เยาวชนกับการพัฒนาเมือง : ศิลปะบำบัดชุมชนเมือง
เราไม่ได้ต้องการคำตอบที่ตายตัวอย่างสูตรคณิตศาสตร์ แต่เราตั้งคำถามเพื่อชวนผู้อ่านเปิดมุมมอง บทบาทของศิลปะในอีกแง่มุม ส่วนคำถามที่ว่า “ศิลปะบำบัดชุมชน หรือพื้นที่ได้จริงหรือ?”
หนึ่งคนที่ยืนยันคำตอบอย่างชัดเจนกับเรา คือ ตังเมย์ วรรณิกา ธุสาวุฒิ แกนนำเยาวชนเครือข่ายบางกอกนี้ดีจัง คำตอบที่ได้ ไม่อิงทฤษฎีใด ๆ แต่อิงจากประสบการณ์การทำงานจริง เพราะเธอเป็นหนึ่งในเยาวชนเมืองที่ใช้ศิลปะทำงานกับพื้นที่ชุมชนเมือง จากพื้นที่สีแดงเป็นพื้นที่ยิ้มแฉ่ง ภายใต้คำใหญ่ ๆ ในสังคม คือ ศิลปะ พื้นที่ ชุมชนเมือง และการพัฒนาเมือง ซึ่งในที่นี้จะใช้กรุงเทพฯ เป็นภาพแทนความหมายของ “เมือง” อะไรทำให้เธอมีพลัง และความเชื่อว่าการทำงานศิลปะฟื้นฟูชีวิตได้
เราเจอกับ “ตังเมย์” พร้อมใบหน้าสดใส และเสียงเจื้อยแจ้ว บริเวณทางเข้าชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กทม. ซึ่งตลอดแนวกำแพงสีขาวถูกแต่งเติมด้วยศิลปะที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตเดิมของผู้คนในชุมชนนี้ ก่อนที่การพัฒนาจะมาทำลาย จนเหลือเพียงภาพวาดบนกำแพง
สวัสดีค่ะ ชื่อ วรรณิกา ธุสาวุฒิ เป็นแกนนำเยาวชนเครือข่ายบางกอกนี้ดีจัง ทำงานเกี่ยวกับเรื่องของพื้นที่ชุมชน และก็ทำเกี่ยวกับแกนนำเยาวชน ผลักดันให้เขาเป็นแกนนำเพื่อให้เขาแสดงศักยภาพบางอย่างที่มีในตัวเขาออกมา เพื่อดึงศักยาพนั้นออกมาทำงานบางอย่างให้กับชุมชน นี่คือการแนะนำตัวของ “ตังเมย์” ก่อนเริ่มบทสนทนา
เมืองในฝัน
โห (หัวเราะ) ยากจัง หนูไม่รู้นะว่าคนอื่นคิดอย่างไร แต่ถ้าสำหรับหนูเมืองในฝันคง ง่าย ๆ พื้นฐานเลย รถเมล์มาตรงเวลา เรือมาตรงเวลา สวัสดิการเข้าถึงทุกคนไม่ว่าเขาคนนั้นจะมีทะเบียนบ้านอยู่ในนั้นหรือไม่ มีสวัสดิการของเด็ก การศึกษา มันควรที่จะดีได้กว่านี้ การที่เราอยากจะมีพื้นที่สักที่หนึ่ง การอยากแสดงออกทางความคิดมันควรดีกว่านี้ ยกตัวอย่าง พื้นที่สาธารณะ แต่พอเราต้องใช้จริงๆ จะต้องขอนะ ต้องแจ้ง ต้องทำหนังสือ ถ้าเกิดเราเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตโดนจับนะ โดนไล่นะ อะไรแบบนี้แล้วเด็ก หรือชุมชนเองจะเข้าถึงได้ไหมละ
