ และยิ่งทำให้ไม่มีทางออกทางอื่น ที่สำคัญ คือ ไม่ว่าจะเลือกทำแบบไหน ก็ต้องมีความรับผิดชอบ ต้องกล้าออกมายืนยันว่าถ้าทำผิดก็รับผิด เพื่อช่วยกันประคับประคองไม่ให้สถานการณ์เกินเลยไปในจุดที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
“ต้องช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้นำไปสู่จุดที่เราไม่อยากให้เกิด โดยเฉพาะการประคับประคองความรู้สึกของคนที่เรารัก ลูก พ่อ แม่ อย่าให้ความรู้สึกของการแบ่งข้าง ความรู้สึกรังเกียจในเรื่องอะไรก็ไม่รู้ ทำลายความสัมพันธ์หรือชีวิต ซึ่งจริง ๆ แล้ว เราต้องอยู่กับครอบครัวไปยาวนานกว่าเหตุการณ์นี้”
นี่คือสิ่งที่เขากล่าวทิ้งทาย…