9 แนวปฏิบัติ กรณีกักตัวกลุ่มคนจำนวนมาก หลังกลับจากเขตโรคติดต่ออันตราย COVID-19

ชัดเจนแล้วว่า แนวทางในการกักตัวแรงงานไทยนอกระบบที่เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ จะเป็นไปตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ขณะที่ประชาชนหรือผู้เดินทางมาจากเขตติดโรคติดต่ออันตราย “โควิด 19” ก็เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ขณะนี้กำหนดไว้ 4 ประเทศ 6 พื้นที่ คือ เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง มาเก๊า อิตาลี และอิหร่าน

ก่อนหน้านี้ ภาพของแรงงานไทยนอกระบบ ที่เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ ก่อนวันที่ 8 มีนาคม ที่ไม่ได้กักตัวเอง หรือ self-quarantine ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ ภาครัฐจึงมีการออกประกาศ ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติหลายฉบับ เพื่อเป็นแนวทางกักตัวกลุ่มแรงงานเหล่านี้

เป็นที่รับรู้ว่า รัฐบาลไทย ได้จัดเตรียมสถานที่รองรับแรงงานไทยนอกระบบฯ ไว้ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ระยอง โดยรับไว้แล้วจำนวน 188 คน มีการจัดเตรียมสถานที่ไว้เป็นอย่างดี ไม่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ

แต่กรณีผู้เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ ที่เป็นแรงงานถูกกฎหมาย และผู้เดินทางทั่วไป เมื่อผ่านการคัดกรองที่ท่าอากาศยานแล้ว มีการแจ้งว่าได้จัดรถเพื่อส่งตัวไปแยกกักในจังหวัดภูมิลำเนา แต่กลับมีการเปิดเผยจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ระบุว่าเดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ แต่ไม่ได้ถูกส่งตัวกลับภูมิลำเนา กลับส่งไปที่ จ.บุรีรัมย์ และเป็นสถานที่ที่ไม่มีความพร้อม โดยมีการชี้แจงจากผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ในภายหลังว่า เป็นความผิดพลาดตั้งแต่จุดคัดกรองที่ท่าอากาศยาน ที่ส่งประชาชนที่มีภูมิลำเนาจังหวัดอื่นมาที่ จ.บุรีรัมย์ ด้วย ทำให้สถานที่ที่จัดเตรียมไว้ไม่เพียงพอ และอยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อหาทางแก้ไข

หากย้อนดู หลักเกณฑ์ลักษณะสถานที่กักกันเพื่อสังเกตอาการ กรณีผู้เดินทางจำนวนมาก จัดทำโดย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะพบว่า มีการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการจัดเตรียมสถานที่ไว้โดยละเอียด

โดยให้เกณฑ์การแยกกักไว้ 4 ประเภท คือ ผู้ป่วย PUI (Patients Under Investigation) ที่ต้องแยกกักในสถานพยาบาล, ผู้ป่วย PUI ที่ต้องแยกกักนอกสถานพยาบาลในห้องแยกเดี่ยว, ผู้ป่วยมีอาการแต่ไม่เข้า PUI ที่ต้องแยกกักนอกสถานพยาบาลในห้องแยกเดี่ยว, และผู้ไม่แสดงอาการ ที่ต้องแยกกักนอกสถานพยาบาลในห้องแยก โดยกรมควบคุมโรคกำหนดให้อยู่รวมกันไม่เกิน 4 คนต่อห้อง

กรมควบคุมโรค ยังได้กำหนดระเบียบปฏิบัติการอยู่ในสถานที่กักกัน เพื่อสังเกตการณ์เริ่มป่วย 9 ข้อ ด้วยกัน เช่น ห้ามออกนอกสถานที่, ห้ามพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อไวรัส เช่น บ้วนน้ำลาย เสมหะ สั่งน้ำมูกลงพื้น, ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทุกวัน, ล้างมือฟอกสบู่ หรือ ทิ้งขยะมูลฝอยทุกชิ้นในถังขยะติดเชื้อ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังระบุว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด อาจปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดพื้นที่แยกสังเกตอาการในผู้สัมผัสโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา เป็นอย่างอื่น ตามความเหมาะสมของพื้นที่

แต่ก่อนจะไปถึง 9 แนวปฏิบัติสำหรับผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงตามหลักเกณฑ์นี้ รัฐอาจต้องมีการจัดเตรียมสถานที่ที่มีความพร้อมและเหมาะสม ตามที่กรมควบคุมโรคแนะนำเสียก่อน หากจะยังใช้ระบบกักตัวแบบ State quarantine

📌 ดูเพิ่ม
– หลักเกณฑ์ลักษณะสถานที่กักกันเพื่อสังเกตการเริ่มป่วย (Quarantine) : https://bit.ly/2IB5rlE

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active