ท่ามกลางความคาดหวัง ให้ช่วงเวลาพิเศษเนื่องใน ‘เดือนรอมฎอน’ ปีนี้ เป็นจุดเริ่มนำไปสู่การแสวงหาหนทางลดความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ตรงกันข้ามเจ้าหน้าที่ยังคงมีปฏิบัติการปะทะ ปิดล้อม และวิสามัญ ผู้ถูกออกหมายจับคดีความมั่นคงเกิดขึ้น
บรรยากาศแบบนี้ จะสวนทางกับความพยายามสร้างสันติภาพ โดยอาศัยบทบาท ‘การเมือง’ นำ ‘การทหาร’ หรือไม่ ? อาจเป็นโจทย์ใหญ่ที่ ‘คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร’ (กมธ.สันติภาพชายแดนใต้) ต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้น
เพื่อตีโจทย์สำคัญที่นอกเหนือไปจากโต๊ะเจรจา จะทำอย่างไร ? ให้มองภาพกว้าง ครบทุกมิติ เพื่อทำให้สันติภาพเกิดความยั่งยืนมากที่สุด โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้เสียงของความเห็นต่างได้ถูกรับฟัง
ยังมีอะไร ? เป็นข้อท้าทายบทบาทกรรมาธิการฯ ชวนค้นหาคำตอบกับ ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ ประธาน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ กับระยะเวลาที่เหลืออีกไม่ถึง 4 เดือนนับจากนี้ ข้อเสนอการสร้างสันติภาพอย่างที่ทุกคนใฝ่ฝัน จะมีหน้าตาอย่างไร ?