บางพื้นที่ถึงกลับไล่รื้อชุมชนเพื่อทำพื้นที่สาธารณะ ถามจริงๆเลยว่าพอเป็นพื้นที่สาธารณะมีการใช้พื้นที่ ใช้ประโยชน์จริงไหม หรือแม้แต่เรื่องที่หนูพูดมาตลอดคือพื้นที่ศิลปะที่มีในปัจจุบันหลายๆพื้นที่ ไม่มีชีวิตเพราะอะไร ไปไล่รื้อชุมชนทำเป็นพื้นที่สาธารณะ แล้วก็มีป้ายอะไรก็ไม่รู้ เขียนว่าห้ามดึงห้ามจับ จากที่มันต้องเป็นพื้นที่สาธารณะ ให้ชุมชนรอบๆได้ใช้ประโยชน์จริงๆ มันควรมีวิถีชีวิต วัฒนธรรม และกระตุ้นเศษฐกิจเขาได้ ไม่ใช่ไล่รื้อ ไล่ถอนเขาแล้วตั้งเป็นพื้นที่สาธารณะทั้งหมด
นิยามกรุงเทพฯ
กรุงเทพฯ สำหรับหนูก็คงเป็นชุมชนสักที่หนึ่งที่ไม่รู้ว่าคือที่ไหน แต่รู้ว่ามันคือชุมชนกรุงเทพมหานคร ที่ประกอบไปด้วยพหุสังคม พหุวัฒนธรรม และคนอีกมากมายที่ต่างมีความหวังและความฝัน เช้าไปทำงานค่ำมาก็พักผ่อนอาศัย แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ล้วนต้องทำให้ชีวิตผู้คนเหล่านี้ดีขึ้นเพราะแน่นอนว่าพวกเขาเดินทางจากบ้านมาไกล จากต่างจังหวัดเขามาที่นี่ล้วนแบกรับความหวังหมด ฉะนั้นสถานที่แห่งนี้มันก็ต้องมีอะไรที่ดีสำหรับเขา เป็นที่แห่งความหวัง และตอบโจทย์ให้เขาได้ทุกอย่าง
กรุงเทพฯ ในความเป็นจริง
ความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้นเพราะมันยังมีค่าครองชีพที่สูง รถโดยสารสาธารณะมาไม่ตรงเวลา หรือสวัสดิการต่างๆ เข้าไม่ถึง คนที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพ หมายถึงทั้งคนที่มีทะเบียนบ้านและไม่มีทะเบียนบ้านใน กทม. แม้หลายคนจะอยู่มานานเป็น สิบ ยี่สิบปี แต่ยังเข้าไม่ถึงรัฐสวัสดิการ หรือแม้แต่การเลือกตั้งเขาก็ไม่มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ทุกอย่างมันดูย้อนแย้งกันไปหมด มันก็ไม่ได้ตอบโจทย์ไปกับทุกกลุ่ม ของคนที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ
นิยามกรุงเทพฯ จากสิ่งที่เห็นจริง
ถ้าความเป็นจริงมันก็ยังคงเป็นเมืองที่เด็กหลาย ๆ คน ถูกทอดทิ้ง ซึ่งหนูพูดประโยคนี้มาหลายครั้ง เพราะว่าในหลายพื้นที่เด็กถูกทอดทิ้งจริง ๆ ไม่ใช่ว่าเด็กในความหมายเด็ก แต่หมายถึงทรัพยากรมนุษย์ และรวมไปถึงพื้นที่ ก็เช่นกันที่ถูกทอดทิ้ง ไม่มีชีวิต แม้จะมีคน มีการอาศัย แต่เมื่อมันไม่ได้มีการหมุนเวียนมากพอ
มันไม่ได้ถูกให้ความสำคัญไม่เกิดการพูดคุยในเรื่องของพื้นที่สังคม และเด็ก ซึ่งมันควรจะมีการพูดคุยเพื่อขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการถกเถียงและแก้ปัญหา เพื่อทำให้พื้นที่มีชีวิต ชีวา ให้ใครก็ได้เป็นเจ้าของ ไม่ใช่เพียงแค่คนกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง แต่คือคนทุกคนในชุมชน หรือเด็กเองก็สามารถเป็นเจ้าของพื้นที่ได้
