“Lay Off Old Buffalo”
.
ประโยคเดียวจากปากนายทุนต่างชาติ แม้ดูไม่ได้เป็นเหตุเป็นผล แต่คำ ๆ นี้ ก็ทำให้แรงงานนับพันชีวิต ในโรงงานสิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้ายักษ์ใหญ่ ถูกเลิกจ้าง เมื่อปี 2538
.
ไม่ใช่แค่คำดูถูก ถากถาง ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่การเลิกจ้างครั้งนั้นยังถูกตั้งคำถามเรื่องเงินชดเชยเยียวยา ที่ถูกมองว่าไม่เป็นธรรม เป็นแรงผลักให้ ลูกจ้างลุกขึ้นสู้ เพื่อต่อรองกับนายจ้าง การแสดงออกว่าพวกเขาไม่ยอมจำนน ทำให้ระยะเวลา 1 ปีของการต่อสู้เห็นผล แรงงานได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสมตามข้อเรียกร้อง และนำมาสู่การปรับแก้เงื่อนไขกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ของกระทรวงแรงงาน ที่ใช้มาจนทุกวันนี้
.
30 ปีผ่านไป สถานการณ์เลิกจ้าง ยังคงมีอยู่ และดูเหมือนบทเรียนจากในอดีตไม่เคยถูกทำให้แรงงานรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการปกป้อง ด้วยหลักประกันการทำงานที่มากพอ ภาพการปิดโรงงาน นายทุนหอบกำไรหนีไป ทิ้งให้แรงงานเรียกร้องค่าชดเชยที่เป็นธรรมกับภาครัฐด้วยตัวเอง ยังคงมีให้เห็นมาตลอดไม่ต่างจากในอดีต . ต้อนรับ “วันแรงงานแห่งชาติ” ปีนี้ The Active ชวนมองหาทางออก การทำให้แรงงานมีหลังพิง ด้วยข้อเรียกร้อง “กองทุนประกันความเสี่ยง” ผ่านมุมมองของ “เยาวภา ดอนเส” อดีตแรงงานที่เคยถูกเลิกจ้าง ในฐานะของนักขับเคลื่อนเพื่อสิทธิแรงงาน
.
30 ปีผ่านไป จากที่เคยต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในวันนั้น พอจะมีความหวังบ้างไหม ? เพื่อไม่ให้คำว่า “เลิกจ้าง” มาประหารชีวิตแรงงาน และทั้งครอบครัวของพวกเขาได้อีก