ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ปีนี้ ไทยต้องเจอกับวิกฤตน้ำท่วมในเวลาเดียวกัน บางจังหวัดจึงกลายเป็นพื้นที่วิกฤตซ้ำซ้อน ที่ทำให้มาตรการควบคุมการระบาดจำเป็นต้องหย่อนยานลง
อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำป่าสักล้นตลิ่งจนถูกน้ำท่วมในรอบ 10 ปี ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ระบาดที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งมีผู้ติดเชื้อสะสมจนถึงวันนี้กว่า 2,000 คน
The Active ได้พบกับหญิงคนหนึ่ง ซึ่งหลังสามีติดเชื้อ โควิด-19 จากที่ทำงาน เธอและลูกก็ติดเชื้อตาม ในบ้านมีเพียงแม่ของเธอเท่านั้นที่ยังไม่ติดเชื้อ จึงต้องแยกบริเวณกันอย่างชัดเจน แต่ผ่านไปแค่ 5 วัน บ้านก็เริ่มถูกน้ำท่วมสูง ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้ยังคงรักษาระยะห่างกับคนอื่น ขณะเดียวกันก็เกือบถูกตัดขาดจากโลกภายนอก แม้จะยังพอสื่อสารกับแพทย์ได้ผ่านโลกออนไลน์
ติดโรคแล้วก็มาเจอน้ำ ช่วยอะไรคนในบ้านไม่ได้ ได้แต่โทรหาแม่ว่า น้ำท่วมถึงไหนแล้ว มันก็แย่ ไหนจะกลัวว่าเชื้อเราจะกระจาย
หญิงคนนี้บอกอีกว่า รู้สึกเครียด และยอมรับว่าน้ำท่วมทำให้จำเป็นต้องออกไปข้างนอก ก็กลัวสายตาคนอื่นมองอย่างรังเกียจ
พูดตามตรงเลยว่าเราไม่อยากให้เขามองว่าผลเป็นบวกแล้วทำไมถึงออกมา ถามว่ามันจำเป็นมั้ย มันจำเป็นต้องออกไป เราขับมอเตอร์ไซค์ตรงไปอย่างเดียวไม่แวะไหน
นอกจากหญิงคนนี้แล้ว ที่ อ.ท่าเรือ ยังมีผู้ที่รักษาตัวอยู่ที่บ้านอีก 2 คนและอยู่ในโรงพยาบาลสนามอีกกว่า 60 คน ในช่วงการระบาดที่หนักที่สุดเมื่อเดือนสิงหาคม ที่นี่พบผู้ติดเชื้อถึงวันละ 50 คน
ปัจจุบันการระบาดอยู่ในช่วงขาลง พบผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 2-3 คน แต่ นายชโลม โปลิตานนท์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าเรือ ยังไม่วางใจกับสถานการณ์โควิด-19 และกังวลตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังน้ำลด เพราะการเข้าถึงการตรวจเชิงรุกในช่วงน้ำท่วมทำได้ยากลำบาก และมาตรการส่วนบุคคลที่อาจจำเป็นต้องหย่อนยานลง
เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เมื่อพบผู้ติดเชื้อ เราพยายามขอร้องให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนาม ซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคได้ดีกว่า และเวลานี้ยังมีศักยภาพรองรับได้อีกกว่า 200 เตียง
จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งใน 29 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ พื้นที่สีแดงเข้ม ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ วันที่ 11 ต.ค. 64 จำนวน 121 คน และยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน ขณะที่ยอดการฉีดวัคซีนครอบคลุมแล้วร้อยละ 59
นอกจาก จ.พระนครศรีอยุธยา มีอีก 5 จังหวัด ในพื้นที่สีแดงเข้มที่ก็กำลังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม อย่าง จ.นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี สระบุรี และอ่างทอง ซึ่งก็ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ตั้งแต่หลักสิบถึงหลักร้อย ขณะที่การฉีดวัคซีนของทั้ง 5 จังหวัดนี้มีเพียง จ.ปทุมธานี และนนทบุรี ที่ฉีดเกินร้อยละ 50 แล้ว
แพทย์หญิงศิริอร เทียนฤกษ์ นายแพทย์ชำนาญการ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลท่าเรือ ยอมรับว่าสถานการณ์น้ำท่วมอาจทำให้เกิดการระบาดได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการตรวจเชิงรุกที่ประชาชนไม่สามารถเดินทางไปยังจุดตรวจได้ เพราะต้องยุ่งอยู่กับการเก็บของหรือบริหารจัดการชีวิตทำกลางน้ำท่วม
มันควบคุมการระบาดยากขึ้นเพราะว่าเราไม่สามารถแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนได้อย่างเด็ดขาด ในพื้นที่ยังมีคนที่กักตัวรักษาอยู่บ้าน (Home Isolation) เขาก็อาจต้องช่วยคนที่บ้านขนของหนีน้ำ มันห้ามไม่ได้แบบ 100% คนในบ้านก็เพิ่มความเสี่ยงในการติดโควิด-19 ยอดผู้ติดเชื้อในพื้นที่คงมีเพิ่มขึ้นแน่
ขณะที่ การฉีดวัคซีนซึ่งโรงพยาบาลยังคงมีความพร้อมไม่ถูกน้ำท่วม แต่ปัญหาวัคซีนยังเป็นปัญหาเดิมคือการจัดสรรไม่เพียงพอ นางเจษฎา ศรีงาม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลท่าเรือ บอกว่าดำเนินการตามนโยบายตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 2564 ที่ปูพรมฉีด 7 กลุ่มโรค ปัจจุบันเริ่มฉีดให้บุคคลทั่วไปทั้งที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมและไม่ได้ลงทะเบียน ซึ่งอำเภอท่าเรือฉีดไปได้แล้วร้อยละ 70 ล่าสุดก็เริ่มฉีดให้กับนักเรียนตามจำนวนวัคซีนที่จัดสรรมา แต่ขณะนี้วัคซีนยังมีน้อย จึงยังเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถฉีดเข็มสองและเข็มสามได้ครอบคลุมอย่างทั่วถึงได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูแนวโน้มการระบาดตั้งแต่วันที่ 1-11 ต.ค. 2564 จังหวัดที่ถูกน้ำท่วมเหล่านี้จะยังมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลงอยู่ แต่ว่าน้ำท่วมซ้ำซ้อนแบบนี้ ก็ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาดกังวลไม่น้อยว่า จะเป็นปัจจัยให้สถานการณ์ระบาดรุนแรงขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อไทยกำลังเตรียมเปิดประเทศ 1 พ.ย. นี้