หนูเลยรู้สึกว่า บางที กรุงเทพฯ มันก็ไม่ได้มีความเท่าเทียม และเชื่อว่าทุกคนก็น่าจะเห็นเหมือนหนูว่ากรุงเทพฯ มันเป็นเมืองของความเหลื่อมล้ำอย่างมากที่เห็นชัดเจนอยู่แล้วแน่นอน
หรือแค่บางพื้นที่ข้ามสะพานไปก็เจริญ อีกพื้นที่ข้ามสะพานเป็นชุมชนแออัด รวมไปด้วยอะไรบ้างก็ไม่รู้ มันย้อนแย้งไปหมดกับทุกๆนิยามที่เคยมีกันมา
การพัฒนากรุงเทพฯ ส่งผลอะไรกับชุมชนเมือง
ขณะที่เราเดินเข้าไปในชุมชน เพื่อหาที่นั่งพูดคุย ตังเมย์ เล่าประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา
เราเคยเดินลงไปในชุมชน เอ่ยถามว่า “เป็นอย่างไรบ้างคะ?” ด้วยคำทักทายง่าย ๆ แต่คำตอบที่ได้กลับมา สะท้อนปัญหาความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน
“ทุกวันนี้โดนไล่ออกมาหมดเลย อยู่ไม่ได้เลย”
“แล้วมันก็มีประโยคหนึ่งที่หนู่ได้ยินจากคนในชุมชน ด้วยอารมณ์โกรธและเศร้าที่ทับซ้อนกัน”
“เมืองกำลังเจริญ ซิวิไลซ์แต่ชุมชนกำลังวิบัติ”
ซึ่งมันก็มีภาพสะท้อนให้เราเห็นจริง ๆ ว่า เมื่อไรก็ตามที่มันกำลังมีสิ่งก่อสร้างใหญ่ขึ้นมาบริเวณนั้น ชุมชนรอบข้างจะถูกไล่รื้อ
ขณะที่ตังเมย์เอง ซึ่งเป็นเยาวชนที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ ก็สะท้อนว่า การพัฒนาเช่นนี้ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ เมื่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนกระจุกตัว ขณะที่ชุมชนรอบข้างไม่ถูกเหลียวแล
จะเป็นไปได้ไหมหากการสร้างบางอย่างขึ้นมาพร้อมกับรักษา อะไรบางอย่างรอบข้าง มันจะดีกว่าไหม ถ้า สองอย่างมันไปด้วยกันได้ ทำให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีทั้ง สองอย่างพร้อมกับการกระจายเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่ และกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่นั้นด้วย เป็นคำถามกลับของตังเมย์
ศิลปะสำคัญกับเมืองอย่างไร
เมืองศิลปะสำหรับหนูก็คงไม่ใช่เมืองที่มีแค่รูปปั้นหรือรูปวาดแต่เป็นเมืองที่ต้องมีทั้งศิลปะและวัฒนธรรมที่สามารถคงอยู่ได้ด้วยไม่ว่าจะเป็นตัวเด็กหรือเยาวชน
เมืองศิลปะบางทีมีการพัฒนาอะไรบางอย่างที่มันทำให้สังคมหรือชุมชนนั้นยังอยู่ได้ และคงเป็นเมืองที่เราเอาทั้งวัฒนธรรมดั้งเดิม แล้วก็อะไรใหม่ๆ มาผสมกันทำให้มันเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ยังคงอยู่ในอนาคตได้อีก
หลายคนมักจะมองว่า มันสวยมันสามารถที่จะถ่ายรูปได้ แต่ว่าสำหรับหนูมันเป็นหนึ่งสิ่งที่ใช้บำบัดพื้นที่ อย่างชุมชนวัดโพธิ์เรียง จากพื้นที่สีแดงเป็นพื้นที่ยิ้มแฉ่ง บางคนมีไม่กล้าจะทำอะไร ก็ใช้ศิลปะในการบอกเล่าเรื่องราวที่อยู่ข้างในใจออกมา อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ศิลปะ สามารถที่จะบอกเล่าเรื่องราวของเมืองนั้น ชักจูงจนเกิดกระบวนการบางอย่างขึ้นมาได้ อย่างกระตุ้นเศษฐกิจและศักยภาพของคนในชุมชนได้
อุปสรรคการทำงาน
เป็นเรื่องกลไกภาพรวม ในหลายพื้นที่เขาไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ด้วยเงื่อนไขเรื่องงบประมาณและอำนาจ มันมีหลาย ๆ ชุมชนที่เราลงทำงานแล้วเห็นปัญหา เราเลยรู้สึกว่าชุมชนเหล่านี้มีความต้องการของเขาอยู่แล้ว เขาอยากจะพัฒนาชุมชนเขาอยู่แล้ว แต่แน่นอนว่าเงิน ก็เป็นเรื่องสำคัญ อำนาจที่เขาจะทำก็เป็นสิ่งสำคัญ พอมันไม่มีทุกอย่างก็จบ เพราะชุมชนก็ไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนมันได้เลย ไม่ได้มีการส่งเสริมให้มันดีขึ้นกว่าเดิม
ล้ม เรียนรู้ เข้าใจ
เราเข้าใจชุมชน เข้าใจคน เราใช้ความเข้าใจในการพัฒนา เข้าใจบริบท เข้าใจมุมมองความคิดของเขา มันทำให้เราเกิดประกายความคิดบางอย่างขึ้นมามากขึ้น เราเอามันมาคุยกับพี่ในทีมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง การทำงานที่ผ่านมามันคือการทำงานของคน 2 รุ่นที่ทำงานร่วมกันได้ เราไม่ได้บอกว่าถ้ารุ่นเราทำจะต้องไม่เอาเค้าโครงเดิมเลย หรือว่ารุ่นก่อนหน้าที่ทำที่เป็นรุ่นใหญ่อย่างเดียวก็ไม่ใช่ แต่ต้องเป็นการทำงานร่วมกัน เราใช้หลักการนี้มาตลอด เลยทำให้งานของเราไม่ค่อยติดขัด เพราะเราใช้ความเข้าใจเพื่อทำงานร่วมกัน
ฝากเสียงเยาวชนถึงคนที่โตกว่า
อยากให้คนข้างนอกได้มองเห็นเด็กที่เข้มข้นมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันศักยภาพ การไม่ทิ้งเด็กไว้ข้างหลัง เราควรที่จะหาพื้นที่ให้เขาได้กล้าแสดงออกและมีพื้นที่ให้เขาได้ทำกิจกรรมได้มากกว่านี้ พื้นที่สาธารณะจะต้องเป็นพื้นที่สาธารณะจริงๆ ที่ให้เด็กได้แสดงออก ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะที่พอพวกเขาแสดงออกก็ต้องถูกขัดขวาง ถูกขับไล่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าทำไมฉันจะต้องถูกตีกรอบด้วยอะไรแบบนี้ก็เลยอยากฝากผู้ที่มีอำนาจหรือผู้ใหญ่ ว่าอย่าทอดทิ้งเด็ก อย่าลืมเด็กแล้วก็ขอพื้นที่ให้กับเด็ก ๆ ที่จะมาเป็นผู้ใหญ่ด้วยค่ะ
ทิ้งท้ายการสนทนา
เราก็ยังเห็นปัญหาอีกหลายอย่าง และหลายพื้นที่จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา เหมือนพื้นที่ช่วงหัวลำโพงที่เราเคยมีโอกาสได้ไปเดิน ซึ่งสะท้อนได้ชัดเจนว่า มันมีอะไรดีขึ้น แต่มันก็มีอะไรบางอย่างที่กำลังจะถูกทำลายลงเหมือนกัน
ที่สำคัญที่นั่นมีพื้นที่ศิลปะตามกำแพง แต่เหมือนไม่ได้รับการหวงแหนเพราะเขารู้สึกว่า มันไม่ใช่พื้นที่ของเขา
ความตลกร้ายที่เจอคือ บางทีมี ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ หรือ ส.ก.ไปติดป้ายหาเสียงโดยที่เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนในชุมชนนั้น ไม่มีสิทธิเลือกเขา เพราะไม่มีทะเบียนบ้าน กทม. มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า เขาไม่รู้ หรือเขาไม่ได้ศึกษาเลยว่าคนในพื้นที่นั้นมีสิทธิหรือไม่
อยากให้ผู้มีอำนาจ กำหนดนโยบาย หรือผู้มีอำนาจในการจัดสรรพื้นที่ลองมาเดินชุมชนสักชุมชนหนึ่ง แล้วคุณจะเห็นปัญหาของกรุงเทพฯ ทั้งหมดเลย ไม่ใช่แค่ท่อ ไม่ใช่แค่ทางเท้า แต่เป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนทั้งหมดว่า มันมีความหลากหลายและความเหลื่อมล้ำอยู่ และแน่นอนว่าพอเรามาทำงานแบบนี้ก็จะมีหลายคนพยายามบอกว่าเราลงไปมากกว่านี้ไหมเราจะได้รู้
แล้วมันใช่หน้าที่ของเราไหม? (คำถามของตังเมย์ที่ตอบกลับทันควันหลังจากบทสนทนานั้น)
ก็จริงว่าที่เราทำ เราอยากเห็นสังคมและอะไรมันดีขึ้น แต่มันก็ต้องย้อนกลับไปถามนะว่า หน้าที่นี้มันของใคร ใครที่รับผิดชอบกันแน่ และพอย้อนกลับไปเราจะเห็นว่า ใครที่มีทั้งนโยบาย มีทั้งงบประมาณ มีอำนาจซึ่งสามารถทำอะไรบางอย่างให้เราได้
อย่าเพิ่งทำหรือสร้างอะไรทั้งที่ยังไม่ได้ถามความต้องการของชุมชน ถามเขาสักหน่อยว่าพวกเขาต้องการหรือเปล่า หรือแม้แต่พื้นที่รกร้างใต้ทางด่วน ไม่ใช่พื้นที่จอดรถที่รกร้างได้ไหมละ เป็นพื้นที่ให้เด็กได้เปิดวงคุยหรือเล่นกันได้หรือเปล่า
เราไม่ได้อยากให้คุณมองเราว่าเป็นปัญหา เราอยากให้คุณมองเราว่าเป็นเพื่อนร่วมงานได้ไหม ที่คุณป็นเจ้าภาพใหญ่ ของกรุงเทพฯ หรือของประเทศ แต่ให้เราเป็นเพื่อนร่วมงานเล็กๆ ที่ช่วยส่งเสียงไปหาคุณ ว่าแต่ละชุมชนมีปัญหา แล้วคุณกระจายอำนาจ ส่งเงินสนับสนุน ลงมาหาพวกเรา
พื้นที่สำคัญหมดอยู่ที่ว่า เราจะรักษาและปรับปรุงมันอย่างไร อย่าให้พื้นที่ ที่สร้างมาเป็นพื้นที่รกร้าง แล้วสร้างใหม่ก็ยังรกร้าง อยากให้เป็นพื้นที่มีชีวิต ชุมชน อยู่ร่วมได้ ทำให้เด็กมีส่วนร่วม มีสิทธิเสรีภาพได้หรือเปล่า ไม่อยากให้มองการปรับปรุงกรุงเทพฯ เป็นแค่มวลใหญ่ ลองเจาะดูกลุ่มย่อ เพราะอาจทำให้เห็นปัญหาที่มากกว่านั้น